“เปลี่ยนยุค” การศึกษาไทยก็ “เปลี่ยนยับ” เราคาดหวังอะไรจากการปฏิรูปได้บ้าง?

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ประเด็นเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” ดูเหมือนจะถูกพูดถึงและเรียกร้องหาอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่เราพบเห็นคือ เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้คุมกระทรวง หรือโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ก็มักมีการเปลี่ยนแผนปรับนโยบายทิศทางการทำงานกันจนไม่มีเสถียรภาพ

ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรากฐานอนาคตของชาติ และเป็นงานที่ใช้งบประมาณสูงสุดอัดฉีดเข้าไปในแต่ละปี

 

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยลีพรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา, ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า บ่อยครั้งที่เราจะมักได้ยินคำกล่าวทำนองว่า ปฏิรูปการศึกษามาสองปี ยังไม่เห็นผลเลย

ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเรื่องการศึกษาต้องใช้เวลาฟูมฟัก 5-12 ปีเป็นอย่างต่ำในขั้นพื้นฐาน และสิ่งเหล่านี้ก็สร้างความกดดันให้แก่ทั้งผู้ปฏิรูปและผู้ที่คาดหวังผลของการปฏิรูป

ผศ.นพ.เฉลิมชัย ยอมรับด้วยว่า หากจะกล่าวว่าการศึกษาไทยไม่นิ่งสักทีก็เป็นเรื่องจริงอีก ถือว่าเป็นความโชคไม่ดีของบ้านเรา ที่ระบบการเมืองกับการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ไปด้วยกันได้

เพราะการศึกษาไม่ใช่ตัวสร้างคะแนนเสียงรวดเร็วภายใน 4 ปี เพื่อให้พรรคการเมืองหนึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งจนได้เป็นรัฐบาล หากเทียบกับนโยบายด้านปากท้อง สาธารณสุข และคมนาคม

แม้ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอเข้าไปอยู่ในรัฐบาล เรื่องสำคัญนี้ก็มักถูกลดความสำคัญลง

รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. สรุปถึงสิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจเป็นความหวังที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษา “นิ่ง” และ “ต่อเนื่อง” มากขึ้น นั่นคือการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในหมวด จ. ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไป

โดยสรุป ในแผนจะเขียนว่าการศึกษาภาคบังคับและนอกระบบต้องดำเนินไปอย่างไร ที่สำคัญคือมีการวางยุทธศาสตร์ให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ครอบครัวที่มีฐานะยากจน-ด้อยโอกาสต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม

และเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนเรื่องกองทุนให้เด็กได้มีโอกาสรับการศึกษา รวมถึงกองทุนพัฒนาครูและคณาจารย์ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานที่ไม่ต้องแก้ไข แต่เป็นความนิ่งที่เขียนไว้ชัดเจน ควบคู่กับนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานภายใต้กำกับกำลังดำเนินการอยู่

 

เมื่อสอบถามถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของการศึกษาไทย ผศ.นพ.เฉลิมชัย ชี้แจงว่าจุดแข็งมีอยู่ คือทุกคน ทุกช่วงอายุ และทุกอาชีพ เห็นตรงกันว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ

ผนวกกับงบประมาณที่ถูกจัดไว้อย่างดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ, การมีสัดส่วนจำนวนบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมระดับโลก และการมีชั่วโมงเรียนอยู่ในมาตรฐานอันดับต้นๆ ของโลก

ทว่า ไปๆ มาๆ จุดแข็งเหล่านี้ กลับสวนทางกับผลการประเมินที่ออกมา เช่น การสอบ PISA ที่ผลออกมาว่าความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 จาก 70 ประเทศ

ผลคะแนนดังกล่าวสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการจัดการศึกษามีปัญหา เช่น เรากระจายครูไปได้ไม่ทั่วถึงในทุกพื้นที่

ส่วนงบประมาณที่ว่าเรามีพอ ก็กระจายไปไม่ถึงตัวหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนไม่ดี เงินกลับไปอยู่ที่การก่อสร้างอาคารสถานที่ ติดตั้งอินเตอร์เน็ต ซื้อคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ แต่ตัวเนื้อหาที่เป็นซอฟต์แวร์ กลับไม่แบ่งงบประมาณลงไป ทั้งที่เนื้อหาเป็นส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้มากกว่า

ผศ.นพ.เฉลิมชัย เล่าว่า จากการไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เขาไม่ได้ให้เด็กมีเครื่องคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตทุกคน แต่เนื้อหาการเรียนรู้จากครูและการโต้ตอบสัมพันธ์กับครูผู้สอนถือเป็นสิ่งสำคัญกว่า

เขาใช้เงินพัฒนาครูให้มีเครื่องมือและกลวิธีการสอน ขณะที่นักเรียนอัตราส่วน 1 ใน 4 ต้องผลัดกันใช้คอมพิวเตอร์ที่มีจำกัด

ยิ่งกว่านั้น โรงเรียนในสหรัฐที่มีงบประมาณจำกัด ยังต้องเลือกระหว่างการลงทุนจ้างครูพละเก่งๆ กับการสร้างฝาผนังชั้นดีที่โรงยิม ซึ่งกรรมการโรงเรียนส่วนใหญ่มักตัดสินใจจ้างครูที่เก่งและดี แต่ถ้าเป็นเมืองไทยเราคงนึกออกว่าในกรณีเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องจะตัดสินใจให้มีอะไร!

 

อย่างไรก็ตาม สนช. ด้านการศึกษา เตือนประชาชนว่าอย่าวิตกกับผลคะแนน PISA ของเด็กไทยให้มากนัก เพราะเป็นการวัดแค่บางเรื่องเท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงคุณธรรม จริยธรรม สุขภาพ หัตถกรรม หรือการฝีมือ

ที่สำคัญ ผลการประเมินคุณภาพทางการศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดมากมาย สังเกตจาก 8 อันดับแรก ที่ได้คะแนนดีเยี่ยม มีแนวโน้มจะเป็นประเทศที่มีพลเมืองน้อย อาทิ ฮ่องกง เอสโตเนีย และฟินแลนด์ เพราะประเทศเหล่านี้มีโอกาสทำคะแนนเฉลี่ยสูงๆ ได้ง่าย

ซึ่งถ้าเทียบกับเฉพาะกรุงเทพฯ เราก็ชนะแน่นอน เช่นเดียวกับจีน ซึ่งถ้าวัดแค่เซี่ยงไฮ้เมืองเดียวก็ได้ที่ 1 ของโลก แต่พอไปรวมกับเมืองอื่นๆ คะแนนเฉลี่ยก็ลดลงทันที

เมื่อมาพิจารณาข้อมูลของไทย จาก 77 จังหวัด มี 30 จังหวัด ที่เราคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยยุโรป แต่อีก 40 กว่าจังหวัด กลับมีคะแนนแย่ชนิดที่ดึงเราลงไปได้ คล้ายกับที่อังกฤษและอเมริกาก็ไม่ติด 10 อันดับแรก เนื่องจากประเทศเขามีความเหลื่อมล้ำและความหลากหลายทางการศึกษา

ฉะนั้น 40 จังหวัดที่ได้คะแนนไม่ดี จึงไม่ต้องไปดูงานที่ไหนไกล แต่ควรไปดูที่ 30 จังหวัด ซึ่งได้คะแนนดี เพราะเป็นโรงเรียนแบบเดียวกัน ใช้หลักสูตรเหมือนกัน งบประมาณที่ได้ก็พอๆ กัน แต่เขากลับมีคะแนนเฉลี่ยดีกว่ายุโรป

“เร็วๆ นี้มีใครสักคนมักบ่นว่าหมดหวังกับการศึกษาไทยแล้ว แต่ส่วนตัวผม ผมเหนื่อยใจแต่ไม่หมดหวัง ต้องยอมรับเหตุผลอันที่หนึ่งว่า วัฒนธรรมไทย-ต่างประเทศ ต่างกัน ตรงที่ไทยเราคิดว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องของพ่อแม่อีกต่อไป เมื่อส่งเข้าโรงเรียนก็หมดหน้าที่แล้ว เป็นการคาดหวังผลที่ดูจะเกินความจริงไปอย่างมาก

“ในต่างประเทศ พ่อแม่เข้ามามีส่วนในการศึกษา การเข้าไปสัมพันธ์กับระบบในโรงเรียนถือเป็นหน้าที่สำคัญ แต่พ่อแม่ของไทยกว่าครึ่งกลับไม่ไปโรงเรียนเมื่อถูกเชิญ หรือไปแล้วรีบกลับ เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ และเป็นเรื่องของโรงเรียน นี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของการศึกษาไทย

“จากนี้ต้องรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาร่วมมีส่วนในการจัดการศึกษา โดยไม่ลดความรับผิดชอบของครูและโรงเรียนลง ถ้าเป็นอย่างนี้ การศึกษาไทยยังมีหวัง เพราะที่ผ่านมาเราฝากและคาดหวังว่าครูและโรงเรียนจะต้องทำให้ลูกเราเก่งดีมีสุข เราเลยรู้สึกหมดหวังเมื่อไม่ได้ดั่งใจ แต่ถ้าพ่อแม่เข้ามาร่วมมีเวลาให้อย่างเหมาะสม

“เรายังมีหวังกับการศึกษาไทยแน่นอน”

 

ผศ.นพ.เฉลิมชัย วิจารณ์ว่าค่านิยมหนึ่งของสังคมไทย คือการที่เรามักไปวัดผลที่ “ความรู้” มากกว่าการสร้างให้เด็กมีศักยภาพด้าน “ปัญญา”

ส่วนมากการเรียนการสอนมักเป็นไปเพื่อให้เด็กมี “ความรู้” ซึ่งผู้เรียนจะไม่รู้เกินไปกว่าครูผู้สอน นั่นหมายความว่าคนเก่งที่สุดคือคนที่จำครูพูดได้มากที่สุด แต่ถ้าเราจัดการเรียนรู้ให้เน้นการเกิด “ปัญญา” ผู้เรียนจะรู้จักคิดเพิ่มเติมเกินกว่าที่ครูสอน หรือรู้จักการคิดนอกกรอบ

สิงคโปร์เน้นการศึกษาในแบบหลัง ขณะที่บ้านเราก็พยายามนำมาใช้ แต่คนกลับไปวิจารณ์กันในเรื่องของการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว “การลดเวลาสอน เพิ่มเวลาเรียนรู้” หมายถึงลดการสอนแบบเนื้อหา เพื่อเอาเวลาไปเพิ่มให้แก่การเรียนรู้ต่อยอดสร้างปัญญา และคิดนอกกรอบ

อีกหนึ่งเรื่องที่คนมักวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาไทยคือ ระบบที่ต้องเรียนตามตารางที่อัดแน่น บางวิชาบางหัวเรื่องไม่รู้จะนำไปใช้อะไร ส่งผลให้เด็กไม่รู้ตัวว่าชอบอะไรกันแน่ บางคนซิ่วแล้วซิ่วอีก

ผศ.นพ.เฉลิมชัย ยอมรับว่าสภาพการณ์เป็นอย่างนั้นจริงๆ สังคมเราต้องการแค่เพียงว่าจบแล้วไปทำอาชีพ อะไร ต่างประเทศเขาเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ เพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จบแล้วค่อยคิดเรื่องอาชีพ สังคมเราไม่ชอบวิธีคิดแบบนี้

ฉะนั้น นี่จึงเป็นที่มาของ “วิชาศึกษาทั่วไป” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งทุกคณะไม่ว่าใครจะจบไปเป็นแพทย์ วิศวะ พละ วิทยาศาสตร์ ทุกคนต้องเรียนเรื่องการคำนวณดอกเบี้ย การเสียภาษี การแบ่งสรรสัดส่วนเงินเดือน ผ่อนบัตรเครดิตสินเชื่อ ไม่ใช่เรียนตรีโกณมิติ แคลคูลัส

เพราะความสำคัญในพลังของการออมสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้มากกว่า เช่นเดียวกับทักษะเมื่อเกิดภัยพิบัติ อาทิ สึนามิ น้ำท่วม ทักษะชีวิตเหล่านี้นักศึกษาต้องมี และมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งก็เริ่มจัดสอนแล้ว

ขณะเดียวกัน ค่านิยมของบ้านเราที่มีต่อการเรียนอาชีวะก็เป็นปัญหา ตนอยากเสนอแนวคิดให้คนหันมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้ผู้จบอาชีวะได้เงินเดือนสูงกว่าคนจบปริญญาตรีเล็กน้อย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เรียน และเพื่อให้เกิดความสมดุลในการวางนโยบาย

สุดท้าย สนช. รายนี้เชื่อว่า แสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับการศึกษาไทยยังมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ ไปรับฟังบรรดาคุณครู ซึ่งทุกคนต่างพร้อมที่จะปฏิรูปตัวเอง เพื่อให้การศึกษาของลูกศิษย์พัฒนาไปข้างหน้า

อันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่ง