แมลงวันในไร่ส้ม /สื่อใหม่-คนรุ่นใหม่ โจทย์ยากวงการสื่อ ธุรกิจทีวีคืนช่องวุ่น

แมลงวันในไร่ส้ม

สื่อใหม่-คนรุ่นใหม่

โจทย์ยากวงการสื่อ

ธุรกิจทีวีคืนช่องวุ่น

วงการสื่อยังอยู่ระหว่างปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม เกิดปรากฏการณ์ พรรคอนาคตใหม่แจ้งเกิดเข้ามาด้วยจำนวน ส.ส.เป็นอันดับสาม และเสนอ “จุดยืน” ใหม่ทางการเมือง

โดยมีฐานการเมืองเป็น “คนรุ่นใหม่” กลายเป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้กลุ่มอำนาจจับตาด้วยความเคร่งเครียด

ยิ่งเมื่อพรรคอนาคตใหม่ประกาศแก้-รื้อรัฐธรรมนูญ, ไม่ยอมรับ คสช., ส.ส.ของพรรค ทั้งชายและหญิงโชว์บทบาทอภิปรายในสภา และปรากฏตัวด้วยรูปโฉมการแต่งกายที่แตกต่าง

ทำให้กลุ่มสนับสนุนรัฐประหารและกลุ่ม “หัวเก่า” เกิดอาการ “รับไม่ได้”

มีการปะทะกันในเรื่องการแต่งกายของ ส.ส. หลังจาก ส.ส.หญิงพรรคอนาคตใหม่ แต่งตัวในสไตล์ท้องถิ่นภาคเหนือมาประชุมสภา กลายเป็นข่าวในพื้นที่สื่อ

สภาผู้แทนฯ มีกำหนดประชุมพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาในวันที่ 10 กรกฎาคม จะมีการอภิปรายในเรื่องนี้ด้วย

เป็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องทัศนคติของคนในสังคม ที่สื่อจะต้องปรับความคิดตัวเองในการนำเสนอ นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ดิสรัปต์ ทำให้สื่อต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ และต้องปิดตัวเองไปแล้วหลายฉบับ

 

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับล่าสุดที่ปิดตัวเองไปคือเดอะเนชั่น หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ใน 2 ฉบับของประเทศไทย

ฉบับสุดท้ายที่ออกวางจำหน่าย คือฉบับ 28 มิถุนายน 2562

ทำให้บางกอกโพสต์กลายเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียวที่เหลือยืนเดี่ยวอยู่

ในเครือโพสต์เอง มีสื่อปิดตัวไปแล้วหลายหัว ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาได้แก่นิตยสาร CLEO และ Science Illustrated ของบริษัท โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด

ก่อนหน้านั้น Student Weekly หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่อยู่ยงคู่กับการศึกษาภาษาอังกฤษของเยาวชนชาวไทยมายาวนานปิดฉากไปในเวลาใกล้เคียงกับหนังสือพิมพ์รายวัน โพสต์ทูเดย์ และ M2F หนังสือพิมพ์แจกฟรีจากบริษัทในเครือเดียวกัน

Science Illustrated ออกวางฉบับเดือนมิถุนายนเป็นฉบับสุดท้าย ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2554 ปิดฉากนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่อยู่คู่แผงมานานถึง 8 ปีเต็ม

ส่วน CLEO Thailand ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเดือนมิถุนายน หลังจากอายุครบ 22 ปีไปเมื่อเดือนมีนาคม ทำให้โพสต์เหลือนิตยสารในเครือ 2 ฉบับ คือ ELLE Thailand และ Forbes Thailand

ตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงรอบนี้ ดุดันและพร้อมกลืนกินทุกอย่าง

 

ขณะที่วงการทีวีจะเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อมีคำสั่งให้ทีวีดิจิตอลขอคืนช่องได้ หลังจากเปิดดำเนินงานจากปี 2557 แล้วขาดทุนย่อยยับ ต้องถอยทัพจอดำไป 2 ช่อง

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา บีอีซีเวิลด์ (BEC WORLD) ตัดสินใจคืนใบอนุญาตการบริหารช่องทีวีดิจิตอล ช่อง 13 และ 28 เพื่อโฟกัสที่ช่องหลัก คือช่อง 33

สารจากอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ, บมจ.บีอีซีเวิลด์ ชี้แจงเป็นการภายในกับพนักงาน ดังนี้

ผมขอแจ้งให้เพื่อนพนักงานทราบว่า บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กับทาง กสทช.สำหรับกรณีการขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ของช่อง 13 และช่อง 28 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนี้ทางคณะกรรมการ กสทช.จะใช้เวลาพิจารณาเพื่ออนุมัติให้ยุติการออกอากาศต่อไป โดยทางบีอีซีมีแผนที่จะยุติการออกอากาศในสิ้นเดือนกันยายน 2562

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงเวลานี้ธุรกิจทีวีไม่ได้เติบโตและรุ่งเรืองเหมือนที่เคย และยังได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยี (Digital Disruption)

ทำให้บีอีซีมีความจำเป็นต้องตัดสินใจคืนใบอนุญาต และการคืนใบอนุญาตทั้ง 2 ช่อง เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดของคณะกรรมการและผู้บริหาร เพราะส่งผลกระทบมากมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อเพื่อนพนักงาน ตามที่ผมได้กล่าวไว้กับเพื่อนพนักงานจากการพบกันที่การประชุม Townhall ที่ผ่านมาว่า เราจะมุ่งการทำงานที่ช่อง 33 เป็นหลักเพื่อทำให้บีอีซีกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง และการคืนใบอนุญาตทั้ง 2 ช่องจะสามารถทำให้สถานะทางการเงินขององค์กรดีขึ้น

ผมและทีมผู้บริหารได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ผลกระทบต่อพนักงานมีน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเกิดผลกระทบจากการที่ต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน อันเนื่องมาจากการยุติการออกอากาศของช่อง 13 และช่อง 28

การเลิกจ้างเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย แต่เป็นความจำเป็นหลังจากที่เรามีจำนวนช่องที่น้อยลง โดยได้จัดให้มีค่าชดเชยสำหรับพนักงานในกรณีที่ต้องถูกเลิกจ้างให้มากที่สุดเท่าที่จะจัดสรรได้ และค่าชดเชยที่พนักงานจะได้รับจะดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างแน่นอน

สำหรับพนักงานที่ยังคงทำงานต่อไป ผมขอขอบคุณและอยากบอกว่านี่เป็นการเริ่มต้นทำงานในวิถีใหม่ การทำงานในยุคที่ทีวีจะมีความยากมากขึ้นไปเรื่อยๆ พวกเราจำเป็นต้องใช้ความรู้และความสามารถเพื่อผู้ชมของเราทั้งทางโทรทัศน์และช่องทางออนไลน์ โดยความสำเร็จของพวกเราจะมาจากพื้นฐานความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อความต้องการของผู้ชมในปัจจุบัน

ผมมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกินความสามารถของพวกเรา บีอีซียังคงเป็นผู้นำในธุรกิจของ Content Provider และจะยังคงเป็นต่อไปโดยเรายังมีช่อง 33 และช่องทางออนไลน์ที่จะนำพาบีอีซีให้เติบโต

เพื่อนพนักงานคงเคยได้ยินที่ผมได้กล่าวไว้ในสื่อไปก่อนหน้านี้ว่า บีอีซีมีทรัพยากรที่มีคุณค่าคือ “กลุ่มคนทำงาน” ซึ่งได้แก่ นักแสดงที่มีชื่อเสียง ผู้ผลิตคุณภาพ และพนักงานที่มีความสามารถ

โดยเฉพาะพนักงานของบีอีซีเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถและประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจและจะเป็นผู้ที่นำความสำเร็จกลับมาให้กับบีอีซีอีกครั้งหนึ่ง

ก็ต้องติดตามการพลิกสถานการณ์ของช่อง 3 ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

 

ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการดิสรัปชั่นคงไม่หมดเพียงแค่การยุติบทบาทของสื่อต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง จะเห็นการเกิดใหม่ และความเติบโตของสื่อใหม่ ที่เสนอตัวเองในรูปของเว็บไซต์ เพจ และ ฯลฯ ที่เป็นรูปแบบที่กระจายไปด้วยระบบออนไลน์

เป็นสื่อที่จะต้องรองรับเนื้อหาต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน เพียงแค่ตัวอย่างจากข่าวการเมือง ก็จะเห็นว่าแตกต่างไปจาก 5 ปีก่อนในสมัยของสภาชุดที่ถูกยุบเพราะรัฐประหาร 2557

การตรวจสอบจากคนอ่านที่เข้มข้นขึ้น จะทำให้สื่อทุกชนิดต้องดูแลคุณภาพตัวเองเข้มงวดมากขึ้นอีก

โลกของข่าวสารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะทิ้งสื่อที่ไม่ปรับตัวไว้ข้างหลังอย่างไม่อาลัยอาวรณ์เลย