เมียนมา การเปลี่ยนผ่านสู่ โครงสร้างและพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…เมียนมาปัจจุบันต้องปกครองอย่างมี Rule of Law ต้องมี Transparency…

…เมียนมาตอนนี้มีพรรคการเมืองตั้ง 90 พรรคการเมือง เมียนมามีพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยด้วย พรรคการเมืองของกลุ่มโกกังหรือ Kokang (กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เข้มแข็งที่สุดและอยู่ในเขตแดนส่วนที่ติดชายแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน-ขยายความโดยผู้เขียน) ไง…”

คำกล่าวของ ฯพณฯ ทุลา ฉวย หมาน (Thura U Shwe Mann) อดีตประธานรัฐสภาเมียนมา 19 พฤศจิกายน 2016

คำกล่าวของ ฯพณฯ ทุลา ฉวย หมาน อดีตประธานรัฐสภาคราวที่รับเชิญมาเป็นองค์ปาฐก การประชุมนานาชาติ เรื่อง Democracy in 21st Century Asia : Promise and Challenge ที่เมืองยางโกง (Yangon) เมืองท่าสำคัญของเมียนมาในปัจจุบันสำหรับผมระบุว่าชี้ให้เห็นแนวโน้ม โอกาส ความหวัง แต่ก็เตือนให้ผมต้องย้อนกลับไปดูโครงสร้างการเมืองเมียนมาในสถาบันการเมือง (political institution) บางสถาบัน เช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบันคือพรรค National League of Democracy-NLD แล้วไตร่ตรองว่า Rule of Law, Transparency ที่อดีตประธานรัฐสภาเมียนมา กล่าวอย่างฉะฉานในวันนั้นอยู่ในบริบทอะไร สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเป็นวาทกรรมหนึ่งของนักการเมืองคนหนึ่งที่พูดต่อหน้าสาธารณะและสื่อมวลชนมากหลายในวันนั้นหรือไม่

ซึ่งผมและใครๆ ก็ได้ยินจนคุ้นชินแห่งวาทกรรมของนักการเมืองไม่ว่าชาติไหนประเทศไหน

 

อย่างไรก็ตาม นับว่าการประชุมนานาชาติในช่วง 2 วันที่ยางโกง เมียนมาครั้งนี้ นับว่าเป็นการประชุมนานาชาติที่เป็นเรื่องการเมืองภายในที่ทั้งอ่อนไหว ตรงไปตรงมาและกล้ามากสำหรับทั้งคนจัดคือ อาจารย์ที่ Center for Southeast Asian Studies, มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น วิทยากรเช่นผม คนไทยตัวเล็กๆ คนหนึ่ง รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมาจาก 11 ประเทศทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสเปน

การประชุมทั้งสองวันนั้น นำเสนอโดยองค์ปาฐกที่เป็นอดีตนายพลทหารบกยศพลเอกระดับที่ได้รับเหรียญชั้นวีรบุรุษ ของเมียนมา เป็นนักการเมืองชั้นแนวหน้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในเมียนมาและนานาชาติ กล่าวได้ว่า ท่านเป็นบุรุษอันดับ 3 ของเมียนมาในทางเศรษฐกิจและการเมืองเลยทีเดียว

ผู้จัดกระซิบบอกผมเป็นการส่วนตัวว่า จะพูดอะไรเกี่ยวกับเมียนมาก็พูดมาเลย ร่มเงาของท่านอดีตประธานรัฐสภาเมียนมาพอคุ้มครองผมได้ (ซึ่งอาจจะจริง ผมกลับออกมาได้อย่างปลอดภัยทั้งที่มีเจ้าหน้าที่รัฐของเมียนมาเข้าฟัง บันทึกเสียง ถ่ายรูปเป็นพรวน)

แต่อาจจะไม่จริงก็ได้ ถ้าผมกลับเข้าไปประเทศนี้อีกครั้งในวันข้างหน้า

มีการประท้วงโดยคนเมียนมากลุ่มต่างๆ มากมาย ทั้งผู้ใช้แรงงาน นักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชาวบ้านและชนกลุ่มน้อยที่ถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย

เดิมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการก่อสร้างของรัฐ เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ การลงทุนทำเหมืองแร่ที่กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ ราคาน้ำมันที่แพงโดยไม่มีเหตุผล ราคาอาหารและของอุปโภคที่แพงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การประท้วงของสื่อมวลชนที่มักเป็นคู่กัดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการประท้วงของพระที่สนใจและเป็นพลังหลักในทางการเมืองของเมียนมามาตั้งแต่ครั้งอดีต

 

อันหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นฐานรากสำคัญของระบบการเมืองในเมียนมาคือ สถาบันรัฐสภา (parliament) ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดที่อังกฤษทิ้งไว้อย่างไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยและการใช้ภาษาอังกฤษด้วย

รัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองแม้ในยามที่เมียนมาตกอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของอังกฤษ หรือในยุคเมียนมาปิดประเทศและใช้ระบบการบริหารที่เรียกว่า Burmese Way to Socialism ซึ่งเป็นเหตุในเมียนมาปิดประเทศ ปกครองโดยนายพลและทหารกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ปี 1962 หรือแม้จะปกครองด้วยการรัฐประหารของผู้นำทหารและไม่มีพรรคการเมืองเลย แม้แต่พรรคของนายทหาร

ผมได้เห็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นรัฐสภา แม้แต่จะเป็นรัฐสภาของเมืองยางโกง อันเป็นรัฐสภาของท้องถิ่นซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองเมียนมา แต่รัฐสภานั้นก็ยังอยู่ ใหญ่โต และ function ซึ่งผมขอใช้คำไทยว่า ยังดำเนินการไปได้ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบบ (regime) อะไร ดังรูปที่ผมถ่ายมา รัฐสภายางโกงใหญ่โตมาก สวยงามและทรงพลังทางการเมืองให้กับการทำงานการเมืองของสมาชิกรัฐสภา

ยางโกงซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 111 ท่าน เลขเด็ดนี้บอกแก่เราว่า มีคนเป็นปากเป็นเสียงของประชาชน ดูแลงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน แม้จะปกครองด้วยระบบเผด็จการสังคมนิยม

นอกจากใหญ่โตและงดงามด้วยการสร้างตั้งแต่เริ่มต้นด้วยไม้สักทั้งอาคารและภายในห้องประชุมแล้ว

thumbnail_img_2490

หากดูรูปที่ผมถ่ายมา เป็นรูปปั้น เทพเจ้าผู้หญิง ซึ่งสร้างตั้งแต่ยุคอาณานิคม รูปปั้นนั้นคนเมียนมาบอกกับผมเบาๆ ว่า “เป็นเทพแห่งความหวัง” ท่านหันหน้าตรงไปที่มหาเจดีย์ชเวดากอง อันศักดิ์สิทธิ์

ผมคิดว่า โครงสร้างและพฤติกรรมทางการเมืองเชิงโครงสร้างประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในเมียนมา หากแต่มีการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและโลกภายนอกที่ล้อมเมียนมามาโดยตลอดครับ

คราวหน้ายังมีต่ออีกมากครับ