เจาะชีวิต “อรรถพล ใหญ่สว่าง” จาก “เด็กวัด” สู่ “อัยการสูงสุด-ประธาน ก.อ.”

หากกล่าวถึงชื่อ “อรรถพล ใหญ่สว่าง” หรือ “พี่ใหญ่” ในแวดวงของนักกฎหมายคงรู้จักกันเป็นอย่างดี

เพราะเขาคือผู้ได้คะแนนถล่มทลายถึง 1,810 คะแนน จากบัตรลงคะแนน 3,061 ใบ ที่อัยการทั่วประเทศเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) คนแรกในประวัติศาสตร์ตามกฎหมายใหม่ จากเดิมอัยการสูงสุดจะนั่งควบเก้าอี้นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าอรรถพลเป็นอดีตอัยการสูงสุดคนที่ 11 อยู่ในแวดวงของอัยการมานานกว่า 40 ปี แต่กลับไม่ปรากฏประวัติหรือบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวของเขามากนัก

ทีมข่าวมติชนทีวีจึงติดต่อขอสัมภาษณ์พี่ใหญ่ถึงชีวิตวัยเด็กและชีวิตส่วนตัว โดยได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เป็นที่แรก

อรรถพลเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2493 ปัจจุบันอายุย่าง 69 ปี เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพี่น้องรวม 4 คน เขาเป็นลูกคนสุดท้อง มีปู่ชื่อ “บำรุง ใหญ่สว่าง” เป็นกำนันในพื้นที่ ซึ่งปู่ก็หมายมั่นปั้นมือให้หลานชายผู้นี้เจริญรอยตามเป็นกำนัน

แต่ญาติๆ อยากให้อรรถพลเรียนสูงๆ จึงส่งเขามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพ่อและแม่ที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง

“พ่อของผมเรียนจบชั้น ป.4 แต่เป็นคนมีฝีมือด้านไฟฟ้า ประปา ก่อสร้าง และเขียนหนังสือสวยมาก จึงไปทำงานที่เทศบาลแห่งหนึ่ง ส่วนแม่ผมเป็นคุณครูอยู่โรงเรียนประเสริฐวิทยา แต่มีลูกตั้ง 4 คน แม่ก็เลยตัดสินใจลาออกจากอาชีพครู มาเป็นแม่ค้าขายข้าวแกง” อดีตอัยการสูงสุดเล่า

แม้ว่าพ่อและแม่จะมีงานทำแล้ว แต่การใช้ชีวิตในเมืองหลวงมีค่าครองชีพสูง ครอบครัวจึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่าย เพื่อเก็บเงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูกๆ

ประธาน ก.อ.เปิดเผยว่า ถึงครอบครัวตนจะไม่ได้ยากจน แต่ก็มีพื้นฐานเป็นชาวไร่ชาวนา การส่งเสียลูกๆ ทั้ง 4 คนให้เรียนหนังสือไปพร้อมๆ กันจึงเป็นเรื่องที่หนักเอาการ

“ตอนนั้นพ่อตั้งตัวด้วยเงินเพียง 80 บาท และหารายได้เสริมด้วยการไปขับรถแท็กซี่ ส่วนผมถูกส่งไปเป็นเด็กวัด โดยไปอยู่กับท่านเจ้าคุณทอง [พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร)] ที่วัดเบญจมบพิตรฯ และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร”

อรรถพลย้อนรำลึกว่า ตลอด 1 ปีที่เป็นเด็กวัดได้ถูกอบรมบ่มนิสัยหลายอย่าง แต่ตนเองก็ยังเกเรไปตามประสาเด็ก มีวีรกรรมหลายเรื่อง

เช่น เก็บผลไม้ในวัดกินจนเกลี้ยง ทั้งลูกตะขบ ลูกจัน หรือลูกสารภี และยังช่วยตกแต่งกิ่งมะขามบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลอยู่เป็นประจำ ด้วยการขว้างรองเท้าเก็บฝักมะขาม จนเพื่อนๆ เรียกว่า “พี่อ๊อด” ซึ่งเป็นชื่อเล่นจริงๆ ของตนเอง และมีความหมายว่าเป็นหัวหน้าแก๊ง

“ผมติดนิสัยการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งจากการเป็นเด็กวัด นั่นก็คือการกินอาหาร ผมเป็นคนกินอาหารเร็วมาก จนหลายคนถามว่าได้เคี้ยวบ้างไหม เพราะตอนเป็นเด็กวัดหากกินช้าเมื่อไหร่เพื่อนๆ จะกินกันหมด”

นอกจากเรื่องกินเร็วแล้ว อรรถพลยังชอบทำอาหาร เพราะแม่เปิดร้านขายข้าวแกง ทำให้รู้สูตรการทำอาหารเกือบทุกชนิด

แต่ที่ชอบทำมากที่สุดคือแกงเขียวหวานยอดมะพร้าวและผัดไทย ซึ่งมักทำให้คนรู้จักรับประทานเสมอ ส่วนใหญ่จะชมว่าอร่อยมาก แต่ถ้าเพื่อนสนิทมาชิมก็อาจจะไม่ชมเท่าไหร่

หลังเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น อรรถพลได้ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แต่สอบติดเพียงข้อเขียน ทำให้ไม่ได้เป็นทหาร จึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัย 2 คณะ คือคณะแพทยศาสตร์และคณะนิติศาสตร์

ก่อนสอบติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2511 โดยมีแรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเรียนกฎหมายมาจาก “ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์” ซึ่งเป็นบิดาของเพื่อนนักเรียนสมัยสาธิตจุฬาฯ

“ผมมีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่โด่งดังมาก นั่นก็คือศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นบุคคลที่ช่วยพวกเรา ท่านจะเปิดติวเสมอ เราก็ไปรับฟังจากท่าน แล้วมีบางครั้งในตอนติวปี 2 เราก็ตอบได้ดี ท่านก็ห้ามเล่นๆ ไม่ให้ตัวผมเข้าฟัง เพราะอ่านหนังสือเองได้”

อดีตอัยการสูงสุดเล่าว่า ขณะเรียนหนังสือทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายได้ดี จึงได้เหรียญเกียรตินิยมดี (เหรียญเงิน) คะแนนเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ และหากทำคะแนนเกิน 85 เปอร์เซ็นต์ จะได้เหรียญเกียรตินิยมดีมาก ซึ่งเป็นเหรียญทองคำแท้น้ำหนัก 5 บาท

แต่ช่วงนั้นตนเองติดจีบสาวซึ่งเป็นรุ่นน้องและเป็นดาวมหาวิทยาลัย ประกอบกับเล่นกีฬาบริดจ์ (Bridge) ชนะเลิศกีฬามหาวิทยาลัย 2 ปีซ้อนจนได้เสื้อสามารถ เลยทำให้ได้เหรียญเงินเท่านั้น

ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีที่ไม่ได้เหรียญทอง เพราะทุกวันนี้ยังรักษาเหรียญเรียนดีไว้ได้ครบทั้ง 4 เหรียญ หากเป็นเหรียญทองคำแท้ ไม่รู้จะยังอยู่หรือไม่

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี อรรถพลได้เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ความตั้งใจสูงสุดอยากเป็นผู้พิพากษา แต่อายุไม่ถึงเกณฑ์สอบ (25 ปี) ในวันที่เปิดรับสมัครผู้พิพากษา จึงมาสอบอัยการ (คุณสมบัติขณะนั้น 23 ปี) และเหมือนชะตาชีวิตลิขิตให้ทำอาชีพอัยการมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ประธาน ก.อ.กล่าวว่า นอกจากความรู้ความสามารถ สิ่งสำคัญในการทำงานคือ “ความใส่ใจ” และยึดถือคติ “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” กรรมอาจไม่ส่งผลทันที แต่เชื่อเสมอว่าใครที่ทำชั่วย่อมไม่ได้ผลดีแน่นอน แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

อรรถพลยังแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายมายาวนานว่า อยากให้อัยการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ใช่กลางน้ำเหมือนปัจจุบัน เพื่อร่วมสอบสวน ฟ้องร้อง และดำเนินคดีในศาล เชื่อว่าจะทำให้เกิดความรัดกุม เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

ส่วนคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยครั้งว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” อรรถพลเห็นว่าประโยคนี้เกิดจากมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น หากเกิดคดีอุบัติเหตุแล้วมีการบรรเทาความเสียหายให้คู่กรณี ก็อาจได้รับการลดหย่อนหรือรอการลงอาญาไม่ต้องติดคุก

แต่หลายคนกลับไปมองในแง่ของการวิ่งเต้นคดี ซึ่งเรื่องนี้อัยการได้มีการพูดคุย และมีการเสนอนโยบายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา

อรรถพลยังถือเป็นบุคคลที่มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก พร้อมเล่าประสบการณ์เดินทางด้วยเครื่องบินไปจังหวัดพิษณุโลก แต่ล้อเครื่องบินไม่กาง ทำให้ไม่กล้าโดยสารเครื่องบินไประยะหนึ่ง

กระทั่งมีพรรคพวกให้พระเครื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือที่คนไทยขนานนามว่าหลวงพ่อโตวัดระฆัง (พระสมเด็จวัดระฆัง) มาแขวนบูชาติดตัว เมื่อขึ้นเครื่องบินแล้วเครื่องสั่นเมื่อไหร่ก็จะอธิษฐานทุกครั้ง

“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พกติดตัวตลอดยังมีเหรียญหลวงพ่อเณรครูบาบุญชุ่ม, ลูกประคำของครูบาบุญชุ่ม ซึ่งได้รับจากครูบาบุญชุ่มเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และสายสิญจน์ของครูบาอริยชาติ อริยจิตฺโต

“นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระพิฆเนศอย่างมาก โดยมีโอกาสร่วมกับสมาคมชาวฉะเชิงเทราก่อสร้างพระพิฆเนศองค์สูงที่สุดในโลก เนื้อสำริด ความสูงรวมฐาน 39 เมตร ที่อุทยานพระพิฆเนศ อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตศรัทธาและเลื่อมใสในพระพิฆเนศ”