กรองกระแส / แผนหว่านเมล็ดพันธุ์ ต่อกรณี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ อุตตม สาวนายน

กรองกระแส

 

แผนหว่านเมล็ดพันธุ์

ต่อกรณี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และ อุตตม สาวนายน

 

ไม่ว่ากรณีคุณสมบัติและความเหมาะสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่ากรณีคุณสมบัติและความเหมาะสมของนายอุตตม สาวนายน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เหมือนกับเป็นคนละเรื่อง เหมือนกับเป็นคนละคน

กระนั้น ในที่สุดแล้วก็กำลังจะกลายเป็นประเภท “คนละเรื่องเดียวกัน”

เนื่องจากกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้สัมพันธ์กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เคยดำรงมา หากแต่สัมพันธ์กับตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.”

เนื่องจากกรณีของนายอุตตม สาวนายน มิได้สัมพันธ์กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อันได้มาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่สัมพันธ์อยู่กับคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกฤษดานครซึ่งเป็นเรื่องตั้งแต่ปี 2546 แต่ได้เกิดการขยายในลักษณะบานปลายภายหลังรัฐประหาร

นายอุตตม สาวนายน สัมพันธ์และเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัมพันธ์และเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นผลพวง เป็นแรงสะเทือนจาก “รัฐประหาร”

 

คุณสมบัติ ความเหมาะสม

ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

กรณีอันเกี่ยวกับคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลายเป็นประเด็นตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

มีการนำเสนอให้ กกต.พิจารณา มีการนำเรื่องเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา

น่าสนใจก็ตรงที่ หาก กกต.พิจารณาและมีข้อสงสัยก็จะต้องนำเรื่องยื่นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่มีผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาโดยเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กกต.จึงนำความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินมาเป็นข้ออ้างอิงและมิได้ดำเนินการอย่างใดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่จุดล่อแหลมเป็นอย่างมากก็คือ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ปรากฏในคำพิพากษาในคดีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ฟ้องร้องจากศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ กระทั่งศาลฎีกา ออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตรงนี้เองคืออุปกรณ์สำคัญที่มีการตั้งเรื่องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและส่งเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

คุณสมบัติ ความเหมาะสม

ของ อุตตม สาวนายน

 

นายอุตตม สาวนายน ยืนยันมาตลอดว่าถูกบิดเบือนและกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมเพราะไม่เคยตกเป็นจำเลยในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กฤษดานคร ขณะที่พรรคฝ่ายค้านยืนยันข้อมูลอย่างต่อเนื่องจากรายละเอียดที่มีการต่อสู้ในชั้นศาล

ข้อมูล 1 คือสถานะความเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยที่มีส่วนร่วมในการอนุมัติเงินกู้ให้กับกฤษดานคร

กรรมการคนอื่นๆ ล้วนต้องคำพิพากษา มีก็แต่นายอุตตม สาวนายน ที่หลุดพ้น

ข้อมูล 1 คือเงื่อนงำอันทำให้นายอุตตม สาวนายน หลุดพ้นทั้งที่ร่วมประชุมและอนุมัติเงินกู้จำนวนนั้นในที่ประชุม กลายเป็นคำถามว่าจะมีความเหมาะสมกับการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่ เพราะอยู่ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลงานของธนาคารกรุงไทย

ประเด็นของนายอุตตม สาวนายน จึงเป็นทั้งประเด็นของกฎหมายเพราะมีคำพิพากษามาแล้วและเป็นประเด็นทางจริยธรรม

ผลก็คือ กรณีอันเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทยให้กับกฤษดานครซึ่งดำรงอยู่เป็นความลี้ลับดำมืดก็ค่อยๆ ได้รับการแผ่แบออกมาเป็นลำดับ แม้กระทั่งความจริงจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งเคยรับผิดชอบในการบริหารจัดการคดี

ยิ่งมีการเปิดเผย ยิ่งมีข้อสงสัยในความเหมาะสมของนายอุตตม สาวนายน ต่อการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

หว่านเมล็ดพืช เมล็ดพันธุ์

ในเรื่อง สองมาตรฐาน

 

ไม่ว่ากรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่ากรณีของนายอุตตม สาวนายน สังคมค่อนข้างมีความเชื่อว่ายากเป็นอย่างยิ่งที่จะสะดุดหยุดชะงักแม้เรื่องจะตกไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระแล้วก็ตาม

เพราะได้เคยมีมติมาแล้วในกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีของ กกต.

แต่ผลและความต่อเนื่องอย่างสำคัญอันเป็นเป้าหมายในทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านอยู่ที่ทั้ง 2 กรณีย่อมนำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ

เปรียบเทียบให้เห็นกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระ

เปรียบเทียบให้เห็นบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรม เพราะว่ามีคำพิพากษาของศาลเกิดขึ้นมาแล้วอย่างเด่นชัด เพราะว่าก่อนเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเรื่องของนายอุตตม สาวนายน ก็เคยมีคำสั่งยุติบทบาทของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เห็นแล้ว

บรรทัดฐานจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อมาถึงกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมาถึงกรณีของนายอุตตม สาวนายน จะออกมาเช่นไร

  นี่คือเมล็ดพืช เมล็ดพันธุ์ที่จะปรากฏ ณ เบื้องหน้าสายตาของสังคม