พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : ต้องแก้ปัญหาทรัพยากรมนุษย์ของไทย

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

การจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางและก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง มีการสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้ มีการสร้างรายได้หาเงินเข้าประเทศได้ด้วยความแตกต่างจากประเทศอื่นจึงจะทำให้การหาเงินเข้าประเทศมีความเป็นไปได้ เมื่อนั้นประเทศไทย 4.0 จะเป็นความจริง

สิ่งที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีของตนเอง นอกจากระบบสนับสนุนต่างๆแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณภาพของคน หรือทรัพยากรมนุษย์ของไทย ประเทศญี่ปุ่นไม่มีพื้นที่ ไม่มีทรัพยากรของตัวเอง แต่อาศัยคุณภาพของคนญี่ปุ่นเองในการสร้างชาติจากที่เคยแพ้สงครามให้กลับมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ประเทศอื่นๆเช่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ก็ไม่ต่างกัน

ประเทศในยุโรปเหนือบางประเทศ เวลาเรียนหนังสือน้อย ไม่มีการบ้านแต่กลับสอบวัดความสามารถสูงลำดับต้นๆของโลก ไทยเราเด็กเรียนหนังสือทั้งวัน ทั้งคืน แถมไม่มีวันหยุดเพราะต้องไปกวดวิชา ยิ่งออกมาตรการ เด็กยิ่งต้องกวดวิชามากขึ้น แต่ระดับการศึกษากลับรั้งท้ายๆในอาเซียน

เด็กไทยเกลียดคณิตศาสตร์ ชอบไปในทางร้องรำ ทำเพลง ครู อาจารย์ชอบจับเด็กหญิงแต่งสั้นๆ แต่งหน้า ทาปาก ขึ้นเวทีไปเต้น โดยอ้างว่าเพื่อให้เด็กแสดงออก โตขึ้นมีแต่นักร้อง นักเต้น หานักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ได้ยาก พอหลุดรอดมาเรียนอุดมศึกษาบ้าง คนเก่งคณิตศาสตร์ก็ไปเรียนแพทย์หมดทั้งๆที่เป็นงานกึ่งศิลปะ เราจึงไม่มีนักวิทยาศาสตร์ระดับนำและวิศวกรที่จะสร้างอะไรให้กับสังคมไทยได้

ญี่ปุ่นสมัยเมจิ เร่งส่งคนไปเรียนช่างและวิศวกรรมในประเทศตะวันตก และหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เร่งผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับจีนที่ขณะนี้มีวิศวกรหลายร้อยล้านคน ทิศทางที่จะมีเทคโนโลยีและการผลิตเป็นของตนเอง ไม่ใช่เพียงรับจ้างผลิตเท่านั้นนี้ จำเป็นต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่งจริงๆจำนวนมาก ในขณะที่การส่งเสริมการวิจัยในระดับหลังอุดมศึกษามีเพียงร้อยละประมาณ ๑ หรือต่ำกว่างบประมาณส่วนใหญ่จึงใช้ไปกับเงินเดือน เท่านั้น

สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นปัญหา การแก้ปัญหาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นความจำเป็นแรกๆในการสร้างนวัตกรรมและการมีเทคโนโลยีการผลิตของตนเองเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องเตรียมการตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึงการเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ ซึ่งควรทำได้ตามลำดับดังต่อไปนี้

ในระหว่างการตั้งครรภ์ ต้องมีการเตรียมตัวกันอย่างดี ไม่มีการทอดทิ้งเด็กจากความไม่พร้อม และหากมีขึ้นภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเพื่อให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ ไม่เพียงเกิดมาแล้วอยู่รอดเท่านั้น

เมื่อจะเข้าระบบโรงเรียน การแยกแยะเด็กที่มีความสามารถพิเศษที่มักจะมีอาการออทิสติกมาด้วยเพื่อให้รับการศึกษาเป็นการเฉพาะมีความจำเป็น เด็กเหล่านี้บางคนอาจเติบโตขึ้นเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลแบบเดียวกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ก็ได้ เด็กบางคนอาจมีอัจฉริยภาพทางดนตรี วาดภาพ จำตัวเลข จำข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะทางมากๆได้ แต่ไม่สามารถเรียนวิชาทั่วไปได้ บางคนเพียงเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์คณิตศาสตร์ก็จะแก้สมการยากๆได้โดยใช้การประมวลผลในสมองเท่านั้น เด็กอัจฉริยะเหล่านี้ ต้องไม่ปล่อยให้จมไปกับการศึกษาแบบพื้นฐานทั่วไป ซึ่งจะดูเป็นเด็กช้า หรือโง่ในความหมายทั่วไป แต่แท้จริงเป็นเด็กที่ฉลาดที่จำเป็นสำหรับการค้นพบใหม่ๆในอนาคต

เรื่องใหญ่ที่สุดคือในระบบโรงเรียน ซึ่งเด็กไทยไม่ชอบคณิตศาสตร์ ซึ่งสาเหตุจริงๆเกิดจากการเร่งรัดให้เด็กทำโจทย์ตั้งแต่ชั้นประถมต้นทั้งๆที่ยังอ่านภาษาไทยไม่แตกฉาน เมื่อทำไม่ได้ ก็จะเริ่มเกลียดวิชาคณิตศาสตร์เพราะดูจะทำให้หมดความมั่นใจ จึงหันไปหาเรื่องอื่นๆที่พอทำได้มากกว่า การแก้ปัญหาจึงต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าโดยเฉลี่ยเด็กไทยอ่านหนังสือออกกันในชั้นประถมปีเท่าไรกันแน่ จากนั้นจึงให้ทำโจทย์คณิตศาสตร์ ระหว่างนั้นก็ปรับวิชาให้ใช้การ บวก ลบ คูณ หาร พีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติที่ไม่ใช้ภาษามากนักทดแทนในระหว่างที่ยังอ่าน เขียนไม่คล่อง

เด็กญี่ปุ่นและในยุโรปยุโรปเหนือบางประเทศ ไม่มีการสอบวัดผลมากเกินไป แต่ให้ความสำคัญกับการเข้าสังคม การมีระเบียบวินัย การเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ทีดีต่อสังคม เช่นการรักความสะอาด การเสียสละ และรักหมู่คณะเป็นต้น สิ่งนี้ควรนำมาใช้กับเด็กประถมต้นเป็นอย่างยิ่ง

บรรยากาศในการเรียน การสอน ถ้าต้องการให้เด็กมีความกล้า ไม่ใช่การขึ้นเวทีนุ่งน้อย ห่มน้อย แต่เป็นการสร้างบรรยากาศในการถาม และตั้งข้อสงสัยในห้องเรียนให้มาก พาออกไปชมพิพิธภัณฑ์ ห้องทดลอง กิจการทางวิทยาศาสตร์มากๆเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ครูไม่ดุร้ายเมื่อตอบคำถามเด็กไม่ได้ แต่เป็นการร่วมกันแสวงหาความรู้ เพาะนิสัยการเป็นผู้ประกอบการให้เด็กด้วยการขายของ หารายได้ยามว่าง เพื่อมาทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เงื่อนไขสำคัญในการเตรียมการเป็นประเทศมีพื้นฐานทางเทคโนโลยีนั้น คือการเตรียมการศึกษาทางช่าง วิศวกรรมและการเกษตรอุตสาหกรรมให้มากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ การอาชีวศึกษาที่ปราศจากนักเรียน นักเลง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นความเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลต่อไป ผู้ที่มีความถนัดทางช่างต้องได้รับการวัดก่อน เพื่อแนะนำให้มาศึกษาให้ถูกทาง ส่วนการศึกษาสายสามัญก็ควรที่จะแยกให้เรียนเฉพาะทางมากขึ้นตั้งแต่ระดับมัธยมต้นมาจนถึงมัธยมปลายเพื่อให้เด็กค้นพบความสามารถและความถนัดของตนเสียตั้งแต่แรก ทั้งนี้การวัดความถนัดนั้นต้องให้ความสำคัญมากกว่าคะแนนในห้องเรียน ยกเว้นผู้ที่มีความถนัดเท่าเทียมกันในทุกด้านจึงจะให้เรียนได้ตามที่ชอบ

การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ต้องมีห้องปฏิบัติการ และฝึกงานที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ทั้งนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัยภายนอกเข้ามาใช้งานได้ เช่นเดียวกับห้องสมุดและการค้นคว้าจากโลกออนไลน์ ดังนั้นการฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษาจึงต้องมีความเข้มข้นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องลดภาษีให้กับภาคเอกชนที่สนับสนุนการวิจัยและการศึกษาในสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น

การเข้าศึกษาตามความถนัดมากกว่าคะแนนสอบนี้ ไม่ได้หมายความว่าคะแนนไม่สำคัญ แต่ต้องให้ทดสอบความถนัดและลองทำ ลองเรียนจนรู้สึกว่าชอบและเมื่อชอบจะเรียนอะไร จะต้องได้เรียนตามนั้น สำหรับผู้ที่มีทักษะพิเศษ หรือพรสวรรค์ในเรื่องใดทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ความจำพิเศษ ก็ต้องมีหลักสูตรเฉพาะสำหรับกลุ่มนี้ รวมถึงเรื่องกีฬาและการอาชีพเฉพาะอื่นๆด้วย

ส่วนผู้ที่จะศึกษาในคณะยอดนิยมอื่น เช่นแพทย์ ก็ต้องเป็นผู้มีความถนัดทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปมากว่าคณิตศาสตร์ เพราะเราต้องการนักคณิตศาสตร์ในสาขาวิชาที่สำคัญกว่านั้นทั้งด้านฟิสิกส์ เคมีและวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าทางการแพทย์ สาขาวิชาอื่นเช่นบัญชี ชีววิทยา ก็เป็นไปในแนวเดียวกัน ต้องมีความถนัดและสนุกกับการเรียนสาขาวิชานั้นมากกว่าคะแนนสอบ ดังนั้นวิชาชีพวิทยาศาสตร์และครู อาจารย์ เงินค่าตอบแทนต้องสูงกว่าผู้จบทั่วไป

สุดท้ายคือ ทุกสาขาวิชาชีพต้องมีตลาดแรงงานที่ดีรองรับ จะเกิดเช่นนั้นได้ ประเทศต้องเปิดกว้างรับการลงทุนจากต่างประเทศและมีเงินวิจัยในด้านพื้นฐานต่างๆ เช่นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ทั้งจากรัฐและภาคเอกชนที่ได้รับการลดหย่อนภาษี การเตรียมการด้านการตลาดต่อทุกวิชาชีพอย่างจริงจัง ควรเป็นความรับผิดชอบของหลายกระทรวงร่วมกัน มิใช่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเพราะขาดความถนัด

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยังมีอีกหลายมิติเช่น การใช้ระบบดิจิตอลในการทำงาน การสร้างทักษะทางภาษา การเป็นนักประดิษฐ์ และนักวิจัยที่ดี ซึ่งจะทำได้ต้องมีงบประมาณด้านการวิจัยเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๑ เช่นปัจจุบัน ประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีสัดส่วนการวิจัยต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓ ทั้งนี้ก็เพื่อนำประเทศเข้าสู่สังคมดิจิตอล นวัตกรรม การสร้างสรรค์และการพึ่งตนเองได้ในอนาคต

การจะบรรลุเป้าหมายนี้ ครู อาจารย์ต้องรายได้ดี มีอิสระในการสอน เด็กมีบรรยากาศสร้างสรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าควรเป็นห้องเรียนแบบประชาธิปไตย นวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ เด็กถนัดหรือชอบอะไรต้องเรียนตามใจชอบได้ทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา เรียนจบแล้วต้องพึ่งตนเองได้ เป็นนักประดิษฐ์ เป็นช่าง เป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ตามแต่ที่ชอบโดยมีการออกแบบตลาดรองรับ อาชีพ อื่นๆก็เช่นกัน