รากฐาน จิตเดิมแท้ คือ ประภัสสร แห่ง “จิต” วิถีแล่นไป แห่งสติ

เมื่อล่วงเข้าสู่หัวข้อว่าด้วย “จิตว่างในฐานะที่เป็นภาวะหลักมูลของจิต” ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน เข้าสู่การเน้นให้เห็นกระบวนการของท่านพุทธทาสภิกขุอย่างแยบยล

นั่นก็คือ บทสรุปที่ว่า “จิตเดิมแท้” ดำรงอยู่อย่างไร

พลันที่คำว่า “จิตเดิมแท้” ได้รับการหยิบยกเข้ามา หลายคนยังบังเกิดนัยประหวัดไปยัง “สูตรของเว่ยหล่าง” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตรงนี้น่าจะมาจาก “ประภัสสรแห่งจิต” มากกว่า

การเน้นของท่านพุทธทาสภิกขุบนฐานความเชื่อมั่นที่ว่า “จิตเดิมแท้” เปี่ยมด้วย “ประภัสสร” มากด้วยความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส จึงนำไปสู่ข้อเสนอในลักษณะของการ “เฝ้าระวัง”

เฝ้าระวังในทางความคิด เฝ้าระวังในทางความรู้สึก และในที่สุด ก็นำไปสู่การดำรงอยู่อย่างมีสติทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก

นั่นก็คือ สติสัมปชัญญะ นั่นก็คือ สติปัญญา

เห็นหรือยังถ้อยคำในลักษณะศัพท์บัญญัติเหล่านี้ในทางพระพุทธศาสนามากด้วยความรัดกุมคำนึงถึงหลักและกระบวนการในทางความคิดอย่างสุขุมคัมภีรภาพ

การอ่านบทสังเคราะห์โดย ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูงในการทำความเข้าใจในเรื่องความคิด ในเรื่องการเคลื่อนไหวอันเป็นผลสะเทือนจากในทางความคิด ต่างมีความสัมพันธ์และมีผลต่อกัน

ต้องอ่าน

 

เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ที่จะแปลความหมายของคำว่าอนัตตา “อย่างมีประโยชน์” นั่นก็คือ ทำให้พระพุทธศาสนาในเชิงหลักคำสอนเป็นสิ่งที่ฆราวาสสามารถเข้าถึงได้และได้รับประโยชน์ ท่านพุทธทาสได้นิยามคำว่า “จิตว่าง” ในแง่ที่เป็นภาวะหลังมูลของจิตไว้ดังนี้

คือ

“อาตมาเห็นว่าจิตของคนเรานั้นโดยพื้นฐานแล้วว่างอยู่จากกิเลส ตามปรกติจิตจะว่างจากกิเลสอยู่โดยพื้นฐาน ดังนั้น คนเราจึงมีหน้าที่ (ในการปฏิบัติทางจิต) เพียงแต่คอยสกัดกั้นกิเลสเอาไว้ให้อยู่ภายนอกด้วยสติปัญญา อย่าเปิดโอกาสให้มัน (กิเลส) เกิดขึ้น

“ขอให้เรารักษาความว่างของจิตว่างเดิมที่เป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วตลอดไป”

ในที่นี้ท่านพุทธทาสกล่าวว่า มลทินทางจิตใจหรือกิเลสซึ่งปิดกั้นหนทางสู่นิพพานนั้นไม่มีแก่นสารโดยตัวของมันเอง แต่มีขึ้นเพราะอิงอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

ภาวะที่ยอมให้กิเลสเกิดขึ้นเป็นมลทินของจิตใจก็คือ ความขาดสติ

สติหมายถึงความเฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คนเรารู้เท่าทันความคิดและการกระทำของตน เป็นผลให้คนเราเข้าถึงสมดุลทางจิตใจและศีลธรรมได้ สติหรือความระลึกได้นี้ใช้ในการฝึกสมาธิขั้นพื้นฐานในนิกายเถรวาท และตามปรกติจะพัฒนาขึ้นได้ด้วยการเฝ้าดูลมหายใจเข้าออก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านพุทธทาสแนะนำว่า

“การมีสติ คือ การคอยระวังตัวอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า หรือหายใจออก อย่าไปหลงอยู่กับการยึด ติด การมี การเอาและการเป็น”

 

เมื่อใครคนหนึ่งขาดสติเขาก็จะหลงไปเกี่ยวพันกับความคิดและการกระทำของตน ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นตัวก่อกิเลสขึ้นมารบกวนจิตของตนอีกทอดหนึ่ง

แต่เขาไม่จำเป็นต้องขุดหรือถอนเอากิเลสออกจากจิต

เพราะตามความเห็นของท่านพุทธทาสแล้วกิเลสไม่ได้มีแก่นสารที่แท้จริง นั่นก็คือว่า การที่คนเราพยายามกำจัดกิเลสด้วยการกดหรือข่มมันไว้อย่างแข็งขันนั้นย่อมหมายถึงการหลงผิดคิดว่ามันมีลักษณะเชิงบวกอยู่ในตัว

ในระบบความคิดของท่านพุทธทาสนั้น คนเราไม่จำเป็นต้องกำจัดกิเลสแต่ต้องป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น โดยใช้สติทุกขณะ และไม่สร้างภาวะหรือเงื่อนไขที่กิเลสจะใช้ก่อตัวขึ้น

นี่คือการใช้หลักของจิตว่าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความพยายามของท่านพุทธทาสที่จะตีความหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเสียใหม่ เพราะสิ่งนี้บ่งบอกว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์และปราศจากกิเลส

เมื่อทราบกันแล้วว่าท่านพุทธทาสนิยามให้จิตว่างเป็นบาทฐานของการเข้าถึงนิพพาน สิ่งที่ท่านเห็นว่าควรทำต่อไปเพื่อเริ่มการปฏิบัติให้ถึงนิพพานก็คือ เพียงแต่ “ดำรงสติ” เพื่อรักษาจิตเดิมแท้ที่บริสุทธิ์อยู่แล้วไม่ให้กิเลสมารบกวน

นี่คือวิธีปฏิบัติทางจิตเพื่อเข้าถึงนิพพานที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ง่ายกว่าระบบการฝึกสมาธิที่ซับซ้อนแบบดั้งเดิมของชาวพุทธ

สรุปว่า การตีความหลักคำสอนตามแบบจิตว่างของท่านพุทธทาสซึ่งกำหนดให้จิตว่างหมายถึงทั้งภาวะพื้นฐานของจิตและบาทฐานของนิพพานนั้นได้ช่วยลดความซับซ้อนในการฝึกจิตตามแบบดั้งเดิมของชาวพุทธลงมาอย่างมาก ทำให้ฆราวาสสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

 

ยิ่งหากศึกษาคำบรรยายเรื่อง “สติ” ของพุทธทาสภิกขุ ยิ่งจะพบนิยามและการทำความเข้าใจต่อสติอย่างมองเห็นรูปธรรม นั่นก็คือ

คำว่า “สติ” แปลว่าแล่นไป อย่างเร็วเหมือนลูกศร มันไม่มีอะไรเปรียบ จึงเปรียบเหมือนเร็วราวกับลูกศรมาทันเวลาคุ้มรองได้ แม้ว่ากระแสกิเลสจะไหลเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ สติมันก็เร็วพอที่จะมาสกัดกั้นกระแสเหมือนสายฟ้าแลบ แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์

เช่นเดียวกับ “กข กกา ของการศึกษาของพุทธศาสนา” สติเป็นของประหลาดที่ว่า มันเป็นทุกอย่าง เป็นทุกเวลา เป็นทุกสถานที่ สติที่เรียกว่าสติ สติอย่างเดียวเท่านั้น คือ ความเป็นผู้มีสติ

คือรู้สึกตัว มีสมปฤดี หรือปัญญาความรู้สึกตัวอยู่ก่อนแต่ที่จะคิด จะพูด จะทำอะไรลงไป