สุรชาติ บำรุงสุข | เมื่อฤดูใบไม้ผลิกลับมาอีกครั้ง: กระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สาเหตุที่ทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ [ในโลกอาหรับ] ในปี 2011 และยังคงเป็นสาเหตุในปัจจุบันที่ซูดานและแอลจีเรียก็คือ การเมืองของการหลอกลวง เช่น เมื่อประธานาธิบดีกล่าวว่า ข้าพเจ้าชนะร้อยละ 85 หรือ 99 ในโพล แต่เมื่อคุณไปที่ไหนก็ตาม จะพบว่าไม่มีใครยอมรับเขาเลย”

Mohammed Alyahya บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์อัล อราบิยา

ปี2019 เป็นความหวังของนักประชาธิปไตยอีกวาระหนึ่ง คลื่นอาหรับสปริงลูกที่สองหวนกลับมาให้เห็นในซูดานและแอลจีเรีย หลังจากกระแสประชาธิปไตยลูกแรกพัดจนเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญของโลกในปี 2011 มาแล้ว

แต่ในที่สุดแล้วคลื่นลูกแรกก็สะดุดลงด้วยรัฐประหารในอียิปต์ในปี 2013

ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองในซีเรีย ลิเบีย และเยเมน จนดูเหมือนว่าความหวังที่จะเห็นการก่อตัวของกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับอาจจะกลายเป็นเพียงความฝัน

แต่สุดท้ายแล้วเมื่อประชาชนในซูดานและแอลจีเรียตัดสินใจที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ด้วยการเดินบนถนนเพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ต้องการรัฐบาลเผด็จการและต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำทหารของประเทศก็ตัดสินใจอย่างชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะยุติการสนับสนุนระบอบการปกครองเดิม และเมื่อนั้นรัฐบาลเผด็จการที่มีอำนาจอย่างยาวนานในสองประเทศ ก็ถึงเวลาที่จะต้องยุติบทบาท…

สถานการณ์เช่นนี้ดูจะไม่แตกต่างจากคลื่นประชาธิปไตยลูกแรกในปี 2011 เท่าใดนัก และหวังว่าคลื่นลูกที่สองจะเดินตามตูนิเซีย ที่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ได้

หมาป่าที่เฝ้ารอเหยื่อ

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในโลกอาหรับมีความท้าทายอย่างมาก

พวกเขาไม่เพียงต้องเผชิญกับมรดกทางการเมืองของระบอบอำนาจนิยมที่ทิ้งค้างไว้เท่านั้น

หากแต่ยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการและการคอร์รัปชั่นของผู้นำเผด็จการอีกด้วย

ดังนั้น คงต้องตระหนักเสมอว่า โจทย์ของรัฐบาลประชาธิปไตยมีสองปัญหาใหญ่คู่ขนานที่จะต้องแก้ไข

และทั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ยังต้องเผชิญกับความคาดหวังของประชาชนที่เชื่อว่า เมื่อสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการได้แล้ว ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น

โดยเฉพาะความคาดหวังกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ฉะนั้น อาจจะต้องยอมรับว่า หลังการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น อาจจะตามมาด้วยความวุ่นวายและการเรียกร้องทางการเมือง

ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยใหม่จะเผชิญในภาวะเช่นนี้อีกประการก็คือ ข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ

บทเรียนจากอียิปต์ชี้ให้เห็นว่า หลังจากชัยชนะของอาหรับสปริงที่ไคโรแล้ว สิ่งที่ตามมากลับไม่เป็นไปตามความคาดหวังทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าในภาวะของความวุ่นวายเช่นนี้ ผู้ที่เฝ้ามองดูสถานการณ์อยู่เงียบๆ ด้วยความอดทนเสมือนดัง “หมาป่าที่เฝ้ารอเหยื่อ” คือผู้นำทหารพร้อมที่จะฉวยประโยชน์จากสภาวะเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าที่ไคโรนั้น ผู้นำทหาร “เก่ง” ที่จะเล่นกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง พวกเขารู้ว่าเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีมูบารัคไม่สามารถควบคุมการประท้วงของฝูงชนบนท้องถนนได้ เมื่อนั้นกองทัพก็พร้อมถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล

ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้ “สภากองทัพ” (military council) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายทหารที่เฝ้าติดตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศที่การโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมนั้นมีกองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และพร้อมเสนอตัวเข้ามาเป็น “ผู้ดูแล” การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้น

เมื่อสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเดินมาถึง “จุดสุกงอม” ที่ประชาชนมีปัญหากับรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน หรือประชาชนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลใหม่ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้อย่างที่ต้องการ

แล้วผู้นำทหารก็พร้อมที่จะ “ฉวยโอกาส” ด้วยการถอนความสนับสนุนจากรัฐบาลพลเรือนของประธานาธิบดีมูร์ซี่ (Mohamed Mursi) ซึ่งไม่ต่างกับเมื่อครั้งที่พวกเขาทิ้งประธานาธิบดีมูบารัคมาแล้ว

แล้วการเมืองชุดนี้ก็จบลงด้วยรัฐประหารในปี 2013 เมื่อนายพลซิซี (Gen. Abdel Fattah al-Sisi) ตัดสินใจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีครั้งแรกในการเมืองอียิปต์

หลังจากรัฐประหารแล้ว ผู้นำทหารยอมเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2014 และคาดได้ทันทีในกรณีนี้ว่า ผู้ชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือนายพลซิซี

และเขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2018

โดยในทั้งสองกรณีนั้นเขาได้รับเสียงสนับสนุนมากถึงร้อยละ 97 และขณะเดียวกันเขาก็ใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ผลจากการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกแก้ไขจึงเปิดโอกาสให้เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึงปี 2034

ดังนั้น แม้เขาจะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

และเป็นที่รับรู้กันว่าการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

ทหารหลังม่านการเมือง

บทเรียนในเรื่องนี้จากไคโรเป็นข้อเตือนใจนักประชาธิปไตยในทุกประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอียิปต์เป็นเสมือนการเปลี่ยนผู้นำทหารในการปกครองประเทศคือ เปลี่ยนจากประธานาธิบดีมูบารัคมาเป็นประธานาธิบดีซิซี และอำนาจก็ยังคงอยู่ในมือของผู้นำกองทัพต่อไป

การเปลี่ยนผ่านด้วยเหตุการณ์อาหรับสปริงที่ยิ่งใหญ่ในปี 2011 จึงเป็นดังภาวะชั่วคราว ที่ไม่สามารถเป็นปัจจัยผลักดันให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในอียิปต์เกิดขึ้นจริง

ในสภาพเช่นนี้ระบอบการปกครองของนายพลซิซีจึงมีลักษณะเป็น “พันทาง” หรือเรียกว่าเป็นระบอบ “ไฮบริด” คือเป็นระบอบอำนาจนิยมที่แอบอิงใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง

นอกจากนี้ ในการเข้ามาของผู้นำทหารอียิปต์นั้น เห็นได้ชัดอีกประการว่าคำสัญญาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้คนในสังคมรู้สึกต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น และเมื่อรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว โอกาสที่รัฐบาลที่ยอมเปิดให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นในสังคมย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทางเลือกของรัฐบาลอำนาจนิยมจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือการปราบปรามประชาชน…

ฤดูใบไม้ผลิที่ไคโรไม่ได้อบอุ่นและน่าอภิรมย์ใจอย่างที่หวัง!

อาหรับสปริงที่ซูดานมีความคล้ายคลึงสถานการณ์ของอียิปต์ เพราะส่วนหนึ่งของชัยชนะในครั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนบทบาทของทหาร จาก “ผู้สนับสนุน” กลายเป็น “ผู้กดดัน” ระบอบเดิม จนผู้นำเผด็จการจำเป็นต้องยอมลงจากอำนาจ

สภาวะเช่นนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ

อันส่งผลให้เกิดการเรียกร้องในซูดานที่ต้องการลดบทบาทของกองทัพในการเมืองลง

เช่น เมื่อรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลเดิมยอมลาออก หลังจากการประกาศว่าประธานาธิบดีบาเชียร์ถูกควบคุมตัว และเสียงเรียกร้องของผู้ประท้วงไม่ยอมรับการที่รัฐมนตรีคนนี้จะทำหน้าที่เป็นประธาน “สภาทหาร” อีกต่อไป

ผู้นำทหารคนใหม่คือนายพลบูร์ฮาน (Abdel Fattah al-Burhan Abdelrahman) พยายามที่จะเสนอว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และในการนี้ผู้นำทหารเสนอตัวเข้ามาเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”

ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ในอียิปต์ที่เมื่อประธานาธิบดีมูบารัคถูกโค่นลงแล้ว ผู้นำทหารได้เสนอให้กองทัพเป็น “ผู้ดูแล” การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น

น่าสนใจว่าสื่อทั้งในอียิปต์และในซูดานมีความรู้สึกคล้ายกันว่าชะตากรรมของการเรียกร้องประชาธิปไตยในซูดานจะต้องไม่จบลงแบบอียิปต์ และถึงกับมีการเปรียบเทียบนายพลซิซีและนายพลบูร์ฮานให้เป็นคำเตือนว่า การเปลี่ยนผ่านที่ซูดานต้องไม่จบลงด้วยการแทรกแซงของทหาร

แม้ในอีกด้านหนึ่งของนักเคลื่อนไหวจะมีความรู้สึกว่า กองทัพอาจเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับฝ่ายประชาธิปไตยได้

และหวังว่ากองทัพจะแสดงบทบาทเชิงบวกในการเป็นปัจจัยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น

ประเด็นสำคัญในกรณีนี้ก็คือ ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่าสุดท้ายแล้วผู้นำทหารจะไม่ตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้ง

บทเรียนจากอียิปต์จึงเป็นคำเตือนที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง และอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า “ถ้าคุณเรียกทหารออกมาให้แทรกแซงเพื่อแก้ไขวิกฤต [การเมือง] แล้ว ทหารอาจจะทำสิ่งนี้ได้ แต่ทหารทำอย่างอื่นมากกว่านี้ไม่ได้” (คำกล่าวของนักวิจารณ์การเมืองซูดาน)

ในแอลจีเรียก็มีความคล้ายคลึงเช่นกัน เมื่อผู้บัญชาการทหารบก (Lt. Gen. Ahmed Gaed Salah) ใช้วิธี “รัฐประหารเงียบ” ด้วยการบังคับไม่ให้ประธานาธิบดีบูร์เตฟลิกา (Bouteflika) ที่มีอายุถึง 82 ปีและมีอาการป่วยทางร่างกาย ไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สี่ หลังจากที่เกิดการประท้วงอย่างหนัก

และมีแนวโน้มว่าการต่อต้านรัฐบาลจะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ยอมรับรัฐบาล ผู้นำทหารจึงตัดสินใจเลือกยืนข้างประชาชน

ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดีถูกควบคุมตัวแล้ว รัฐสภาแอลจีเรียได้รีบออกประกาศแต่งตั้งผู้นำรัฐบาลชั่วคราว

ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นคนที่มาจากกลุ่มชนชั้นนำ และขณะเดียวกันผู้นำกองทัพได้ประกาศสนับสนุนรัฐบาลใหม่ และประกาศกำหนดเวลาการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ชี้ชัดว่าการเปลี่ยนผ่านในแอลจีเรียยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ และในสภาพดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากองทัพจะมีบทบาทเป็น “ผู้จัดการ” รัฐบาลในอนาคต

ฉะนั้น บทเรียนจากอียิปต์จึงเป็นคำเตือนอย่างดีสำหรับนักเคลื่อนไหวในซูดานและแอลจีเรียว่า เมื่อการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้ร่มเงาของทหารนั้น การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องใส่ใจ

ทั้งยังจะต้องระมัดระวังไม่ให้จบลงแบบอียิปต์ด้วย

ยุทธศาสตร์คู่ขนาน

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอีกประเด็นที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้ว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นชนวนของการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในหลายประเทศก็คือ สภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ

ในอาหรับสปริง 2011 เห็นได้ชัดว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจมีส่วนอย่างสำคัญในการเป็นแรงผลักดันให้คนออกมาบนถนน

ดังนั้น แม้การประท้วงของประชาชนจะทำให้ผู้ปกครองเก่าที่ประสบความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องจบลง แต่ผู้นำรัฐบาลใหม่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างงาน ลดทอนความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาความยากจน และขจัดการคอร์รัปชั่น

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้จึงมักจะกลายเป็นโอกาสให้ระบอบอำนาจนิยมหวนคืนมาอีกได้ไม่ยากนัก

ผู้นำการเปลี่ยนผ่านจะต้องตระหนักเสมอถึงความสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในชีวิตของประชาชน จะนำเสนอข้อเรียกร้องมีแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้

ระบอบอำนาจนิยมนั้นไม่แต่เพียงเป็นการกดขี่ทางการเมือง หากแต่ยังเอารัดเอาเปรียบประชาชนในทางเศรษฐกิจด้วย

นักประชาธิปไตยต้องคิด “ยุทธศาสตร์คู่ขนาน” ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ

ชีวิตของผู้คนในแอลจีเรียตอกย้ำให้นักประชาธิปไตยต้องคิดยุทธศาสตร์คู่ขนาน

กล่าวคือ ชาวแอลจีเรียหนึ่งในสี่ของคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีไม่มีงานทำ ผู้ประท้วงที่มีชีวิตที่ยากลำบากจึงต้องการให้รัฐบาลใหม่เปิดเศรษฐกิจเสรี ลดภาวะที่ประเทศต้องพึ่งพารายได้จากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเท่านั้น หรือการประท้วงในซูดานเริ่มจากราคาขนมปังที่สูงมากขึ้น เช่นที่ราคาขนมปังก็มีบทบาทอย่างมากในการพาคนออกมาบนถนนในตูนิเซียและอียิปต์ และด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นนี้ คนในสังคมจึงมีความเห็นร่วมกันว่าเวลาของรัฐบาลเผด็จการได้หมดลงแล้ว และพวกเขาต้องการรัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

เงื่อนไขเช่นนี้ชี้ให้เห็นในอีกด้านว่า การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่มีประชาธิปไตยเป็นประเด็นหลักแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีความตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญอีกด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ในคลื่นระลอกสองของการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับนั้น การประท้วงเป็นเรื่องของความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง หรือที่ชาวซูดานบางคนอธิบายว่า สิ่งที่เกิดในซูดานและในแอลจีเรียมาจากปัญหาความอดอยาก วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผสมผสานเข้ากับคลื่นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ พร้อมกับการมีรัฐบาลที่คอร์รัปชั่น

แน่นอนว่าฤดูใบไม้ผลิไม่สามารถนำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีกว่ามาได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดในระบอบการเมืองที่ไหนก็ไม่ต่างกันว่า ปัญหาเหล่านี้ถูกสร้างและสะสมมาอย่างยาวนาน แต่อย่างน้อยการมาของฤดูใบไม้ผลิเป็นความหวังว่า สังคมได้หลุดพ้นจากเผด็จการ และจะเป็นโอกาสที่ดีของการเริ่มต้นใหม่

หรืออย่างน้อยก็ดีกว่าที่จะอยู่กับระบอบเก่าที่คอร์รัปชั่นและมองไม่เห็นอนาคต!