ความรู้สึกของประชาชนต่อการเมืองหลังเลือกตั้งคือ “น่าเบื่อ”

สามัญสำนึกและอำนาจ

ความรู้สึกของประชาชนต่อการเมืองหลังเลือกตั้งคือ “น่าเบื่อ”

เมื่อ “สวนดุสิตโพล” ตั้งคำถามว่า “คิดอย่างไรกับโผ ครม.ที่เป็นกระแสข่าวในทุกวันนี้”

คำตอบร้อยละ 32.81 เห็นว่าปัญหาเยอะ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ การต่อรอง แย่งเก้าอี้กันวุ่นวาย, ร้อยละ 28.13 เห็นว่ารายชื่อที่ออกมาในบางตำแหน่งไม่เหมาะสม ควรตรวจสอบคุณสมบัติให้รัดกุม, ร้อยละ 24.22 มองว่าป็นการจัดสรรตามโควต้า มีแต่หน้าเดิมๆ ระบบพวกพ้อง เครือญาติ, ร้อยละ 15.63 เห็นว่าคลอดช้า ใช้เวลานานเกินไป, ร้อยละ 13.67 อยากเปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือเข้ามาทำงาน

มองจากคำตอบเหล่านั้น เท่ากับว่าความรู้สึกในภาพรวมไม่มีความหวังกับนักการเมือง

เมื่อเราเลือกที่จะประกาศกับสากลโลกว่าเราปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย”

นั่นหมายถึง ควรจะมีภาระที่จะจัดการอำนาจหลักของระบอบนี้ให้เป็นอย่างที่คาดหวัง

อำนาจบริหาร ความเหมาะควรอยู่ที่การมีผู้นำที่ดีและชาญฉลาด มีสำนึกต่อการพัฒนาประเทศเพื่อความอยู่ดีกินดี มีความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมาย มีคณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่มีความสามารถเหมาะสมกับงานในหน่วยงานที่เข้าไปบริหาร มีสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน

อำนาจนิติบัญญัติ ต้องเป็นไปอย่างรู้ความต้องการของประชาชน ออกกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำหน้าที่ตรวจสอบโดยมีสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน

เช่นเดียวกับอำนาจตุลาการ ควรดำรงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เป็นหลักให้เกิดความหวังว่าจะได้รับความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเสมอภาค

ในโลกที่ทุกคนมีอำนาจในการสื่อสารสู่สาธารณะมากขึ้น

หากสติปัญญายังดำเนินไปในวิถีของสามัญสำนึกปกติ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นสภาพที่เป็นอยู่ของอำนาจหนัก เป็นไปตามที่เหมาะที่ควรจะเป็นหรือไม่

การแสดงออกสู่สาธารณะย่อมเป็นกระแสที่รับรู้ได้

สภาวะของอำนาจด้านต่างๆ ที่เห็นและเป็นอยู่ เมื่อเทียบกับสภาวะที่ควรจะเป็นแล้ว เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ย่อมสะท้อนออกมาในการสื่อสารนั้น

ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “10 อันดับ ปัญหาการเมืองไทยที่คาใจประชาชน” ร้อยละ 46.87 ชี้ไปที่การจัดตั้งรัฐบาลและเก้าอี้รัฐมนตรี, ร้อยละ 38.28 ยังอยู่กับการทุจริตคอร์รัปชั่น, ร้อยละ 33.38 ยังคาใจกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา, ร้อยละ 26.53 มองไปที่การบริหารประเทศของรัฐบาล และนโยบายประชารัฐ, ร้อยละ 25.62 เป็นเรื่องที่มา 250 ส.ว.และบทบาทอำนาจหน้าที่, ร้อยละ 22.13 ชี้ไปที่การบังคับใช้กฎหมาย และกฎหมายรัฐธรรมนูญ, ร้อยละ 21.85 คาใจเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. การถือหุ้นสื่อ, ร้อยละ 19.17 มองเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่, ร้อยละ 17.33 มองไปที่การใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ และร้อยละ 14.77 คาใจเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง

ความสุขของประชาชนไม่ว่าประเทศไหน ย่อมอยู่ที่ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ เชื่อถือในผู้บริหาร

มั่นใจว่ามีระบบเอื้อให้มีอำนาจที่จะยึดโยงต่อกลไกของระบบ

มีกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมั่นว่าจะอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

ปัญหาคาใจของประชาชน สะท้อนความเชื่อมั่นต่ออำนาจอธิปไตยหรือไม่

มองจากสามัญสำนึกปกติ ย่อมสัมผัสได้