วรศักดิ์ มหัทธโนบล : อนาคตจีนศึกษา – 30 ปี อันเป็นอนิจจัง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เสมอเพียงนักเรียนน้อยเสมอมา (ต่อ)

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมกระทบต่อผลงานเรื่องจีนของตัวเองไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบที่ว่านี้ไม่เพียงเห็นได้จากสำนักพิมพ์ที่เคยขอต้นฉบับไปตีพิมพ์ก็หยุดขอเท่านั้น หากแม้ตนจะเสนอต้นฉบับให้พิจารณาจัดพิมพ์ก็ยังถูกปฏิเสธจากหลายสำนักพิมพ์อีกด้วย

จากเหตุนี้ ผลงานเรื่อง “จีนยุคบุราณรัฐ” จึงใช้เวลานานมากกว่าหนึ่งปีจึงมีสำนักพิมพ์รับไปพิมพ์ หลังจากที่ถูกปฏิเสธจากสามสำนักพิมพ์มาก่อนหน้านั้น

ภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในสังคมไทย อันเป็นสังคมที่ผู้คนไม่นิยมอ่านหนังสือดังสังคมตะวันตก จีน หรือญี่ปุ่น ซึ่งจนทุกวันนี้สังคมดิจิตอลส่งผลกระทบต่อวงการหนังสือในประเทศนั้นไม่มากนัก

กล่าวเฉพาะจีน จากเวลาร่วม 30 ปีที่ได้เดินทางไปเยือนแทบทุกปี และปีละมากกว่าหนึ่งครั้ง พบว่า ทุกครั้งที่ไปร้านขายหนังสือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สิ่งที่ติดใจทุกครั้งก็คือ การที่ต้องคอยระมัดระวังในการก้าวเดินระหว่างชั้นหนังสือต่างๆ เพราะแทบทุกช่องทางเดินของชั้นวางหนังสือจะมีคนนั่งอ่านหนังสือบนพื้นขวางอยู่ คนเหล่านี้มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

แต่ที่ติดใจนี้มิได้หมายความว่าโกรธ จริงๆ แล้วไม่โกรธเลยแม้แต่น้อย แต่กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะภาพของเยาวชนที่นั่งอ่านหนังสืออย่างจริงๆ จังๆ อันเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากมากในร้านหนังสือของเมืองไทย

แต่กระนั้น อนิจลักษณ์ในประการนี้ก็มิได้ทำให้มีอคติกับสังคมดิจิตอล แต่ก็มิได้ยอมรับที่จะนำมาใช้แบบที่สังคมไทยส่วนใหญ่ใช้กัน คือใช้เฉพาะแต่ในเรื่องที่เป็นกิจธุระหรือเรื่องงาน ไม่ใช้ในการติดตามและตอบโต้ข้อความต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพบว่าหากใช้เช่นนั้นแล้วคงใช้เวลาไม่น้อย ซึ่งจะทำให้เสียงานได้ง่ายๆ

จากเหตุนี้ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้คนที่ก้มหน้าก้มตาใช้โทรศัพท์มือถือแบบนั้นเขาเครียดหรือไม่

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ บ่อยครั้งที่พบว่าข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิตอลนั้นเป็นเท็จบ้าง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลบ้าง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายเยี่ยงคนไร้สกุลรุนชาติบ้าง ฯลฯ ซึ่งหากหลงเชื่อหรือคล้อยตามไปกับข้อมูลข่าวสารเช่นนี้แล้วก็คงสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปไม่น้อย

ยิ่งเป็นข้อมูลข่าวสารทางการเมืองด้วยแล้วก็ยิ่งจะนำไปสู่ความเสื่อมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองใดก็ตาม

จากเหตุนี้ จึงได้วางตัวด้วยการรักษาระยะห่างกับโลกดิจิตอลด้วยการจำกัดเฉพาะเรื่องที่เป็นการเป็นงาน

 

พ้นจากอนิจลักษณ์ดังกล่าวแล้ว สิ่งสุดท้ายที่จะกล่าวในที่นี้คือ ห้วงเวลากว่า 30 ปีที่ใช้ชีวิตในโลกวิชาการด้านจีนศึกษามานั้น แม้จะเป็นเวลาที่ยาวนานและมีผลงานเผยแพร่ประมาณหนึ่งก็จริง แต่สิ่งที่เตือนตัวเองมาตลอดเวลาดังกล่าวก็คือ การเสมอตนเป็นเพียงนักเรียนน้อยมาโดยตลอด

ความรู้สึกนี้มั่นคงไม่เว้นแม้แต่ในยามที่ผลงานของตนได้รับรางวัลทางวิชาการสี่ครั้ง รางวัลที่ได้รับนี้หากไม่นับในแง่ที่ช่วยให้ลมหายใจของชีวิตดีขึ้นบ้างแล้ว ผลที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การทำให้ตนเองโล่งใจว่าผลงานที่ผ่านมายังพอไปได้หรือสอบผ่าน

จะอย่างไรก็ตาม การเป็นนักเรียนน้อยดังกล่าวไม่เพียงจะสะท้อนผ่านผลด้านจีนศึกษาแต่เพียงสถานเดียว ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกงานหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตและการงานอย่างมากอีกด้วย งานที่ว่านี้ไม่เกี่ยวกับงานวิชาการ หรือถ้าเกี่ยวก็เกี่ยวแต่โดยอ้อม นั่นคืองานในเชิงธุรการและงานบริหาร

งานทั้งสองนี้ทำให้ต้องเรียนรู้ตั้งแต่การร่างหนังสือราชการ บันทึกรายงานการประชุม เลขานุการ ผู้ประสานงาน เป็นกรรมการในคณะทำงานต่างๆ หรือการติดต่อบุคคลมากหน้าหลายตาและหลายสถานะ ฯลฯ

แม้จะมีบางงานที่ยกมานี้มิได้เป็นงานที่ตนสันทัดและติดข้างจะไม่ชอบ แต่เมื่อต้องทำก็ไม่เคยเกี่ยง

การที่ผ่านงานเหล่านี้มามีข้อดีประการหนึ่งคือ ทำให้เราเข้าใจคนที่ทำงานนี้ว่าต้องผ่านรายละเอียดของงานอย่างไรบ้าง ที่บางทีก็เป็นรายละเอียดที่ชวนให้อารมณ์ขุ่นเคืองใจ จากเหตุนี้ ตลอดชีวิตการทำงานจึงไม่เคยดูถูกหรือดุด่าว่ากล่าวคนที่ทำงานแบบนี้

ตรงกันข้ามกลับรู้สึกยกย่อง ให้เกียรติ และนึกขอบคุณคนที่ทำงานนี้อยู่เสมอ ด้วยถือว่าหากขาดบุคคลเหล่านี้แล้วก็ยากที่งานของเราจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ที่สำคัญ ตอนที่ต้องทำงานเหล่านี้ด้วยตัวเองนั้น รู้สึกว่าตัวงานได้หล่อหลอมตัวเองให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย

จากเหตุดังกล่าวจึงไม่เคยที่จะแจ้งแก่ใครว่าตนคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน คำที่เป็นทางการที่ใช้ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือคำว่านักวิชาการด้านจีนศึกษา ทั้งที่ลึกลงไปในสำนึกแล้วคิดว่าตนเองเป็นเพียงนักเรียนน้อยทางด้านจีนศึกษาเท่านั้น จากความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้เมื่อมองออกไปในโลกจีนศึกษาที่กว้างใหญ่ไพศาลแล้วก็ให้มีความหวัง ด้วยทุกวันนี้ได้มีนักวิชาการด้านจีนศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอกเพิ่มมากขึ้น

นักวิชาการเหล่านี้จบจากหลากหลายสาขาวิชาและกระจายตัวอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งหากไม่สอนเรื่องเกี่ยวกับจีนโดยตรงก็จะมีผลงานเขียนที่เกี่ยวกับจีน และแทบทั้งหมดล้วนแตกฉานในภาษาจีนทั้งสิ้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างเชื่อว่าเขาและเธอเหล่านี้ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนที่แท้จริง

 

ความลงท้าย

เวลากว่า 30 ปีที่อยู่ในโลกของจีนศึกษานั้น มีผลงานขนาดยาวหลายชิ้นที่เมื่อเขียนแล้วจำต้องแบ่งเป็นหัวข้อย่อยแยกเป็นประเด็นต่างๆ พอมาถึงหัวข้อสุดท้ายก็มักจะระบุว่า “ความลงท้าย” หรือคำอื่นๆ ที่มีความหมายไม่ต่างจากคำนี้ คำคำนี้มักสื่อกับผู้อ่านว่าตอนจบของบทความได้มาถึงแล้ว

แต่กับบทความชิ้นนี้แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้บทความนี้จะจบลงก็เป็นการจบลงในขณะที่ชีวิตยังไม่หมดลง และมีความตั้งใจที่จะศึกษาเรื่องจีนต่อไป โลกจีนศึกษาของตนเองจึงยังมิได้จบลง ดังนั้น ความลงท้ายในที่นี้จึงอาจมิใช่ความลงท้ายที่สมบูรณ์โดยตัวของมันเอง

แต่เท่าที่ได้บอกเล่ามาก็คงพอที่จะทำให้ศิษยานุศิษย์และกัลยาณมิตรทั้งหลายที่เคยถามไถ่ว่าเหตุใดจึงมาสนใจเรื่องจีนศึกษา และเรื่องจีนศึกษาในประสบการณ์ได้ให้อะไรบ้างนั้น ได้คำตอบไปแล้วตามสมควร

คำตอบที่แสดงผ่านคำบอกเล่านี้พอจะสรุปเป็นประเด็นได้ว่า นับแต่แรกที่เข้าในแวดวงจีนศึกษาจนเกษียณแล้วยังตั้งใจศึกษาเรื่องจีนต่อไปนั้น กล่าวในทางวิชาชีพแล้วจีนศึกษาคือสิ่งที่ตนใช้ทำมาหากินแล้วก็ได้ดีในชีวิต

แต่ชีวิตที่ได้ดีนี้ก็เป็นดังที่ได้กล่าวไปแต่ต้นแล้วว่า วิชาชีพนี้มิได้ทำให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี ตั้งแต่แรกรับราชการจนเมื่อเกษียณอายุราชการนั้น เคยขึ้นรถลงเรือสาธารณะไป-กลับระหว่างที่ทำงานกับบ้านเช่นไรก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น จนกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตไปแล้ว

 

ประเด็นต่อมา ความรู้เรื่องจีนก็ไม่ต่างกับความรู้เรื่องอื่นตรงที่มีให้ศึกษาได้ไม่รู้จบ โดยจากที่บอกเล่ามาโดยตลอดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เป็นส่วนเสี้ยวที่เลือกหยิบมาเพราะเหมาะกับบทความนี้

ความรู้เรื่องจีนที่ได้ศึกษามาทั้งที่เป็นความรู้ที่ไม่รู้จบนี้ ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ กับผลงานของตนเองที่ปรากฏออกมาตลอดกว่า 30 ปี อันเป็นผลงานที่ศึกษาไปบนพื้นฐานของนักเรียนน้อยคนหนึ่ง และเพราะเป็นนักเรียนน้อยจึงทำให้ต้องขยันมากเป็นพิเศษ และสร้างผลงานโดยตระหนักรู้อยู่เสมอว่ามิใช่ผู้แก่กล้าในทางวิชาการ

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ผลงานหลายชิ้นสำเร็จได้ด้วยมีศิษยานุศิษย์และกัลยาณมิตรเข้ามาช่วยเหลือ หากขาดซึ่งความช่วยเหลือนี้ก็คงยากที่จะสร้างผลงานได้อย่างที่เห็น

เรื่องนี้จึงทำให้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อความช่วยเหลือเหล่านี้เสมอมา

และไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณให้เป็นที่ประจักษ์ในผลงานทุกเล่มของตน

 

ประเด็นสุดท้าย กว่า 30 ปีที่ผ่านมาพบว่าจีนเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จีนทุกวันนี้คือจีนที่เลือกใช้หลักคิดเสรีนิยมใหม่แล้วประกาศว่านี่คือสังคมนิยมแบบจีน คำประกาศนี้มิแน่ว่าหากมาร์กซ์และเลนินยังมีชีวิตอยู่จะเห็นชอบด้วยหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ คือ จีนในทุกวันนี้กำลังเติบโตเป็นจักรวรรดิมากขึ้นและชัดขึ้น การเป็นจักรวรรดิแม้จะดูสง่างาม แต่อีกด้านหนึ่งกลับน่าระแวงสงสัย การศึกษาเรื่องจีนในอนาคตจึงมีสองด้านนี้ที่พึงพินิจพิจารณา โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของไทยเราเองและของสังคมโลกโดยรวม

ความลงท้ายจากที่กล่าวมานี้จึงมิใช่ความลงท้ายที่จบลงโดยสมบูรณ์ดังที่ควรจะเป็น แต่ก็เป็นความลงท้ายที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นอนิจลักษณ์ในโลกของจีนศึกษาได้ดี

กล่าวคือ จีนศึกษาไม่ว่าในแง่ที่เป็นจีนแผ่นดินใหญ่ จีนฮ่องกง จีนไต้หวัน จีนโพ้นทะเล และจีนอพยพใหม่ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในศตวรรษที่ 21 นั้นล้วนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ต่างกับชีวิตมนุษย์ที่มีขึ้นมีลงเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ชีวิตของตัวเองที่ก็มีขึ้นมีลงเช่นกัน

และในวันที่ได้เข้าสู่วัยชราแล้วนี้ก็ยังคงขึ้นรถลงเรือไปสอนหนังสืออยู่บ้าง เป็นชีวิตที่ทำให้ได้อยู่ปะปนกับผู้คนหลายชีวิตที่ผ่านไปมาระหว่างทาง ผู้คนเหล่านี้ย่อมมีโลกเป็นของตนเองที่มิใช่โลกจีนศึกษา

ห้วงชีวิตในจีนศึกษาเช่นนี้จึงเป็นห้วงชีวิตที่รื่นรมย์อยู่ท่ามกลางความอนิจจัง