หลังเลนส์ในดงลึก : “ทาง”

ช่วงเวลาก่อนที่ผมเลือกจะอยู่กับที่ ใช้วิธี “ฝังตัว” อยู่ในป่าแห่งเดียวเป็นเวลานานๆ

ผืนป่าแก่งกระจาน เป็นป่าแห่งหนึ่งที่ผมแวะเวียนไปบ่อยในฐานะที่เป็นป่าด้านตะวันตกซึ่งคล้ายจะเป็นศูนย์กลางของพันธุ์พืชและสัตว์รวมทั้งนก จากทางตอนใต้และทางเหนือ ทำให้มีโอกาสพบเจอนกและสัตว์ต่างๆ ได้มาก

ป่าแก่งกระจาน ในยุคที่ผมไปแรกๆ ต้องใช้เวลาเกือบ 5 วัน เพื่อเดินขึ้นยอดพะเนินทุ่ง ยอดเขาสูง 1,207 เมตร อันเป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาในป่าแห่งนี้

ต่อมา จากหน่วยพิทักษ์ป่า มีเส้นทางตัดขึ้นยอดเขาใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง

ถึงวันนี้ ดูเหมือนบนนั้นสามารถขับรถขึ้นไปได้

“สำเภา หนูอินทร์” พนักงานพิทักษ์ป่า ผมไม่ได้พบกับเขานานมาก

เขาคือผู้เดินร่วมทางกับผมเสมอๆ

พบกันครั้งล่าสุด ซึ่งก็นานแล้วเช่นกัน

ช่วงนั้นเขาเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า

บนเฉลียงบ้านพัก เราคุยถึงช่วงเวลาที่เคยเดินป่าด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นการตามรอยเก้งหม้อ เฝ้ารอสมเสร็จ อยู่แถวๆ โป่งซับชุมเห็ด

ครั้งนั้น เราติดฝนอยู่เกือบ 10 วัน รอให้ฝนหยุด ใต้ผ้ายางแคบๆ ไฟกองเล็ก

“จำตอนที่เราไปตามสมเสร็จแถวๆ ลำน้ำเพชรได้ไหม”

สำเภา ฟื้นความหลัง

“เราเหนื่อย ไม่อยากเดิน เลยต่อแพล่องไปไง”

ดูเหมือนป่าแห่งนี้จะมีเรื่องราวมากมายให้ผมจดจำ

ครั้งนั้นเรามีเพื่อนร่วมทีมหลายคน นำทางโดย สำเภา และเจ้าหน้าที่เก่าแก่อีกคน ชื่อ โก๊ะ เราเรียกเขาว่า น้า และคนงานจากหน่วยพิทักษ์ป่าอีก 2 คน

ทีมผมมีชายหนุ่มชื่อ ต่อ นักศึกษาชอบเที่ยวป่า ขอตามมาด้วย

การเดินทางเริ่มต้น เพราะคำบอกเล่าของชาวกะหร่างที่ว่า

“เดินเลาะลำน้ำไปเถอะ เจอสมเสร็จตลอดล่ะ”

แผนของเราคือเดินเลาะลำน้ำไปเรื่อยๆ

สามวันแรกผ่านไปโดยไม่เห็นแม้แต่รอย การเดินเลาะเลียบน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย บางช่วงเราพบหน้าผาสูง ช่องทางเดินเป็นแค่ช่องเล็กๆ

“พวกกะหร่างตัวเล็กๆ เดินผ่านช่องแบบนี้ง่ายๆ เราแย่หน่อย” น้าโก๊ะบ่น

ไม่มีรอยตีนสมเสร็จ ที่พบมากที่สุดคือทาก ซึ่งชูตัวสลอนเวลาเราเดินผ่าน

“ตัดไม้ไผ่ ล่องแพไปเถอะ”

ใครสักคน เสนอ ไม่มีใครค้าน

และนั่นทำให้การเดินทางครั้งนั้นเกือบจะเป็นโศกนาฏกรรม

 

ผมอยู่แพเดียวกับสำเภา อาศัยเคยคลุกคลีกับชาวบ้านในอำเภออุ้มผาง ผู้เชี่ยวชาญการล่องแพไม้ไผ่มาบ้าง ทำให้ไม่กังวลนัก

ส่วน ต่อ เราให้อยู่แพเดียวกับน้าโก๊ะ ซึ่งมีประสบการณ์ในการถ่อแพมาก

จากจุดเริ่มต้น สายน้ำไหลเอื่อยๆ ป่าแน่นทึบสองฝาก นกบินขวักไขว่ ชะนีส่งเสียง บรรยากาศรื่นรมย์

สายน้ำแรงขึ้นเมื่อใกล้แก่งใหญ่

“ถ่อดันทางซ้ายไว้นะ เพราะน้ำจะดันแพเข้ากระแทกหินก้อนใหญ่นั่น ผ่านหินก้อนใหญ่ไปได้ก็ไม่เท่าไหร่แล้ว”

สำเภาร้องบอก

ผมยืนถือไม้ถ่อ ปักหลักให้มั่นคง แก่งหินข้างหน้าดูท่าจะผ่านไปไม่ง่าย

แก่งน่ากลัว และกระแสน้ำแรงกว่าที่คิด

กระแสน้ำพัดแพเข้ากระแทกหินดังโครม ไม้ถ่อกระเด็นหายไปจากมือ

สำเภาถลามาปะทะท้ายแพถูกกระแสน้ำพัดมาอยู่ข้างหน้า

ผมทรุดตัวนั่ง ใช้เท้าถีบ พยายามดันแพออกจากซอกอับ แพทำท่าจะพลิกคว่ำ สำเภาเข้ามาช่วยดันอีกแรง จนกระทั่งแพค่อยๆ หลุดจากซอก และไหลมาตามร่องน้ำ

 

แพของน้าโก๊ะกับต่อ ถูกกระแสน้ำดันพลิกคว่ำ ต่อจมหายไปพักใหญ่ น้าโก๊ะว่ายน้ำประคองตัวต่อซึ่งนิ่งอยู่ในอ้อมแขนไหลตามน้ำมาถึงจุดที่เรารออยู่

“เจ้าต่อมันเข้าไปติดอยู่ใต้แพ” น้าโก๊ะพูดปนหอบ

“ตอนแพกระแทกหินผมกระเด็นตกลงไปไม่รู้เรื่องอีกเลย”

สักครู่ ต่อรู้สึกตัว และเล่าให้ฟัง

บริเวณนั้นพอมีหาดทราย เราหยุดตั้งแคมป์

ตัดสินใจเลิกใช้วิธีล่องแพ อันตรายเกินไป

เราจบการเดินทางครั้งนั้นด้วยความสะบักสะบอม

พบเห็นเพียงรอยตีนสมเสร็จเก่าๆ

ผมนึกขอบคุณโชคชะตา ที่ต่อไม่ได้เป็นอะไรมากนัก

 

สําเภาคุยถึงอีกหลายเรื่อง

“ตอนที่เราได้ ฮ. ทหาร ไปส่งบนยอดพะเนินทุ่งนั่นก็ขำดีนะ” สำเภาหัวเราะเมื่อนึกถึง

เราเตรียมเสบียงเพื่อใช้ระหว่างการเดินลง ตามแผนเราจะลงมาถึงแม่น้ำ

นอกจากข้าวสาร ของแห้งต่างๆ เราต้องเตรียมน้ำใส่แกลลอนไป 20 ลิตร เพราะบนยอดเขาไม่มีน้ำใช้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เหล้าต้ม ที่สำเภาไปหามา

เราใส่แกลลอน 20 ลิตรเช่นกัน

เฮลิคอปเตอร์บินมาถึง เรารีบขนของขึ้น สัมภาระมากไป เอาแกลลอนไปได้แกลลอนเดียว

สำเภาคว้าไปหนึ่งแกลลอน

“เอาเหล้าไป ข้างบนหนาว น้ำค่อยลงมาหา” ปกติเราใช้เวลาเดิน 5 วัน ถึงยอดพะเนินทุ่ง ฮ. พาเราไปส่ง โดยใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

ขนของลง ฮ. จากไป

ผมหัวเราะขำ เมื่อเห็นสีหน้าสำเภา ตอนที่รู้ว่าคว้าเอาแกลลอนน้ำมา

03

หลังข้าวเช้า จากบ้านพักของสำเภา ผมเดินไปตามทาง

พบนกพญาปากกว้าง คู่หนึ่ง กำลังช่วยกันสร้างรัง

พญาปากกว้าง น่าจะเป็นนกซึ่งนกด้วยกันยอมยกให้เป็นตัวแทน เพื่อแสดงให้ใครๆ เห็นว่า นกสวยงามเพียงไร พวกมันมีอยู่ทั่วไปทุกภาค ทั้งป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ หรือตามป่าไผ่

โดยทั่วไป นกตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าตัวเมีย

แต่สำหรับพญาปากกว้าง ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันสดใสเหมือนกัน แตกต่างเพียงตัวเมีย จะมีขนสีเทาเงินเป็นลายขวางอยู่ที่คอ

เส้นขนนี้ ทำให้ตัวเมียดูสวยงามกว่าตัวผู้เสียด้วยซ้ำ

ทั้งคู่ดูมีความสุข ช่วยกันคาบหญ้ามาประกอบเป็นรังน้อยๆ แม้ว่าจะดูยุ่งๆ ไม่เป็นรังนัก แต่ด้วยความพยายามของทั้งคู่ ในไม่ช้า จะเป็นรังสวยงามและอบอุ่น

ผมเฝ้าดู และถ่ายรูปนกคู่นี้ง่ายเพียงปีนขึ้นไปซ่อนตัวอยู่ริมขอบทางเท่านั้น

ชั่วโมงต่อมา ไม่ไกลจากรังนก ค่างแว่นถิ่นใต้ ฝูงใหญ่ ไต่กิ่งไม้มาหลายตัวตกใจเมื่อเห็นผม บางตัวหยุดมองอย่างสงสัย

ช่วงเดินกลับ เสือดาวตัวหนึ่ง เดินสวนทางมา มันหยุดชะงัก เขม้นมอง และค่อยๆ หลบเข้าข้างทาง

ก่อนถึงบ้านพัก ท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ ของช่วงเย็น เก้งหม้อตัวหนึ่งเดินข้ามถนนช้าๆ

ผมเคยใช้เวลาเป็นสิบวันในป่า โดยไม่เห็นแม้แต่เงาของสัตว์ชนิดนี้

สภาพอากาศยามเย็น ค่อนข้างหนาว เหนือป่าทึบ นกเงือกกรามช้าง 3-4 ตัว บินตามกันอย่างมีระเบียบ

นกตั้งล้อ หรือนกโพระดกใหญ่ ส่งเสียง

ยอดเขายะงัน ซึ่งอยู่ในเขตประเทศพม่า สูงเด่น

“จากที่นี่เดินไปอาทิตย์หนึ่งถึงนั่น” สำเภาชี้มือ

“พวกกะหร่างบอกสัตว์เยอะ”

ผมมองยอดเขา ซึ่งอยู่ไกลโพ้นด้วยสายตา เราคิดไว้นานแล้วว่า วันหนึ่งจะไปที่นั่น

วันนี้ เก้งหม้อ เสือดาว รวมทั้งนกพญาปากกว้าง ที่พบเจอ

ทำให้ผมพบกับความจริงที่ว่า

“ปลายทางไม่ใช่จุดหมาย ข้างๆ ทางบางครั้งมีเรื่องราวอันน่าสนใจเสียยิ่งกว่าจุดหมายที่ต้องดั้นด้นอย่างยาวไกล”

ที่จริงนี่คือความหมายง่ายๆ พื้นๆ ไม่ต้องคิดอย่างลุ่มลึกอะไร คนพูดกันมานาน

แต่เป็นความจริงที่เรามักหลงลืม

 

ทุกครั้งที่นึกถึง เส้นทางที่เคยเดิน

ทุกครั้งที่ได้รับบทเรียน

ผมไม่แน่ใจนักว่า แท้จริง ผมเริ่ม “รู้จัก” ธรรมชาติ

หรือเพียงเริ่ม “รู้จัก” ใจของตัวเอง

จนถึงวันนี้ ดูเหมือนจะมีความจริงอีกอย่างซึ่งเริ่มได้รู้

“คนอาจพบเส้นทางที่ค้นหาได้ เมื่อหยุดเดิน”

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีความจริงอยู่อีกว่า

“ทาง” เส้นนี้ ต้องค้นหาด้วยตัวเอง

และไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าบางคนจะใช้ทั้งชีวิตในการค้นหา