เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (7) โฟกัสที่การเมือง

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

แม้ว่าภาคใต้ตอนล่างของไทยจะมีความสงบเป็นส่วนใหญ่ติดต่อกันมาราวสองทศวรรษก็ตาม แต่ความขัดแย้งได้แผ่ขยายออกไป หลังจากมีการปล้นปืนในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 4 เดือนมกราคม ปี 2004

ในเหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีจำนวนถึง 50 คนได้ปล้นปืนไปจำนวนมากรวมทั้งที่มัสญิดกรือเซะ (Krue Se mosque) อันเป็นมัสญิดแห่งศตวรรษที่ 16

เมื่อมีการโจมตีที่จุดรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 18 เดือนเมษายนปี 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 112 คน โดย 107 คนเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และอีก 5 นายเป็นตำรวจในเหตุการณ์เดียวกันแม้ว่าผู้ก่อการจะเป็นผู้เริ่มต้นโจมตีเจ้าหน้าที่ก่อน

แต่การปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการปิดล้อมมัสญิดและถล่มมัสญิดด้วยอาวุธร้ายแรง ทั้งระเบิดและอาวุธปืนชนิดต่างๆ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ (excessive use of force)

และเนื่องจากมัสญิดเป็นศูนย์รวมจิตใจ เหตุการณ์กรือเซะจึงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้และมุสลิมทั่วโลกอย่างมาก

 

เหตุการณ์นี้ตามมาด้วยความรุนแรงติดต่อกันสองวันเมื่อผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่พวกเขาเห็นว่าไม่มีความผิดต้องจบชีวิตลงจากการขาดอากาศหายใจ 78 คน ระหว่างการขนย้ายโดยรถยนต์ทหาร อันเนื่องมาจากการกดทับจากการจับกุมรวมๆ กันที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2004 ซึ่งเป็นความบกพร่องและขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการขนย้าย ได้มีการลงโทษทางวินัยของข้าราชการไปแล้ว

ต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาและได้มีการชดเชยและช่วยเหลือญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตตามหลักมนุษยธรรมแล้ว

หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ตันหยง ลิมอ (TanyongLimoh incidents) เมื่อคนไทย 131 คนต้องหนีไปที่รัฐกลันตันอันเป็นรัฐมาเลเซียที่อยู่ติดกับไทยในเดือนตุลาคม ปี 2005 เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยในดินแดนของตนเอง

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ติดอาวุธได้รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลหลังจากมีความสงบติดต่อกันมาหลายปีนั้น มีสาเหตุหลักๆ มาจากการต่อต้านรัฐไทย ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลไทย

การใช้มาตรการด้านความมั่นคงที่มีความรุนแรงในการแก้ปัญหา การยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Southern Border Province Administration Center-SBAC) และกองบัญชาการพลเรือนตำรวจและทหารที่ 43 ซึ่งถือเป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในภาคใต้ตอนล่าง

ในเหตุการณ์ตากใบ (Takbai incident) นักการเมืองและพรรคการเมืองมาเลเซียได้มีมติประณามการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการสังหารหมู่ชาวมุสลิม

นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ทั้งหมด ประเด็นที่ว่าจะดูแลประชาชนผู้หลบหนีข้ามชายแดนไทยไปยังประเทศมาเลเซียก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน

การอพยพของประชาชน 131 คนจากนราธิวาสได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชาติมุสลิม (Muslim Ummah) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกมุสลิม

การหลบหนีของชาวมุสลิม 131 คนได้กลายเป็นข่าว หลังจากมีรายงานจากประชาชนชาวตันหยง ลิมอ ว่าอิมามถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล จากนั้นประชาชนในหมู่บ้านจึงหลบหนีทันทีไปยังมาเลเซีย

สื่อมาเลย์ได้พูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างกว้างขวาง และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา กล่าวว่ารัฐบาลจะจบสิ้นสุดลงด้วยการทำลายวัฒนธรรมทางการเมืองที่ได้สร้างขึ้นในประเทศไทย อันเป็นดินแดนที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่อาศัยของผู้ลี้ภัย

มิใช่เป็นดินแดนที่ผู้คนหลบหนีออกจากประเทศของตนเอง (See Asia Time Online, 17 September, 2005)

 

การให้ที่ลี้ภัยทางการเมืองแก่ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์จากภาคใต้ของไทยในปี 2005 โดยรัฐบาลมาเลเซีย ถูกมองว่าเป็นดั่งหลักฐานความพยายามของมาเลเซียที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของไทย ทรรศนะนี้รัฐบาลมาเลเซียไม่เห็นด้วย โดยมาเลเซียมองว่าเรื่องของผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรมแท้ๆ บางทีอาจจะเป็นเรื่องความอ่อนไหวทางการเมืองที่ว่าทำไมรัฐบาลมาเลเซียจึงไม่มีทางเลือกนอกไปจากการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหลีกหนีพรรคฝ่ายตรงข้ามคือพรรคอิสลาม (Pan Islamic Party) หรือ PAS ที่จะทำให้ประเด็นนี้เป็นการเมือง แต่ประเด็นเรื่องมนุษยธรรมจะมีมากกว่า

จากเหตุการณ์นี้พบว่ามิได้เป็นครั้งแรกที่มาเลเซียให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมุสลิมที่หนีมาจากความรุนแรงทางการเมืองที่บ้านของพวกเขา แต่แน่นอนมันย่อมมิใช่การสมรู้ร่วมคิดที่มาเลเซียประโคมขึ้นมา เมื่อมองย้อนกลับไปมาเลเซียค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีชีวิตชีวากับประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ได้อธิบายมาแล้ว

รวมทั้งช่วงเวลาที่มีความตึงเครียด (Omar Farouk Bajunid, The Malaysian Factor in the Prospects for Peace in Southern Thailand, op.cit., p,225)
โดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเต็มไปด้วยไมตรีจิตและมิตรภาพ นอกจากนี้ ประเทศมาเลเซียและประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของความสำเร็จในความร่วมมือด้านความมั่นคงมากกว่าสี่สิบปี ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การยุบพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (See KittiRatanachaya, General Dato, The Communist Party of Malaysia and Thailand (Bangkok : Duangkaew Publishing House, 1996), p.33 Cited in Omar Farouk , Ibid.)

See KittiRatanachaya, General Dato, The Communist Party of Malaysia and Thailand (Bangkok : Duangkaew Publishing House, 1996), p.33 Cited in Omar Farouk , Ibid.

 

อาจกล่าวได้ว่าในอดีตทั้งสองประเทศได้ต่อสู้กับกลุ่มผู้ลุกฮือคอมมิวนิสต์ที่ถือเป็นศัตรูร่วมกันมาก่อน อันเป็นบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นเก่าของมาเลเซีย ยังมีความประทับใจอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งสองประเทศจึงยังจะต้องกำหนดความแตกต่างในเรื่องความคิดที่เป็นการคุกคามต่อไป (KaviChongkittavom,Can Malaysia be peacemaker in Southern Thailand,The Nation. February 16, 2013, p.10)

ในความเป็นจริงบทบาทของมาเลเซียที่มีต่อภาคใต้ของไทยในฐานะสมาชิกของประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในฐานะเพื่อนบ้านที่มีสายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ร่วมกับชาวมุสลิมของภาคใต้นั้นได้กลายมาเป็นทั้งความสัมพันธ์และความสับสนแต่ก็เป็นสิ่งสำคัญ

จากรายงานหลายชิ้นพบว่ามาเลเซียไม่ต้องการเข้ามายุ่งเกี่ยวโดยไม่ได้รับเชิญ (Related reference Asia Time Online, 17 September, 2005 see also Omar Farouk Bajunid, The Malaysian Factor in the Prospects for Peace in Southern Thailand ,op.cit, p.325)

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนได้มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันว่าความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งในท้องถิ่น ซึ่งมีรากมาจากความขัดแย้งระหว่างคนที่มีชาติพันธุ์ ศาสนาต่างกัน นั่นคือชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างมีข้อเรียกร้องให้มีการยอมรับชาติพันธุ์ ภาษาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมภาคใต้ และนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองที่มาจากความยุติธรรม

(Imtiyaz Yusuf, The Thai Muslims and Participation in the Democratic Process : The Case of 2007 Elections, Journal of Muslim Minority Affairs, vol.29, No.3, September 2009, p.329)