โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหลวงพ่อแก่ มงคลพ่อท่านเปลียว วัดดุลยาราม จ.สตูล

หลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม จ.สตูล

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญหลวงพ่อแก่

มงคลพ่อท่านเปลียว

วัดดุลยาราม จ.สตูล

 

 

“หลวงพ่อแก่” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสตูล โดยพระอธิการเปลียว ปรักกโม หรือพ่อท่านเปลียว อดีตเจ้าอาวาสวัดดุลยาราม ได้อัญเชิญหลวงพ่อแก่ประดิษฐานไว้ที่วัด

หลังพ่อท่านเปลียวมรณภาพลง พระสิริขันตยาภรณ์ (รุ่ง วรธัมโม) ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ซึ่งมีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัด ว่า ควรจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อแก่ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปบูชา

เหรียญหลวงพ่อแก่ รุ่นแรก ปี 2514 ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ที่วิหารวัดดุลยาราม ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2514 โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเข้าร่วมพิธี อาทิ พระอาจารย์ศรีแก้ว ตุลกุโณ วัดไทรใหญ่, หลวงพ่อสงฆ์ วัดคงคาวดี, หลวงพ่อเพชร วัดดอนแย้, พระอาจารย์เล็ก วัดเจริญภูพา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นต้น

เหรียญหลวงพ่อแก่ รุ่นแรก ปี 2514 จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองแดงและเนื้อเงิน สร้างประมาณเกือบ 5,000 เหรียญ

ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพ่อท่านเปลียว ด้านหลังเหรียญเป็นองค์หลวงพ่อแก่ครึ่งองค์

วัตถุประสงค์เพื่อแจกให้ประชาชนที่มาร่วมงานฌาปนกิจศพพ่อท่านเปลียว วันที่ 6 เมษายน 2514 ปรากฏว่ามีผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เหรียญที่จัดสร้างนั้นแทบจะไม่เพียงพอ

ส่วนเหรียญเนื้อเงิน เป็นเหรียญสมมาคุณ มอบให้ผู้ที่บริจาคปัจจัยช่วยงาน

ต่อมา พระศิริขันตยาภรณ์ (รุ่ง วรธัมโม) เจ้าคณะจังหวัดสตูล และเจ้าอาวาสวัดดุลยารามในขณะนั้น จัดสร้างเหรียญพ่อท่านเปลียวหรือเหรียญหลวงพ่อแก่ อีก 2 รุ่นด้วยกัน แต่ลักษณะเหรียญจะเล็กกว่ารุ่นแรก เป็นเหรียญหายากเช่นกัน

และยังสร้างพระปิดตาและพระสมเด็จปรกโพธิ์ ก่อนมรณภาพ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534

หลังจากนั้น เหรียญหลวงพ่อแก่ ถูกจัดสร้างขึ้นในรุ่นที่ 3 ปี 2534 โดยมหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ รูปแบบของเหรียญใช้แม่พิมพ์เก่ามาสร้างใหม่ เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านเจ้าคุณพระศิริขันตยาภรณ์

เหรียญหลวงพ่อแก่ หรือเหรียญพ่อท่านเปลียว จัดเป็นเหรียญยอดนิยมในสตูลและภาคใต้ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย รัฐปีนัง สิงคโปร์ เหรียญหลวงพ่อแก่เป็นเหรียญที่ใครบูชาแล้ว จะได้สมตามความปรารถนา

จึงเป็นอีกหนึ่งเหรียญวัตถุมงคลที่หายากและควรมีเก็บไว้บูชา

เหรียญหลวงพ่อแก่ (หน้า-หลัง)

 

“หลวงพ่อแก่” เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ มีขนาดความสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ตั้งประดิษฐานอยู่ที่วัดดุลยาราม ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล

หลวงพ่อแก่ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีเค้าพระพักตร์เป็นหญิง แบบนางพญาหรือพระหน้านาง บางทีเรียกว่าพระแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ฝีมือแกะสลักของช่างภาคเหนือหรือล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดสตูลให้ความเคารพนับถือ

มีประวัติเล่ากันสืบมาว่า เป็นพระที่ลอยน้ำมาจากทะเล ผู้ใหญ่บ้านคลิ้ง เป็นผู้เก็บมาจากคลองน้ำพระ และเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นพระพุทธรูป จึงคิดนำมาไว้ที่วัด ในขณะที่เดินทางมาวัดฉลุง (วัดบ้านจีน) ผ่านสวนผักของแป๊ะไล้ฮะ (ชาวจีนที่มาอาศัยในฉลุง ดำรงชีพด้วยการปลูกผักขาย)

แป๊ะไล้ฮะได้ถามผู้ใหญ่คลิ้งว่า “ลื้อแบกอะไรมา” พอเข้ามาใกล้จึงเห็นว่าเป็นพระพุทธรูป จึงบอกผู้ใหญ่คลิ้งว่าน่าจะนำไปไว้ที่วัด โดยผู้ใหญ่คลิ้งได้นำองค์หลวงพ่อแก่มาวางไว้ใต้ต้นแซะบริเวณวัดฉลุง

ในตอนแรกไม่มีใครสนใจ เพราะเห็นว่าเป็นพระไม้เก่าๆ ต่อมา หลวงพ่อแก่ได้แสดงอภินิหารและเข้าฝันผู้สูงอายุท่านหนึ่งในตำบลฉลุงว่ารู้สึกอึดอัดมากที่มีเด็กๆ เอามาเล่น โดยไม่ให้ความเคารพนับถือ

พ่อท่านเปลียว เจ้าอาวาสวัดดุลยารามสมัยนั้น ได้สร้างเป็นที่พักและนำหลวงพ่อแก่มาประดิษฐาน ซึ่งได้มีชาวบ้านที่ทราบข่าว มากราบไหว้ สักการบูชา บนบานสานกล่าว ในขณะนั้นองค์พ่อแก่มีแขนข้างเดียว สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการที่เด็กนำมาเล่น ทำให้แขนข้างซ้ายหัก ชาวบ้านจึงได้จัดทำแขนข้างซ้ายประกอบเหมือนเดิม

หลวงพ่อแก่ได้แสดงอภินิหารเป็นที่ยำเกรง ปรากฏแก่ชาวบ้านในละแวกนั้น หากใครไปถ่ายสิ่งปฏิกูลในบริเวณใกล้เคียง ในสถานที่นั้น มักจะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดี มีอาการปวดหัวตัวร้อน

เมื่อชาวบ้านได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้จัดสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานโดยเฉพาะและมีการจัดงานนมัสการในวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี

 

อภินิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งขึ้นชื่อลือชาของหลวงพ่อแก่ คือ สามารถห้ามฝนได้ ใครจะจัดงานอะไร หากเกรงว่าฝนจะตกในงาน ก็จุดธูปบนบานขออย่าให้ฝนตก ปรากฏว่าได้ผลเป็นประจักษ์ทุกรายไป

ทุกวันจะมีคนทั้งในและต่างจังหวัดมาแก้บนกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับเครื่องบูชาแก้บนหลวงพ่อแก่ เป็นขนมโค ประทัด ผ้า 7 สี น้ำ 3 สี ทอง 100 แผ่น หมูย่าง หัวหมู

คำว่า “พ่อแก่” หมายถึง พระผู้เฒ่าผู้แก่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป

ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ที่วัดดุลยาราม ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล