จรัญ มะลูลีม : ภาวะเขาควายความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน

จรัญ มะลูลีม

ทรัมป์ผู้นำสหรัฐและฝ่ายบริหารของเขาได้ประกาศมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมปี 2019 มาแล้วว่าสหรัฐได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมระเบิด B52 และขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) ไปยังอ่าวเปอร์เซีย การกระทำดังกล่าวถือเป็นการจุดไฟเพื่อก่อให้เกิดสงครามทำลายล้างในภูมิภาคขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สหรัฐมีการสับเปลี่ยนเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย ที่สหรัฐมีฐานทัพอยู่หลายแห่งรายรอบอิหร่านมาโดยตลอด

ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง (National Security) ของทรัมป์ จอห์น โบลตัน (John Bolton) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนอิสราเอล (Israeli lobby) คนสำคัญ รวมทั้งกลุ่มต่อต้านอิหร่านอย่างเช่นกลุ่มมุญาฮิดีนีคัลด์ (MEK) กล่าวว่า พัฒนาการในการเข้ามาของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐเป็นสารที่ถูกต้องที่ส่งเข้ามาถึงอิหร่าน

แถลงข่าวที่มาจากสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงกล่าวว่า การตัดสินใจส่งกองกำลังทางทหารเข้าไปในอ่าวเปอร์เซียเป็นการขานรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังขยายตัว

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ปฏิเสธที่จะบอกว่าอะไรคือการคุกคามที่มาจากอิหร่าน

 

ข้อกล่าวหาที่ว่าอิหร่านพยายามก่อวินาศกรรมเรือบรรทุกน้ำมันของซาอุดีอาระเบียและ UAE ในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคมที่นอกฝั่ง UAE ก็เป็นหนึ่งในข้อกล่าวอ้างของรัฐมนตรีฝ่ายนิยมสงครามของทรัมป์ ทั้งๆ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ กระนั้นโบลตันก็เร่งรีบที่จะเอามาเป็นข้ออ้างในการหาความผิดให้อิหร่านเพื่อเข้าโจมตีอิหร่านในที่สุด

จากเหตุการณ์ข้างต้น นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งได้เชิญชวนให้ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin like incident) ที่สหรัฐสร้างขึ้นเพื่อโจมตีเวียดนาม

ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้กล่าวถึงการคุกคามที่มีต่อซาอุดีอาระเบียและ UAE ที่มาจากอิหร่าน และจบลงด้วยการขายอาวุธนับล้านเหรียญสหรัฐ และส่งอาวุธมากขึ้นไปยังสองประเทศนี้

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์กล่าวว่าจะไม่มีสงครามระหว่างประเทศอีกต่อไป และตัวเขาเองจะเลิกเส้นทางการโค่นล้มรัฐบาลต่างชาติลงเสีย

เขาเรียกร้องให้ยกเลิกวงจรการทำลายล้างที่นำไปสู่ความอลหม่านวุ่นวายซึ่งเป็นลักษณะของสองรัฐบาลสหรัฐที่มีมาก่อนหน้าการขึ้นสู่อำนาจของเขา

แต่ทุกวันนี้ที่ปรึกษาของเขาต่างก็มีหนทางของพวกเขาเองที่จะนำเสนอต่อทรัมป์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทรัมป์ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ข้อเลือกในการทำสงครามกับอิหร่านได้วางอยู่บนโต๊ะแล้ว

 

ในกรณีของเวเนซุเอลา ปฏิบัติการล่าสุดของทรัมป์ก็เป็นการส่งสารออกไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน

หนึ่งในทวีตอันเผ็ดร้อนของเขา ทรัมป์ข่มขู่ที่จะทำลายล้างอิหร่าน หากว่าอิหร่านกล้าที่จะท้าทายสหรัฐ

เขาได้ทวีตในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว (2018) ว่า หากอิหร่านต้องการจะสู้ก็จะเป็นการสิ้นสลายของอิหร่านอย่างเป็นทางการ และขออย่าได้ข่มขู่สหรัฐอีก ทรัมป์เตือนอิหร่านด้วยทวิตเตอร์ตัวพิมพ์ใหญ่ที่มีใจความว่า อิหร่านจะเผชิญกับผลที่ตามมา ซึ่งจะเหมือนกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบางช่วงที่ได้เคยประสบพบเจอกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ญาวาด ซารีฟ (Jawad Zarif) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านตอบกลับทรัมป์ประธานาธิบดีของสหรัฐว่าอย่าได้ข่มขู่อิหร่านด้วยสุ้มเสียงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลย

ขออย่าได้ข่มขู่อิหร่านและให้เกียรติกันหน่อย จะทำงานได้มากกว่า

 

ในสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม (ปี 2019) ทรัมป์ประกาศส่งทหารไปยังอ่าวเปอร์เซียอีก 1,500 นาย โบลตันและรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมปิโอ (Mike Pompeo) ได้ขอให้ทรัมป์ส่งทหารเพิ่มขึ้นไปอีก

ก่อนหน้านี้ได้มีแถลงการณ์จากสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมเช่นกันที่กล่าวว่า การโจมตีใดๆ ต่อกองกำลังของสหรัฐหรือพันธมิตรของสหรัฐในภูมิภาค จะถูกตอบโต้จากกองกำลังที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

ที่ผ่านมาโบลตันได้เสนอให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลในอิหร่านซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่มีการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 เริ่มต้นด้วยการประกาศให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Iran”s Islamic Revolutionary Guards Corps หรือ IRGCE) เป็นกลุ่มก้อนของผู้ก่อการร้ายในเดือนเมษายน (2019) ที่ผ่านมา

ก่อนการประกาศให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้มีข่าวที่ไม่สามารถยืนยันปรากฏขึ้นในอิสราเอลและสื่อของสหรัฐว่าจะมีการวางแผนก่อการร้ายจากผู้ทำสงครามตัวแทนให้อิหร่านเพื่อทำลายผลประโยชน์ทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค

 

ส่วนใหญ่แล้วการกุเรื่องที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการต่อต้านผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนั้นจะมาจากฝ่ายข่าวกรองของอิสราเอลอยู่เสมอ

เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้นำอิสราเอลมีความภาคภูมิใจในเครดิตที่เขาได้รับในการเชิญชวนทรัมป์ให้ล้มเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์สหรัฐ-อิหร่านลงได้

การตัดสินใจยกเลิกการโจมตีทางอากาศต่ออิหร่านของทรัมป์ หลังจากอิหร่านยิงเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนของสหรัฐตกใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) นับเป็นช่วงขณะของการยับยั้งชั่งใจท่ามกลางความตึงเครียดที่ขยายตัวออกไประหว่างสองประเทศ

เหตุผลแบบนักบุญเบื้องหลังการยกเลิกการโจมตี ตามความเห็นของทรัมป์ก็คือเขาไม่ต้องการเห็นการเสียชีวิตของชาวอิหร่าน เนื่องจากไม่เคยมีชาวอเมริกันคนใดได้รับบาดเจ็บจากอิหร่านมาก่อน ซึ่งหลายคนคงแปลกใจที่อยู่ๆ ทรัมป์ซึ่งได้ชื่อว่าขาดความเมตตาต่อผู้ลี้ภัยและชาวมุสลิมจากบางประเทศได้กลายเป็นนักบุญขึ้นมาโดยกะทันหัน

เป็นที่แน่นอนว่าการทำสงครามกับอิหร่านย่อมหนีไม่พ้นสงครามยืดเยื้อและการทำลายล้างที่จะตามมา กล่าวกันว่าอิหร่านนั้นมีขีปนาวุธชั้นนำและมีอาสาสมัครที่สามารถทำสงครามตัวแทนได้อย่างยาวนานและมีกองเรือที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ก็เป็นพื้นที่ที่หนึ่งในสามของน้ำมันโลกได้ส่งผ่านเข้ามาและอยู่ในอาณาบริเวณของอิหร่าน

ทรัมป์ไม่ต้องการจะเสี่ยงจนกว่าจะมีการปลุกเร้าจากอิหร่านที่มุ่งหมายชีวิตชาวอเมริกัน ซึ่งแนวคิดของทรัมป์นั้นย่อมดีกว่าความคิดของจอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาซึ่งพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะก่อสงครามกับอิหร่าน

 

สิ่งที่ทรัมป์มองข้ามไปก็คือความตึงเครียดในเวลานี้เป็นผลมาจากกุศโลบาย “แรงกดดันสูงสุด” (Maximum pressure) ของเขาที่มีต่ออิหร่านนั่นเอง

ทรัมป์ดึงเอาสหรัฐออกมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงทุกข้อ การออกมาจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐที่ประเทศมหาอำนาจของโลกให้การยอมรับเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป

แผนของเขาคือการบีบคั้นทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านและบังคับอิหร่านให้กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาในประเด็นนิวเคลียร์อีกครั้ง รวมทั้งหยุดยั้งโครงการว่าด้วยขีปนาวุธของอิหร่านและการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการทหารของอิหร่านในภูมิภาค

อีกหนึ่งปีต่อมาสหรัฐกับอิหร่านก็ตกอยู่ในภาวะใกล้จะมีสงครามต่อกัน

กระบวนการใช้แรงกดดันจนถึงขีดสุดของทรัมป์จะขับเคลื่อนผ่านการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจมากกว่าจะคำนึงถึงศักยภาพทางทหารของอิหร่าน

ในอีกทางหนึ่งดูเหมือนว่าอิหร่านก็พร้อมที่จะเสี่ยงอย่างจำกัด อย่างปฏิบัติการที่อิหร่านขู่ว่าจะเพิ่มปริมาณยูเรเนียมให้มากขึ้นในโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน การยิงโดรนของสหรัฐที่มีราคาแพงตกเป็นครั้งที่สองก็แสดงให้เห็นศักยภาพทางการทหารของอิหร่านได้ในระดับหนึ่ง

ผลที่ตามมาและแลเห็นได้ก็คือแรงกดดันจนถึงขีดสุดของทรัมป์ไม่ได้นำเอาผลลัพธ์ที่ทรัมป์คาดหมายไว้มาให้แต่อย่างใด

สองประเทศกำลังเข้าใกล้สงครามที่ทั้งสองประเทศไม่ต้องการ นี่คือสภาวะเขาควายซึ่งเตือนให้เห็นถึงความผิดพลาดของนโยบายที่มีมาก่อนหน้านี้ของสหรัฐได้เป็นอย่างดี