วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ย้อนอดีตก่อน ‘ต้อนรับกลับบ้าน’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ย้อนอดีตก่อน ‘ต้อนรับกลับบ้าน’

 

ห้วงก่อนและหลังการเลือกตั้งสกปรก กุมภาพันธ์ 2500 เป็นห้วงที่วงการเมืองและวงการนักข่าวหนังสือพิมพ์ได้รับการเพ่งเล็งจากรัฐบาล ก่อนปี 2500 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคลื่อนไหว มีการจับกุมและห้ามปรามนิสิตนักศึกษาที่เป็นนักเขียนนักคิด อาทิ ทวีป วรดิลก นักกลอนฝีปากคมแห่งธรรมศาสตร์ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนแห่งจุฬาฯ ได้รับการกล่าวถึงของนิสิตนักศึกษาและนักอ่านยุคนั้น

นับเป็นห้วงเวลาการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลก เป็นยุคแห่งเสรีนิยมอเมริกา และยุคคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งมั่นอยู่กับฝ่ายเสรีนิยมอเมริกา ที่พยายามผลักดันตัวเองให้เป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยเต็มตัว

วัยรุ่นนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นนักเขียนนักคิดประเภท “เอียงซ้าย” หรือ “หัวก้าวหน้า” เป็นที่เพ่งเล็งจากรัฐบาล ตั้งแต่ปลายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงต้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ ล้มล้างจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ออกไปนอกประเทศจากการปฏิวัติเมื่อ 16 กันยายน 2500

หลังจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ขณะนั้นบางฉบับเป็นฝ่ายค้านประณามจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รุนแรง เมื่อจอมพลสฤษดิ์กลับมาปฏิวัติอีกครั้งเดือนตุลาคม 2501 จึงมีการ “พังแท่นพิมพ์” จับนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งเข้าเรือนจำลาดยาว จัดการกับบรรดาวัยรุ่น และจับกุมผู้ไม่มีการงานเป็นหลักแหล่งในข้อหาอันธพาลตั้งแต่ก่อนหน้านี้ กระทั่งแม้นิสิตนักศึกษาเองยังหยุดการเคลื่อนไหว

ธันวาคม ปี 2506 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม ถ่ายทอดอำนาจเป็นรัฐบาลเผด็จการต่อตั้งแต่เดือนธันวาคม 2506 ถึง 2512 นิสิตนักศึกษาจึงเริ่มขบวนการก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เคลื่อนไหวทางการเมือง มีการเดินขบวนและชุมนุมหลายครั้ง

ที่สุดจึงมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ด้วยการออก “ล่าชื่อ” ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน กระทั่งมีการจับกุมผู้ก่อการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน มีธีรยุทธ บุญมี เป็นหัวหอก จนเกิดการชุมนุมให้ปล่อยตัว แต่ไม่สำเร็จ มีการชุมนุมใหญ่ และเกิดกรณี 14 ตุลา 16

จอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกที่ถูกขนานนามว่า “ทรราช” จึงต้องระเห็จออกนอกประเทศ

 

หลัง 14 ตุลา 16 เป็นยุคที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” มีผู้ขอหัวหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก และมีผู้พยายามออกหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง

ก่อนหน้านั้น ทั้งสุจิตต์และขรรค์ชัยเริ่มเป็นนักข่าวนักเขียนที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขณะที่เสถียร จันทิมาธร ทำงานหนังสือพิมพ์มาหลายฉบับ และเข้าประจำที่สยามรัฐอยู่ก่อน (หากจำไม่ผิด)

เมื่อผู้ที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน คือต้องการทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์ ประกอบกับได้รับความไว้วางใจจากผู้ก่อตั้งสยามรัฐ ทั้งสามจึงเริ่มปรับปรุงการนำเสนอทั้งข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รวมทั้งการจัดหน้าหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายให้ทันสมัยและน่าอ่านตามความคิดเห็นของคนหนุ่มที่ไฟแรงโหมกระหน่ำ

หลังจากนั้นทั้งสามคนได้รับ “ซองขาว” ออกจากสยามรัฐเพียงไม่นาน เสถียรไปทำหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยในยุคมานะ แพร่พันธุ์ เป็นบรรณาธิการ ก่อนปิดตัวเอง และย้ายมาออกหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ขรรค์ชัยไปเป็นนักข่าวนักเขียนที่ไทยรัฐ สุจิตต์เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

เมื่อสุจิตต์กลับมาจากอเมริกา ปี 2515 ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ กับพวกจึงร่วมกันลงทุนก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศในซอยแพร่งสรรพศาสตร์ ด้วยเหตุผลของสุจิตต์ว่า การทำหนังสือพิมพ์ ต้องมีฝ่ายผลิต หรือโรงพิมพ์เป็นหลัก

จากนั้นขรรค์ชัยจึงไปขอประทานชื่อหนังสือพิมพ์ (หรือหัวหนังสือพิมพ์) ประชาชาติรายสัปดาห์ จาก “พระองค์วรรณฯ” ซึ่งพระองค์ได้ประทานมาพร้อมจดหมายแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการออกหนังสือพิมพ์ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าต้องการให้ประชาชนรู้จักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ขรรค์ชัยเป็นผู้มีความตั้งมั่นในการจัดทำหนังสือเพื่อการอ่านมานาน เมื่อก่อตั้งโรงพิมพ์แล้วจึงออกนิตยสาร “ประชาชาติรายสัปดาห์” เล่มแรก ก่อนจะออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ซึ่งไปขอประทานหัวหนังสือจากพระองค์วรรณฯ มาอีกครั้งหนึ่ง

กระทั่งเมื่อเปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เป็นรวมประชาชาติ ย้ายที่ทำงานจากถนนสุขุมวิท มาอยู่ที่อาคารตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง เสถียร จันทิมาธร จึงมาร่วมงานด้วย ดูแลหน้าบันเทิงตามถนัด และเขียนบทความ วิจารณ์หนังสือ

กระทั่งก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพียงวันสองวัน เสถียรหายไปจากกองบรรณาธิการ เข้าใจว่าช่วงนั้นมีผู้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสู่ป่าดงพงไพร หรือต่างประเทศเช่นเดียวกับเสถียรหลายคน

 

แม้นักข่าวนักเขียนของรวมประชาชาติจะหายหน้าหายตาไปบ้าง เหตุคือ 6 โมงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ สั่งปิดหนังสือพิมพ์และหนังสือทุกฉบับ เราจึงตกงานโดยปริยาย

เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ขรรค์ชัยกลับมาฟื้นฟูโรงพิมพ์พิฆเณศอีกครั้ง เริ่มหางานป้อนเข้ามา หาเงินผ่อนใช้หนี้ค่ากระดาษ ค่าหมึก และค่าอื่นๆ ชักชวนให้ผู้ที่ยังเตร็ดเตร่ในกรุงเทพมหานครกลับมาร่วมงานอีกครั้ง ในบางตำแหน่งที่ทำงานของกองบรรณาธิการและงานโรงพิมพ์ เช่น ปรู๊ฟ หรือพิสูจน์อักษร ซับเอดิเตอร์ บางคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เช่น เจ้าพระยาของรัฐบาล

บางคนเช่นผมออกบวช ก่อนจะลาสิกขากลับมาร่วมงาน ขณะที่ขรรค์ชัยออกหนังสือรายเดือนชื่อ “พาที” ผมเข้ามาช่วยทำในช่วงนั้น

ที่สุด เมื่อรวบรวมกำลังพลได้พอสมควร มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากการยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และนายสมัคร สุนทรเวช ของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กับคณะปฏิวัติเดิม ขรรค์ชัยจึงมีโอกาสกลับมาทำหนังสือพิมพ์อีกครั้ง

หนังสือพิมพ์มติชนออกมาได้เพียงปีสองปี บรรดาพี่เพื่อนน้องจากพงไพรกลับสู่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเสถียร จันทิมาธร เย็นนั้นขรรค์ชัยสั่งให้ผม “Welcome home” ตามลำพังสองคนประสาพี่น้อง