ในประเทศ / ล็อก ‘อุตตม’ คิวแรก ญัตติ ‘ไม่ไว้วางใจ’ ปมเงินกู้แบงก์กรุงไทย ระวังสะเทือน ‘ประยุทธ์’

ในประเทศ

 

ล็อก ‘อุตตม’ คิวแรก

ญัตติ ‘ไม่ไว้วางใจ’

ปมเงินกู้แบงก์กรุงไทย

ระวังสะเทือน ‘ประยุทธ์’

 

“ช่วงนี้เราคงทำอะไรไม่ได้ แม้ ครม.จะเข้าถวายสัตย์ฯ แล้วก็ถือว่ายังไม่ทำหน้าที่

ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบทุกอย่างจะเริ่มเข้มขึ้นตั้งแต่วันแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นวันที่ถือว่า ครม.ทำงานสมบูรณ์เป็นต้นไป การตรวจสอบในเชิงนโยบายก็ต้องตรวจสอบบุคคลที่กำกับนโยบายด้วย จากนั้นพรรคฝ่ายค้านจะปรึกษาหารือกันว่ามาตรการจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่ามาตรการรุนแรงที่สุดคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นคุณสมบัตินายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสังคมตั้งข้อสงสัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) ซึ่งบัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่

การที่ฝ่ายค้านล็อกเป้านายอุตตมเป็นคิวแรก

สืบเนื่องจากวันที่ 9 ธันวาคม 2546 นายอุตตม ในฐานะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ธนาคารกรุงไทย พร้อมคณะกรรมการรวม 5 คน ลงนามอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร 9,900 ล้านบาท

ต่อมามีการฟ้องร้องว่าเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ มีการไต่สวนพิจารณาคดี นายอุตตมเป็น 1 ในผู้ต้องหา

กระทั่งถึงขั้นตอนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. กลับเหลือเพียงคณะกรรมการ 3 คนถูกส่งชื่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่ามีความผิด ต้องติดคุก ส่วน “อุตตม” รอด

“ในเอกสารบันทึกการประชุมนั้นปรากฏชื่อและลายเซ็นนายอุตตมอยู่ด้วย

จึงอยากให้นายอุตตมชี้แจงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวนายอุตตมเอง หากไม่เกี่ยวข้องจะได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเต็มภาคภูมิ” นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติระบุ

 

ขณะที่เรื่องส่อเค้าลุกลามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

นายอุตตม สาวนายน ได้โพสต์ข้อความชี้แจงสรุปว่า

การหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตีมีเจตนาหวังผลทางการเมือง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงการตรวจสอบไต่สวนทุกกระบวนการ ตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดหรือมีส่วนร่วมกระทำผิด ขั้นตอนการตรวจสอบไม่รู้กี่ด่านต่อกี่ด่าน ผ่านทุกด่าน

แรกเริ่มในการประชุมบอร์ดบริหารปล่อยสินเชื่อนี้ ตนท้วงติงว่าสินเชื่อนี้ไม่สามารถอนุมัติให้ได้

หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยฝ่ายตรวจสอบ เข้าตรวจสอบรายงานการประชุมพิจารณาอนุมัติ ไม่พบว่าตนมีส่วนร่วมปล่อยสินเชื่อนี้ จึงไม่กล่าวโทษ

ธปท.กล่าวโทษผู้มีส่วนร่วมปล่อยสินเชื่อนี้ ทั้งนักการเมือง เอกชนและผู้บริหารธนาคารต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2549

หลังคดีโอนให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน คตส.ไม่ชี้มูลว่าตนมีความผิด หลังเรียกตนไปให้การหลายครั้ง จึงมีมติตีตกข้อกล่าวหา ไม่ส่งไปอัยการให้ฟ้อง

ต่อมา คตส.ส่ง ป.ป.ช. ยื่นให้อัยการฟ้องคดีกรุงไทยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทั้ง ป.ป.ช.และอัยการเห็นพ้องกับ คตส.ไม่ยื่นฟ้องตนในคดีนี้ เพราะจากการสอบสวนทั้งหมดมีหลักฐานชี้ว่าไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด สุดท้ายจึงไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้ร่วมรับผิด

กระบวนการทั้งหมดยืนยันได้ว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด ผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอน

“พรรคฝ่ายค้านและผู้ที่สนใจเรื่องนี้กรุณาอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็ช่วยตามหาจำเลยในคดีนี้ที่ยังหลบหนีมาสู่กระบวนศาลสถิตยุติธรรมจะดีกว่า” นายอุตตมระบุ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนอกจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลยร่วม

นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายยังถูกอัยการสั่งฟ้องคดีร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตปล่อยกู้ของผู้บริหารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานครด้วย โดยศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้

 

หลังการชี้แจงของนายอุตตม

นพ.ชลน่านซึ่งได้รับวางตัวเป็นผู้รับผิดชอบอภิปรายในสภากรณีนายอุตตม รวมถึงนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยและอดีตอัยการสูงสุด ได้เสนอประเด็นหักล้าง

นายชัยเกษมเรียกร้องนายอุตตมเปิดพยานหลักฐานบันทึกรายงานคัดค้านการอนุมัติสินเชื่อนี้ ถ้าไม่มีก็เท่ากับเห็นด้วย ต้องมีความผิดถูกดำเนินคดีเช่นกัน

“ถ้ามีชื่อนายอุตตมร่วมประชุมจะตัดชื่อออกเฉยๆ ได้อย่างไร หากอ้างว่ากันไว้เป็นพยาน ก็ต้องชี้แจงว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร หากไม่สามารถชี้แจงหรือนำพยานหลักฐานมาคลายความสงสัยได้ ก็ต้องตั้งข้อสังเกตว่า คตส.หรือ ป.ป.ช.ช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหรือไม่”

แต่ที่น่าสนใจคือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลังและอดีตผู้ว่าการ ธปท. โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตคำชี้แจงของนายอุตตม สรุปเป็นตอนๆ ดังนี้

กรณีนายอุตตมอ้างว่าได้ท้วงติงในที่ประชุมบอร์ดบริหารว่าสินเชื่อนี้ไม่สามารถอนุมัติให้ได้นั้น

ในฐานะทำงานด้านกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินที่ ธปท. 24 ปี ยืนยันว่าเรื่องเกี่ยวกับสินเชื่อจะต้องยึดตามเอกสารหลักฐานเป็นสำคัญ กรณีมีใครท้วงติงว่าสินเชื่อนี้ไม่สามารถอนุมัติให้ได้ บุคคลนั้นต้องกำชับให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานในรายงานการประชุม

แต่กรณีนี้ไม่เห็นว่ามีกรรมการบริหารท่านใดขอให้บันทึกความเห็นแย้งไว้ นอกจากนี้ ยังปรากฏกรรมการลงนามรับรองรายงานการประชุมครบทั้ง 5 คน รวมถึงนายอุตตม

ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยมีมติในการประชุมวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 ว่า การอนุมัติสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารต้องเป็นมติเอกฉันท์เท่านั้น ถ้ามีกรรมการไม่เห็นชอบแม้แต่รายเดียว สินเชื่อจะไม่ผ่านการพิจารณา

ส่วนที่นายอุตตมชี้แจงว่า ธปท.โดยฝ่ายตรวจสอบเข้าตรวจสอบรายงานการประชุมพิจารณาอนุมัติ ไม่พบว่าตนเองมีส่วนร่วมปล่อยสินเชื่อนี้ จึงไม่กล่าวโทษนั้น

นายธีระชัยระบุว่า กรณี ธปท.ไม่กล่าวโทษ ตนได้รับข้อมูลระบุว่ามีกรรมการ 2 คนให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ ธปท. ข้อมูลที่ว่าคือ

(ก) ประธานกรรมการบริหารขอให้พิจารณาไปด้วยความรวดเร็วก่อนมีการประชุม

(ข) มีการรวบรัดให้การพิจารณาของที่ประชุมยุติลงโดยเร็ว โดยอ้างถึงบุคคลภายนอกขอมา และเป็นสัญญาณว่าต้องอนุมัติสินเชื่อรายนี้แน่นอน

เป็นอันว่า มิใช่กรณี ธปท.การันตีว่าไม่มีการกระทำความผิดแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ธปท.ยังระบุ หากการสอบสวนพบว่ามีบุคคลอื่นนอกจากนั้นร่วมกระทำการ ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่อเรื่องไปถึง ป.ป.ช. ทาง ป.ป.ช.จัดนายอุตตมอยู่ในกลุ่มถูกกล่าวหาลำดับที่ 19

 

ต่อข้อชี้แจงของนายอุตตมที่ว่า คตส.ไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน คตส.ไม่ชี้มูลว่าตนเองมีความผิด หลังจากถูกเรียกไปให้การหลายครั้ง จึงมีมติตีตกข้อกล่าวหา และไม่ส่งไปอัยการให้ฟ้อง

นายธีระชัยชี้ว่า จุดนี้สำคัญที่สุด เพราะเมื่อพ้น คตส.ไปแล้ว ไม่มีใครหยิบยกเรื่องของนายอุตตมขึ้นมารื้อฟื้นอีก จึงต้องตั้งคำถามว่ามีเหตุผลใด คตส.จึงไม่ดำเนินการ

ในกรณีนี้ยังได้ข้อมูลว่า คณะอนุกรรมการไต่สวน คตส.บรรยายว่า

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ให้การยืนยันว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาสินเชื่อ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ไม่ได้ร่วมมีความเห็นอนุมัติ เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่มีความเป็นไปได้ และฝ่ายสินเชื่อไม่สามารถตอบข้อซักถามของผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ได้

ในชั้นไต่สวนของอนุกรรมการฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 นำหลักฐานมาประกอบชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการให้สินเชื่อรายนี้ จึงพิจารณาเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ไม่ได้มีส่วนร่วม หรือสนับสนุนกระทำความผิด

ฉะนั้น ประเด็นน่าสนใจที่สุดคือ ที่อนุกรรมการไต่สวนฯ บรรยายว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 ให้การยืนยันและนำหลักฐานมาประกอบนั้นคือหลักฐานเอกสารใด ถ้าหากเป็นเอกสารที่ทำขึ้นเอง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเอกสารประชุม ย่อมไม่มีน้ำหนัก “เพื่อทำให้เรื่องนี้กระจ่างและเป็นข้อมูลแก่ท่านนายกฯ ที่ครบถ้วน ผมจึงทำหนังสือไป ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของอนุกรรมการ คตส.แล้ว โดยส่งสำเนาให้ท่านนายกฯ ได้รับทราบด้วยแล้ว”

ท่ามกลางสถานการณ์เรือเหล็กเสียงปริ่มน้ำ

การตั้งบุคคลมีมลทินติดตัว หรือที่สังคมมีข้อคลางแคลงใจเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

จนฝ่ายค้านหยิบจับไปเป็นประเด็นโจมตีตั้งแต่ก้าวแรกในการแถลงโนบาย ไปจนถึงขั้นรุนแรงสุดด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอาจลุกลามไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

ถือเป็นการเพิ่มจุดอ่อนรัฐบาลซึ่งมีมากอยู่แล้ว ให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็น

เมื่อนั้นการที่บางคนพยายามขอให้ฝ่ายค้านอย่าใช้เวทีสภาล้มรัฐบาล

  จึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง