ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
อาจเป็นเพราะพรรคอนาคตใหม่มีแฟนานุแฟนมาก จึงทำให้มีปรปักษ์และศัตรูจำนวนมากเหมือนกัน และแม้ว่าคนเหล่านี้ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ตรงกัน แต่ต่างก็กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ไปในทำนองเดียวกันว่า “หัวรุนแรง”
บางคนอาจใช้คำว่าเอียงซ้าย เพราะซ้ายในเมืองไทยมีภาพของความเป็นหัวรุนแรง ในขณะที่ฝ่ายขวาจับจองภาพความไม่รุนแรงไว้ได้อย่างมั่นคง (ทำให้เด็กไทยและดาราไทยใช้เครื่องหมายสวัสติกะของนาซีได้โดยไม่รู้สึกอะไร) พรรคอนาคตใหม่จึงถูกศัตรูและปรปักษ์จัดวางให้เป็นขั้วตรงข้ามของสถาบันทางการเมืองและสังคมอันหลากหลายในสังคมไทย
เป้าหมายของการปลุกเร้าความรังเกียจพรรคอนาคตใหม่ จึงอาศัยเชื้อของความคิดอนุรักษนิยมไทย ซึ่งแฝงอยู่ในหมู่คนไทยมากบ้างน้อยบ้างมานาน
ผมคิดว่าความน่าระแวงของพรรคอนาคตใหม่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปลุกเร้าความรังเกียจได้ไม่ยากนัก โดยไม่ต้องระบุออกมาอย่างชัดเจนก็คือ พรรคอนาคตใหม่นั้นประกอบด้วยผู้คนที่ไม่ “เชื่อมโยง” กับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง, เศรษฐกิจหรือสังคมใดๆ เลย
จริงอยู่ หัวหน้าพรรคนั้นมาจากครอบครัวธุรกิจใหญ่ที่มั่งคั่ง แต่ก็เชื่อมโยงกับชนชั้นนำทางธุรกิจและการเมืองเฉพาะในการทำธุรกิจปรกติเท่านั้น (ดูได้จากสายสัมพันธ์การสมรสของสมาชิกในตระกูลและบทบาทใน “มูลนิธิ” ต่างๆ) ยิ่งสืบค้นประวัติในสมัยวัยรุ่น ยิ่งพบลักษณะ “แหกคอก” ของหัวหน้าพรรคมากขึ้น ดังนั้น หัวหน้าพรรคจึงดำรงความเป็น “คนนอก” ของระบบ (การเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม) สืบมาจนทุกวันนี้
เลขาธิการพรรคซึ่งร่วมก่อตั้งพรรค เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียง แทนที่จะไปช่วยงานนักกฎหมายใหญ่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับเป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่ม “นิติราษฎร์” ซึ่งก็เป็น “คนนอก” ของวงการกฎหมายไทยอย่างชัดเจน
สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ส่วนใหญ่ล้วนเป็นบุคคลที่ไม่ “เชื่อมโยง” กับชนชั้นนำกลุ่มใดทั้งสิ้น
อนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองของ “คนนอก” ทั้งในความเป็นจริงและภาพลักษณ์ จึงง่ายมากที่จะถูกจัดวางให้เป็นพรรคหัวรุนแรง
“หัวรุนแรง” ในความหมายนี้คงใช้ภาษาอังกฤษว่า radicalism ผมขอแปลเป็นไทยตามแบบของผมว่า “ลัทธิถอนรากถอนโคน” ซึ่งน่าจะหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่กว้างและลึกกว่าที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ เช่น จะรื้อถอนเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นรากเป็นโคนของระบบ เป็นต้นว่า เพิกถอนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเหนือทรัพย์สินบางประเภท, ปฏิเสธระบบคุณค่าเกือบทุกอย่างที่เคยมีมาในสังคม, เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองจนเป็นผลให้กลุ่มที่ถืออำนาจทางการเมืองอยู่เวลานี้สูญเสียอำนาจไปจนหมด ฯลฯ
แต่จุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดูจะห่างไกลสุดกู่จากลัทธิถอนรากถอนโคน เพราะอนาคตใหม่เพียงแต่เสนอว่าต้องทำลายปัจจัยซึ่งฉุดรั้งมิให้ประเทศใช้ศักยภาพที่มีอยู่ก้าวไปข้างหน้าได้ ประกอบด้วยประเด็นหลัก 3 เรื่อง คือ ยกเลิกทุนผูกขาด, ยกเลิกการรวมศูนย์การปกครองที่มากเกินจำเป็น และล้มเลิกการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ด้วยการปรับกองทัพให้มีสมรรถภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้นในการทำหน้าที่ของตน
บะหมี่สำเร็จรูปก็ยังขายได้เหมือนเดิม คนคงเข้าร้านสะดวกซื้อเหมือนเดิม รถยนต์ประจำตำแหน่งก็คงมีเหมือนเดิม ฯลฯ เพียงแต่ต้องทำธุรกิจกันอย่างไม่เอาเปรียบคู่แข่งด้วยอิทธิพลทางการเมืองหรือสังคมเท่านั้น การแข่งขันในตลาดไทยจะไม่ต่างจากการแข่งขันในตลาดโลก หากนายทุนไทยแข่งขันในตลาดภายในได้เก่ง ก็น่าจะแข่งขันในตลาดโลกได้เก่งเหมือนกัน เพราะโอกาสจะปิดตลาดเพื่อกินคนเดียวหมดไปแล้ว
นอกจากจุดมุ่งหมายทางนโยบายไม่ถอนรากถอนโคนแล้ว วิธีการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวยังห่างไกลจากลัทธิถอนรากถอนโคนอย่างสุดกู่เช่นกัน เพราะอนาคตใหม่เลือกวิธีเลือกตั้ง ซึ่งก็คือใช้สถาบัน, กลไก และกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการผลักดันนโยบายของตน และตั้งใจจะใช้กลไกประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดพลังผลักดันมากขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง ไม่น้อยไปกว่า (หรือยิ่งกว่า) กลไกที่เป็นทางการเสียอีก (ทอมัส เจฟเฟอร์สัน พูดว่า ระหว่างประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ กับประเทศที่ไม่มีเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เขาขออยู่ในประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญดีกว่า)
วิธีการนั้นมีความสำคัญอยู่ไม่น้อยในปฏิบัติการของลัทธิถอนรากถอนโคน วิธีการเข้าสู่อำนาจ (เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม) ที่ใช้กันเป็นปรกติอยู่แล้ว มักไม่เอื้อให้ฝ่ายที่มีนโยบายถอนรากถอนโคนได้อำนาจ เพราะชนชั้นนำที่ถืออำนาจอยู่แล้วย่อมออกแบบให้ “คนนอก” ไม่มีโอกาสจะเข้าสู่อำนาจได้เป็นธรรมดา ดังนั้น ฝ่ายถอนรากถอนโคนจึงมักต้องใช้วิธียึดอำนาจ ผ่านการปฏิวัติหรือทำรัฐประหารด้วยกำลัง
นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ชนชั้นนำไทยทำให้การรัฐประหารด้วยกองทัพกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจ เพราะไม่อาจปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่ เพราะกระบวนการนี้อาจเป็นผลให้ชนชั้นนำสูญเสียอำนาจมากขึ้นตามลำดับ
แต่ที่จริงแล้วการรัฐประหารด้วยกองทัพเป็นวิธีการของลัทธิถอนรากถอนโคน ดังนั้น จึงอาจเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำอย่างถึงรากถึงโคนได้เหมือนกัน ลองคิดดูแล้วกันว่า หาก พ.ท.พโยม จุลานนท์ เป็นพลเอก และเป็น ผบ.ทบ. แทนที่จะเป็นแกนนำของ พคท. ทำรัฐประหารขึ้นมาสำเร็จเมื่อไร ใครจะหนาวจนสั่นบ้าง
และนี่คือเหตุผลที่หนึ่งในวัฒนธรรมทางยุทธศาสตร์ของการจัดองค์กรในกองทัพไทยจึงต้องมีลักษณะแบ่งก๊กแบ่งเหล่า เพื่อสะดวกที่ชนชั้นนำจะแทรกเข้ามากำกับควบคุมให้ได้ ผบ.เหล่าทัพที่ไว้วางใจได้
แต่คนไทยจำนวนมากกลับมองไม่เห็นว่า การรัฐประหารนั้นเป็นการถอนรากถอนโคน เพราะเป็นผลให้ล้มระบบทั้งหมดลงโดยทันที เพียงแต่ว่ากองทัพไทยทำรัฐประหารเพื่อรักษาระบบที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังระบอบรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้ถอนรากถอนโคนอะไรมากไปกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงออกจะสงสัยว่า ลัทธิถอนรากถอนโคนไม่ได้มีความหมายเป็นสากลทีเดียวนัก แต่ละสังคมอาจนิยามความหมายของมันแตกต่างกันไป ความหมายในสังคมไทยคืออะไรไม่สู้จะชัดเจนนัก
แต่ผมจะพยายามจับความหมายจากอุบัติการณ์ในประวัติศาสตร์ต่างๆ ว่าถูกให้ความหมายอย่างไร
ความหมายประการแรกก็คือ ลัทธิถอนรากถอนโคนในความเข้าใจของสังคมไทย ไม่เกี่ยวโดยตรงกับจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงหรือวิธีการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่ดูหรือประเมินจากความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งหมายว่าจะกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเดิมมากน้อยเพียงไร หากกระทบมากก็ถือว่าถอนรากถอนโคน หากกระทบน้อยหรือไม่กระทบเลยก็ถือว่าไม่ถอนรากถอนโคน
อันที่จริงนโยบายเศรษฐกิจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางมาก เพราะนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ผู้นำทางการเมืองไทยโน้มเอียงไปในทางสงวนวิสาหกิจขนาดใหญ่ไว้ในความควบคุมของรัฐ แม้ว่าในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ธนาคารโลกและมหาอำนาจตะวันตกพยายามกดดันให้เปลี่ยนนโยบายมาสู่การเปิดตลาดเสรี แต่จอมพล ป. ก็ยังยืนยันใช้นโยบายเศรษฐกิจดังเดิม เพราะฉะนั้น นโยบายเปิดตลาดเสรี (แบบที่ยังมีค่าต๋ง) ของสฤษดิ์ จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่สุดนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา
แต่ไม่มีใครคิดว่าสฤษดิ์เป็นผู้นำในกลุ่มถอนรากถอนโคน เพราะความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสฤษดิ์ ยังร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับชนชั้นนำเดิม และระบบราชการซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รวบรวมของชนชั้นนำใหม่ ซึ่งได้รับการศึกษาสูงด้วย เป็นการ “ปฏิวัติ” เศรษฐกิจที่ระวังมิให้กระทบต่อการเมืองและสังคม
ตรงกันข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจที่จะยกเลิกทุนผูกขาด ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่แต่อย่างไร แต่ผลกระทบของมันอาจกว้างไกล เพราะความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย จะเพิ่มขึ้นได้ก็โดยวิธีเดียว คือยกเลิกทุนผูกขาดให้ได้เท่านั้น หุ่นยนต์, 4.0, startup, หรือประชารัฐ ไม่ทำให้นายทุนไทยแข่งขันได้เก่งขึ้นหากอภิสิทธิ์ยังมีราคาถูกกว่า
ทุนผูกขาดคือหัวใจสำคัญของพลังทางเศรษฐกิจของนายทุนไทย ซ้ำหล่อเลี้ยงการเมืองไทยและวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวไร้ความเป็นธรรมของไทยไว้ด้วย ดังนั้น หากยกเลิกทุนผูกขาดได้จริง ย่อมกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำอย่างกว้างและลึกชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุดังนั้น จึงง่ายมากที่จะวาดภาพให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพวกถอนรากถอนโคน
ความหมายประการต่อมาก็คือ การเสนอเป้าหมายที่ชัดเจนเชิงนโยบายนั้น จะว่าไปก็ค่อนข้างแปลกใหม่ในการเมืองไทย คณะราษฎรเสนอหลักหกประการ แต่หลังจากนั้นเราไม่ค่อยได้เห็นการเสนอเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจนจากนักการเมือง, พรรคการเมือง, หรือคณะรัฐประหารใดอีกเลย การเมืองไทยมีแต่อุดมคติ แต่ไม่บอกว่าจะบรรลุอุดมคตินั้นได้อย่างไร
นักวิจัยคนหนึ่งชื่อ Niels Mulder ตั้งข้อสังเกต (Inside Southeast Asia) ว่า นวนิยายและเรื่องสั้น “ก้าวหน้า” ของไทยนั้น มักเสนอตัวละครเป็นบุคคลใน “แบบ” ใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว แต่ครู, นายอำเภอ, หมอ, ทนายความ ฯลฯ ที่หัวก้าวหน้าเหล่านั้นล้วนใช้ตนเองเป็นเครื่องมือการต่อสู้กับระบบที่เลวร้ายและอยุติธรรม อันใหญ่มหึมาและทรงอำนาจมาก จนเกินกว่าตัวละครหัวก้าวหน้าจะสามารถสู้ได้ ในที่สุดเรื่องจึงมักจบลงที่ความปราชัยย่อยยับของตัวเอก หรือทิ้งอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้คนอ่านโดยไม่ได้ลงมือทำอะไรอื่นในการต่อสู้เลย
ผมเองซึ่งไม่ค่อยมีความรู้กับ พคท.เท่าไรนัก ออกจะสงสัยว่าก็เหมือนกับพระเอกนิยายก้าวหน้าทั้งหลาย ผมไม่ทราบว่าเมื่อได้ชัยชนะถือธงแดงเข้าเมืองแล้ว พคท.คิดจะทำอะไรต่อไป จะเอาหรือไม่เอา “นารวม” เพื่อแก้ปัญหาชาวไร่ชาวนาไทย เป็นต้น
ความแปลกใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ในแง่ที่เสนอเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจนเช่นนี้ ก็มีส่วนช่วยให้ง่ายที่จะวาดภาพให้เป็นพรรคถอนรากถอนโคนเช่นกัน เพราะทำในสิ่งที่พรรคการเมืองเขาไม่ทำกัน
ประการต่อมา สิ่งที่อนาคตใหม่เรียกว่า “การเมืองใหม่” นั้น ควรเป็นเพียงอุดมคติ ไม่ใช่แนวปฏิบัติทางการเมืองที่ทำจริง เช่นการเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้อย่างโปร่งใส การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช่จากฐานคะแนนเสียงที่มีอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่าคือแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกับพรรค คำว่า “การเมืองใหม่” นั้นถูกใช้กันมานานแล้วในการเมืองไทย แต่เป็นอุดมคติมากกว่าทำจริง ซ้ำทำจริงแล้วยังประสบความสำเร็จอย่างเกินคาดหมายเช่นนี้ จึงทำให้นำไปสู่ข้อสรุปว่า พรรคนี้ต้องเป็นพวกถอนรากถอนโคนอย่างแน่นอน
ลัทธิถอนรากถอนโคนซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับทางการเมืองในประเทศไทยมานาน มีความหมายคลุมเครือไม่ชัดเจนนัก เมื่อนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้ ในที่สุดลัทธิถอนรากถอนโคนจะอาจกลายเป็นสิ่งที่คนไทยทั่วไปยอมรับและเห็นว่าจำเป็นต่อการเมืองไทยไปก็ได้