อภิญญา ตะวันออก / “แตงขมและปมขื่น” : ประวัติศาสตร์ 3 สมัยในการ์ตูนของ “Sera”

อภิญญา ตะวันออก

ในที่สุด การมาถึงของหนังสือประวัติศาสตร์ภาพเล่าเรื่อง “แตงขม : ปมกัมโพชโศกนาฏกรรม” (Concombres Amers : les racines d”une trag?die Cambodge 1967-1975) โดยศิลปิน Sera ได้ช่วยคลี่คลายปมคำถามของฉันตลอดห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่อศิลปะร่วมสมัยยุคถ่ายผ่านจาก “ราชานิยม (สีหนุ) เขมรสาธารณรัฐ (ลอน นอล) และ กัมพูชาประชาธิปไตย (พล พต)”

มรดกตกทอดทางจิตวิญญาณเขมร 3 ยุคที่ตกทอดถึงปัจจุบัน และยังโดดเด่นในศาสตร์ศิลป์แห่งภาพยนตร์และดนตรีแห่งยุค “70 แต่ที่แทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลยคือในส่วนของงานจิตรกรรมและภาพเขียนนั้น แทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลยในปัจจุบัน โดยเฉพาะสมัยพล พต

นอกจากจะถูกทำลายไปทุกสถานแล้ว โดยเฉพาะภาพสีน้ำมันของพล พต ส่วนวัน นาถ จิตรกรคนสุดท้ายที่เหลือรอดจากโตลสแลง ก็ลาโลกไปเมื่อ 8 ปีก่อน

แต่เวลาฉันเห็นจิตรกรของเวียดนามยุคปลดแอกที่ทิ้งผลงานเหล่านี้ เป็นมรดกกรรมทางประวัติศาสตร์ศิลป์ ทำให้ฉันอดจะเปรียบเทียบไม่ได้ แต่เขมรก็ไม่เหลือมันแล้ว นอกจาก CD-cam ศูนย์เอกสารศึกษาเป็นอนุสรณ์ต่างหน้า

ซึ่งก็ยังแห้งแล้ง สำหรับผู้กระหายเรียนรู้สกุลเจ้า เสรีนิยมใหม่และคอมมิวนิสต์ในเขมร ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการต่อสู้ ทำลายล้างระหว่างซ้าย-ขวาพิฆาตกัน

มันสำคัญสินะ สำหรับการเรียนรู้ผู้คนเหล่านั้น?

 

ดังนี้ เมื่อลายเส้นประวัติศาสตร์ระหว่างปี 1967-1975 ที่ถักทอโดยลายเส้นของ Sera ถูกวางเด่นอยู่ในร้านหนังสือสมาคมฝรั่งเศส

นั่นเลย ที่ใจฉันเต้นแรงอย่างร่าเริง อา ในที่สุด งานศิลป์อักษร-ภาพ และนั่นเอง หนังสือการ์ตูนเล่มแรกและแพงที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหมดของฉัน เกิดขึ้นจากปมแตงขมอันสุดขื่น ที่ศิลปินเขมรคนนี้มีต่อกัมพูชาสินะ

Sera เป็นชาวเขมรโดยกำเนิด ไม่เปิดเผยเรื่องบิดา-อิง ภูริน สันนิษฐานเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในรัฐบาลลอน นอล สกุล “อิง” เป็นหนึ่งในกลุ่มอำมาตย์ที่ใกล้ชิดราชสำนัก และสืบทอดงานการเมืองมาถึงรุ่นปัจจุบัน

แต่ Sera ดูจะมีชีวิตส่วนตัวที่แยกจากความเป็นเขมรทั้งปวงรวมทั้งประวัติครอบครัวของตน ศิลปินแอนิเมชั่นท่านนี้มีชื่อเสียงกลางๆ จากงานเขียนภาพการ์ตูนซีรี่ส์อาชญากรรมอันฟอนเฟะในปารีส

ก่อนห้องสมุดจะเปิดตัวหนังสือภาพแนวประวัติศาสตร์ “แตงขม : ปมกัมโพชโศกนาฏกรรม” (Concombres Amers: les racines d”une trag?die Cambodge 1967-1975) ของ Sera อย่างบังเอิญ ไม่กี่ชั่วโมงนั่น ที่ห้องสมุดสมาคมฝรั่งเศส พลัน ฉันได้พบผลงานแนวสายดาร์กของ Sera กองนิ่งอยู่ในกล่องหนังสือกลุ่มแอนิเมชั่น

สารภาพ มันช่างห่างไกลความสนใจของฉันนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อ Sera อาศัยประสบการณ์จากลายเส้นแนวนวนิยายมาเป็นประวัติศาสตร์ อย่าง “แตงขม : ปมกัมโพชโศกนาฏกรรม” เท่านั้น

พลัน การผุดพรายอย่างมีชีวิตชีวาของตัวละครในอดีตที่ผ่านมาก็กลับมาโลดแล่นและเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาในจินตนาการ ราวกับนี่คือนิยายสายดาร์กอีกเรื่องหนึ่ง

และนึกไม่ถึงว่า ภาพเล่าเรื่องของ Sera นี่แหละที่สุดยอดและเหมาะกับเรื่องราวสมัยนั้นอย่างที่สุด ราวกับเขาคือชาวพนมเปญ ที่เผชิญกับชะตากรรมร่วมกัน

 

เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางในยุคของสังคมราชานิยม (1961) และอยู่จนถึงวันสุดท้ายของเดือนเมษายน 1975 ตอนที่อายุ 14 ปี นับแต่นั้น Sera แม่และพี่น้องก็ไปตั้งรกรากในปารีส ทิ้งบิดาซึ่งพลัดพรากและสาบสูญให้เป็นอดีตไปพร้อมกับอดีต

ในอีก 18 ปีต่อมา (1993) Sera (ที่แปลว่า “จะ…”) มีโอกาสมาประเทศเกิดเป็นครั้งแรกและพบกับยุก ฌาง ผู้อำนวยการศูนย์เอกสารศึกษากัมพูชา (CD-Cam) และฌางนี่เองที่เสนอโปรเจ็กต์หนึ่งให้ Sera แต่มันก็เป็นได้เพียง “จะ…” เสียมากกว่า

ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.2012 Sera ผุดโปรเจ็กต์ประติมากรรม ณ สาระมนตีโตลสแลง (พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์กรุงพนมเปญ) จากทุนสนับสนุนของ 2 หน่วยงาน (CEK/INALCO และ Dkmemosis) ดังนั้น เดือนมกราคมปีกลายเขาจึงกลับไปติดตั้งและสมโภชประติมากรรมสำริดชุด “แด่ ผู้คนที่หายไป” (To Those Who are No Longer Here)

แต่มันก็แปลก ที่ตัวเขาต่างหาก คล้ายกับถูกทำให้สาบสูญ กล่าวคือ ประติมากรรมสำริดชิ้นนั้นกลับถูกวิพากษ์และต่อต้านอย่างหนักจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเห็นว่า “คือสิ่งอันแปลกปลอม” โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของความเป็นอื่น ซึ่งไม่ใช่เขมร

ไม่ว่าจะเป็นเขมรแดง หรือเขมรแดงปัจจุบัน

มันเป็นรอยต่อของสัมพันธภาพระหว่างศิลปินกับกาลเวลาหรือไม่? ฉันสงสัย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ประติมากรรมชิ้นนั้นก็ไม่อยู่ที่นั่นอีกต่อไป

แต่ไม่ว่าลักษณะเฉพาะในงานประติมากรรมของ Sera จะมีปัญหาตีความในอัตลักษณ์ความเป็นเขมรหรือไม่ แต่ในฐานะศิลปินสื่อผสมของภาพเขียนการ์ตูนชุด “แตงขม : ปมกัมโพชโศกนาฏกรรม” คืองานชุดประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่แตกต่างจากงานขนบเก่า อาทิ ตรึง เงีย หรือเดวิด พี. แชนด์เลอร์

แต่สิ่งที่ Sera ทำได้มากกว่าความเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยก็คือ สุนทรียศาสตร์ทางศิลปะที่มากกว่าข้อเท็จจริงและกระบวนคำบรรยาย

ในทุกลายเส้นเหล่านั้น ถูกร้อยเรียงเป็นผู้นำ นักการเมือง พระสงฆ์องค์เจ้า ประชาชนผู้ตกอยู่ในห้วงสงครามแห่งการทำลาย

หม่นมัวที่มากมายเหล่านั้น ทว่าแพรวพราวไปด้วยศิลปะในทุกๆ มุมของตัวละคร ผู้ต่างโชคร้าย และไม่มีใครที่ได้กลับมาที่นี่อีก (To Those Who are No Longer Here) เหมือนอย่างเช่นที่ Sera เคยประสบนับแต่ที่เชามีอายุเพียง 14 ปี

และเป็นหลุมดำแห่งแรงบันดาลใจ

 

มันคือการเข้าฟังในห้วงอันอ่อนล้าต่อกิจกรรมที่ห่างหายจากชีวิตไปนาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาสำคัญ ตอนนักเขียนแจกลายเซ็น ฉันก็พบตัวเองมายืนเป็นคนแรกหน้า Sera

อา มีใครสักคนควรบอกเขามั้ยว่า ฉันน่ะ น่าจะเป็นนักอ่านคนแรกที่ซื้อ “แตงขมฯ” ล่วงหน้า นั่นน่ะเกือบค่อนเดือนเชียวนะ ก่อนที่เขาจะมาบรรยายที่กรุงเทพฯ

พลัน ฉันก็นึกถึงการรอคอยที่กระวายกระวนมากว่า 2 ชั่วโมงนั้น ช่างมีความหมายอันล้ำค่า ระหว่างที่เฝ้ามองการสเกตช์ภาพของ Sera บนหนังสือของตัวเองอย่างช้าๆ

ขณะที่ใช้เวลาประดิษฐ์ไปกับการเขียนภาพ นั่นเองหรือไม่

นี่คือความเนียนมานโอฬาริก

ที่เริ่มจากต้นไม้ที่สยายกิ่งใบคล้ายดาวตก ตรงกลางลงมามีคำว่า “แตงขม” เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนมุมขวานั่น คือเงาฉันเองที่นั่งอยู่

ราวกับเราต่างรู้จักโลกกันมานาน ในจินตนาการแห่งการสัมผัส ฉันตระหนักถึงความโดดเดี่ยวแห่งความคิด ที่ Sera บรรจงบรรจุมันลงไป ในความโดดเดี่ยวที่ฉันมี

“ไม่เคยลืม ไม่มีวันลืม” Sera ตอบด้วยภาษาเขมร

ฉันก็ไม่รู้รสชาติบาเก็ตต์หรือครัวซองต์ว่าอะไรอร่อยกว่ากันเมื่อเทียบกับขนมจีนเขมร ที่เขาอาจไม่คุ้นปาก เช่นเดียวกับปมประวัติศาสตร์ของ “แตงขม” ที่เป็นเหมือนยาขมหม้อยักษ์ในการที่เขาต้องลงมือปรุง

นัยทีนั้น Sera ยอมรับว่า เพื่อสร้างอัตลักษณ์ต่องานชิ้นนี้ให้สำเร็จ เขาพยายามศึกษา ไตร่ตรองเกี่ยวกับกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างมุ่งมั่น

แต่ก็ใช่ว่าศิลปินทุกคนจะตีความในแบบพิมพ์นิยมเขมรเสมอไป