เศรษฐกิจ / กางแผน ททท.กระตุ้นท่องเที่ยว ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครึ่งปีที่เหลือ ฟันเฟืองตัวสุดท้าย…หมดหวังพึ่งส่งออก

เศรษฐกิจ

 

กางแผน ททท.กระตุ้นท่องเที่ยว

ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครึ่งปีที่เหลือ

ฟันเฟืองตัวสุดท้าย…หมดหวังพึ่งส่งออก

 

ในสถานการณ์ภาคส่งออกกำลังบาดเจ็บอย่างหนัก โดนหั่นเป้าส่งออกจนล่าสุดถึงขั้นติดลบแล้วในปีนี้

ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นความหวังเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้

แต่แล้วเหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด มีมรสุมเข้าวัดใจว่าจะผ่านไปได้หรือไม่อย่างไม่ขาดสาย

จนในที่สุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ได้ออกมาปรับลดเป้ารายได้ภาคการท่องเที่ยวลง

เนื่องจากประเทศไทยกำลังเจอศึกหนักจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก

ซึ่งถึงแม้ว่า ททท.จะมีการปรับลดเป้าลงเล็กน้อย แต่ก็ยังตั้งเป้าเติบโตถึง 9.5% จากปี 2561 ที่โต 10% เหลือมูลค่าการเติบโตที่ 3.38 ล้านล้านบาท

จากเดิมที่คาดว่าจะโตที่ 3.4 ล้านล้านบาท

หรือรายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป็นการตั้งเป้าโตท่ามกลางมรสุมที่ถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่ได้เป็นภาพเหมือนปี 2561 ที่ต้นปีทำตัวเลขไว้ได้สวยงาม เพราะปัจจัยทั้งภายในและภายนอกดีมาก เศรษฐกิจโลกดี การค้าโลกดี ทุกอย่างดีไปหมด จึงเอื้อให้ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยว

แต่ปีนี้ไม่ใช่ ทำให้ทั้งผู้บริหาร และผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ต้องจัดทำแผนงานที่เหลือของทั้งปี เพื่อกระตุ้นตลาดและปั๊มยอดให้ได้ตามเป้าที่ผู้ว่าการ ททท.อุตส่าห์ปรับเป้าลดลงแล้วให้ได้

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้และประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

แต่จากปัจจัยกระทบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ตั้งแต่กรณีเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต เรื่อยมาจนถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าต่อไปอีกสักพัก รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหลังจากที่การเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ กระทบถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ต้องล่าช้าออกไป

ททท.จึงต้องจัดทำแผนงานเพื่อกระตุ้นตลาดที่แตกต่างกัน เพราะตลาดแต่ละประเทศมีความชอบและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องอาศัยการเข้าหาตลาดเหล่านั้นแตกต่างกัน โดยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนภาพลักษณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จากแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก เข้าสู่การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเน้นกระตุ้นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ซึ่งปี 2563 ททท.จะมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าของแบรนด์ประเทศไทย เพื่อผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เป็นรูปธรรมในทุกมิติของการสื่อสารและลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักในวงกว้าง

 

ททท.จะเดินหน้านำเสนอสินค้าและบริการที่สามารถชูเอกลักษณ์วิถีไทยที่มีเสน่ห์ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกระบวนการพัฒนา ต่อยอด และเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้นวัตกรรมที่ผสมผสานกับเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น กับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่รัก และต้องการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ให้มีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ท้องถิ่นต้องการ เพื่อสืบสานและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

อีกทั้งยังเป็นการออกแบบสินค้าทางการท่องเที่ยว ที่ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายหรือกิจกรรมที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมหลายวันมากกว่าเดิม เพราะมีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะพักค้างแรมน้อยลงเรื่อยๆ เฉลี่ยเพียง 1-2 คืนต่อคนต่อครั้งเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงมาก แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่แรก ที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางมา แต่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ก็คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่า อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวได้ ททท.จึงกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งให้ความสำคัญต่อคุณค่ามากกว่าราคา

นอกจากเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่จ่ายหนักมากขึ้นแล้ว ททท.ยังเดินหน้าจะกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติหน้าใหม่เข้ามามากขึ้นด้วย

เพราะไม่สามารถจะตั้งความคาดหวังไว้กับกลุ่มลูกค้าเก่าได้ โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการเข้าถึงลูกค้าเพิ่มเติม

โดยจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายร่วมของภูมิภาค ซึ่งจะมุ่งเจาะและขยายตลาดคนไทยให้ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อขยายฐานตลาดใหม่ๆ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดในจังหวัดกรุงเทพฯ มากจนเกินไป

รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องการแย่งตลาดกันเองด้วย

 

แผนการทำงานในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะเน้นกระตุ้นตลาดระยะใกล้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำตลาดระยะไกล เนื่องจากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตทางด้านรายได้ของตลาดอาเซียนโตแล้วกว่า 7.8% ถึงแม้จะมีบางประเทศที่ติดลบบ้างเล็กน้อย อาทิ สิงคโปร์ แต่ตลาดอาเซียนยังมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีในอนาคต คาดว่าทั้งปีนี้รายได้การท่องเที่ยวของตลาดอาเซียนจะโตที่ 10% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน

ททท.จึงวางแผนทำแคมเปญ “give me five” เพื่อกระตุ้นตลาดอาเซียนและอินเดีย โดยร่วมกับสายการบินในการเพิ่มน้ำหนักกระเป๋าขาออกได้ฟรี 5 กิโลกรัม คาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนและอินเดียเข้ามาเพิ่มอีก 1-2 แสนคน เม็ดเงินสะพัด 1-2 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน

รวมถึงตลาดเอเชียและแปซิฟิค ที่ภาพรวมครึ่งปีแรกยังมีหลายตลาดที่มองว่ายังมีการเติบโตทั้งในด้านรายได้และจำนวน โดยตลาดที่มองว่าจะสามารถแข็งแรงไปจนถึงสิ้นปีได้ คือตลาดญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และอินเดีย ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงวางแผนทำงานในครึ่งปีหลังตลอดจนถึงปี 2563 ว่าจะปรับแผนการตลาด เพื่อให้เป็นไปตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

เนื่องจากขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตัวเอง (เอฟไอที) เพิ่มขึ้นมาก โดยในภูมิภาคเอเชียมีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่า 75% ของภาพรวม จึงมีแผนจะร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวออนไลน์ (โอทีเอ) ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมกัน ผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวให้เร็วขึ้น

จากภาพรวมแผนการท่องเที่ยวที่ ททท.จัดทำขึ้น และเร่งดำเนินการเพื่อกระตุ้นยอดนั้น เชื่อว่าคงไม่ไกลเกินฝันที่ผู้ว่าการ ททท.วางไว้

เพียงแต่จะสามารถนำเครื่องมือสร้างรายได้หลักนี้ ฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้ไกลเพียงใด…ตามเอาใจช่วยกัน