คุยกับทูต ‘เยอรมนี’ ว่าความสัมพันธ์ยาวนานกับไทยในหลายมิติ

คุยกับทูต เกออร์ก ชมิดท์ นักการทูตจากเยอรมนีชูประเด็นสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับเยอรมนีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1862 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Amity, Commerce and Navigation with Prussia, in the name of the German Customs and Commercial Union) หรือสนธิสัญญาออยเลนบวร์ก (Eulenburg Treaty)

โดยระหว่างปี ค.ศ.1883-1955 ไทยกับเยอรมนีได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน

ต่อมาในปี ค.ศ.1887 ไทยจัดตั้งสถานอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินเป็นครั้งแรก เมื่อเยอรมนีได้แบ่งออกเป็นสองประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมอดีตเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด

ภายหลังเมื่อเยอรมนีได้รวมประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว ไทยได้ย้ายสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ไปยังกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1999

พร้อมกันนั้นได้จัดตั้งสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสาขากรุงบอนน์ขึ้น และได้ปิดทำการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2001 โดยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2002 ทดแทนสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ต่อมา ครม.อนุมัติให้เปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2017 เพื่อทดแทนสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมิวนิก

นายกออร์ก ชมิดท์ (His Excellency Mr. Georg Schmidt) ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงประเด็นและนโยบายสำคัญที่มีต่อประเทศไทยว่า

“ความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศกำลังรุ่งเรือง การส่งออกของเยอรมนีมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น 8.1% ในปีที่แล้ว เยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปของไทยอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการค้าระดับทวิภาคีอยู่ที่ 11 พันล้านยูโร ตามสถิติรูปแบบการค้าทวิภาคีก็มีลักษณะคล้ายกัน”

“ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร สารเคมี รถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังเยอรมนี ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ แต่ประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า สินค้าเกษตรและอาหารเป็นจำนวนมาก (395 ล้านยูโร เทียบกับ 146 ล้านยูโร)”

ท่านทูตชี้แจง

“ไทยกับเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางการค้ามาอย่างยาวนาน เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1858 เมือง Hanseatic, Bremen, Hamburg และ L?beck ได้ปิดข้อตกลงทางการค้ากับราชอาณาจักรสยาม รถคันแรกในราชอาณาจักรสยามก็เป็นรถเมอร์เซเดส (Mercedes) ซึ่งสั่งนำเข้าจากเยอรมนี ปี ค.ศ.1904 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระราชบิดาคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ในหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงเรื่องรถยนต์คันแรกของสยาม ว่า

รถยนต์คันแรกที่เข้ามากรุงสยามนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นรถยี่ห้อใด ใครเป็นเจ้าของ แต่เชื่อกันว่าชาวต่างชาติเป็นผู้นำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “รถคันแรกในเมืองไทย รูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน หลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่”

ในลายพระหัตถ์กล่าวอีกว่า รถคันนี้มีกำลังวิ่งได้แค่พื้นราบ แต่สะพานข้ามคลองในสมัยนั้นสูงมาก ขึ้นไม่ไหว เลยขายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งมีน้องชายคือ พระยาอานุทูตวาที (เข็ม แสง-ชูโต) และเป็นคนไทยคนแรกที่ไปรับจ้างทำงานในอังกฤษ รู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกดี เลยเป็นคนแรกที่ขับรถในกรุงสยามด้วย

รัชกาลที่ 5 ระหว่างทางเสด็จประพาสโคราช ในคราวเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ – นครราชสีมา เมื่อ1 ธันวาคม ค.ศ. 1900 (ร.ศ.119) (สถานที่ในภาพ คาดว่าเป็นดงพญาเย็น) ภาพจาก-โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

ในปี พ.ศ.2471 (ค.ศ.1928) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงจัดตั้ง “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” จึงขอรถคันนี้ไปเข้าพิพิธภัณฑ์ และได้ขอให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนำไปซ่อมที่กองลหุโทษ แต่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ก่อนที่รถจะซ่อมเสร็จ และเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงตามไปที่กองลหุโทษ ก็พบแต่เศษเหล็กชิ้นส่วนรถคันแรกของกรุงสยามถูกชำแหละไปเรียบร้อย

ส่วนรถคันแรกที่คนไทยนำเข้ามา ปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ.2444 (ค.ศ.1901) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงประชวร เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส และได้สั่งซื้อรถเดมเลอร์ รุ่นปี ค.ศ.1901 จากตัวแทนจำหน่ายที่ฝรั่งเศสและนำเข้ามากรุงเทพฯ ในปลายปีนั้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดรถพระที่นั่งคันนี้มาก เพราะสะดวกสบายและเดินทางได้เร็วกว่ารถม้า นับเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีฯ สั่งเข้ามาอีกคันหนึ่ง จากผู้ผลิตในเยอรมนีโดยตรง

รถพระที่นั่งคันใหม่ยี่ห้อเดิม แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมอร์เซเดส-เบนช์” รุ่นปี ค.ศ.1905 สีแดง เครื่องยนต์ 72 แรงม้า 4 สูบ เดินหน้า 4 เกียร์ ถอยหลัง 1 เกียร์ ความเร็ว 46 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ขณะเทน้ำมันจากปี๊บเติมรถนั้น ได้เกิดไฟไหม้เสียหายไปแถบหนึ่ง หลังจากซ่อมแล้วจึงเข้าประจำการเป็นรถพระที่นั่งคันที่สอง พระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ”

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2448 (ค.ศ.1905) ได้สั่งรถยนต์เข้ามาอีกคันหนึ่ง เป็นรถยนต์พระที่นั่งคันที่สามในรัชกาล

เรื่องกิจการรถไฟของไทยเริ่มแรก ท่านทูตเล่าว่า

“เกือบ 130 ปีที่แล้ว ครุพพ์ (Krupp) บริษัทเยอรมันเริ่มก่อตั้งระบบรถไฟขึ้นในประเทศไทย เจ้ากรมรถไฟคนแรกเป็นชาวเยอรมันชื่อนายคาร์ล เบทเกะ (Karl Bethge) ซึ่งความร่วมมือนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการตั้งคณะทำงาน เยอรมัน-ไทย เพื่อพัฒนาระบบราง (The German-Thai Railway Partnership) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันการฝึกฝนและการถ่ายทอดความรู้ เรากำลังทำงานเพื่อยกระดับความร่วมมือนี้เป็นสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย เพื่อเสริมสร้างกิจกรรม เช่นการประชุมเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงาน”

เมื่อไทยเริ่มดำเนินการในกิจการรถไฟนั้นในช่วงการดำเนินงานระยะแรกยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบกิจการรถไฟโดยตรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งกรมรถไฟขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1890

ซึ่งขณะนั้นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการคือ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ส่วนเจ้ากรมรถไฟคนแรกเป็นชาวต่างชาติ คือวิศวกรชาวเยอรมันชื่อนายคาร์ล เบทเกะ (Karl Bethge)

นายคาร์ล เบทเกะ เป็นวิศวกรทำงานกับบริษัทครุพพ์ (Krupp) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องเหล็กรถไฟที่มีชื่อเสียงมากในเยอรมนี เขาเคยทำงานควบคุมการส่งปืนใหญ่ และรางเหล็กรถไฟให้กับจีน

หลังปฏิบัติภารกิจเสร็จที่ประเทศจีนก็เตรียมเดินทางกลับยุโรป แต่บริษัทครุพพ์ให้เข้ามาสำรวจทิศทางการจะดำเนินกิจการรถไฟในไทย เบทเกะมาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.1888 และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทย

รัฐบาลไทยจึงให้เขาสำรวจเส้นทางรถไฟสายนครราชสีมาที่จะสร้างขึ้น

เบทเกะได้สำรวจเส้นทางและทำการบันทึกอย่างละเอียดรวมทั้งเสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลไทย รัฐบาลไทยจึงจ้างเบทเกะให้ทำงานสร้างทางรถไฟ และได้ทำเรื่องขอตัวเบทกะจากรัฐบาลเยอรมนี และบริษัทครุพพ์ เบทกะจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก

ทำหน้าที่ควบคุมและดูแลการสร้างเส้นทางรถไฟหลวงสายแรกคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมาจนประสบความสำเร็จ (เจ้ากรมรถไฟคนแรก-สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้)

ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนีด้านการลงทุน

ปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติเยอรมันลงทุนในไทยมากกว่า 600 ราย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร รองลงมาได้แก่ เคมีภัณฑ์ เกษตรและอาหาร และภาคบริการ

ในส่วนการลงทุนของไทยในเยอรมนี มีภาคธุรกิจไทยลงทุนในธุรกิจบริการ อัญมณี และขายปลีก อาทิ เครือข่ายโรงแรมคาปรี (Capri by Fraser) ที่เบอร์ลิน แฟรงก์เฟิร์ต (และกำลังจะเปิดที่ฮัมบูรก์) บริษัทไทย-แพรนด้า จิวเวลรี่ (Pranda Jewelry) บริษัทเซ็นทรัล กรุ๊ป (Central Group) ซึ่งเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าคาเดเว (KaDeWe) กรุงเบอร์ลิน โอเบอร์พ็อลลิงเงอร์ (Oberpollinger) นครมิวนิก และอัลสเทอร์เฮาส์ (Alsterhaus) นครฮัมบูร์ก และบริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ควบรวมธุรกิจกับบริษัทเพเทอร์ เพาล์เซิน (Peter Paulsen) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกและมีธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือที่เยอรมนี ได้แก่ อัลดี (Aldi) เรเว (Rewe) และลิเดิล (Lidl)

ท่านทูตเกออร์ก ชมิดท์ เสริมว่า

“ทั้งสองประเทศขึ้นอยู่กับการส่งออก มีการเชื่อมต่อกันทางการค้าที่เปิดกว้าง ประเทศไทยและเยอรมนีมีการบูรณาการอย่างดีในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (global value chains) ส่วนแบ่งการค้าในประเทศไทยคือ 123% (การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการในเปอร์เซ็นต์ของ GDP) และ 87% ในเยอรมนี”

“ปัจจุบันมีบริษัทเยอรมันประมาณ 600 บริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และบางส่วนก็ทำมาเกือบ 150 ปีแล้ว โดยรวมแล้วบริษัทเยอรมันดังกล่าวลงทุน 4.2 พันล้านยูโร และสร้างงานที่มีคุณภาพและรายได้ที่ดีแก่คนไทยจำนวน 43,000 คน”

“โดยเยอรมนีเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 10 ของประเทศไทย”

“ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าเยอรมนี ในขณะที่ในเยอรมนีทุกวันนี้ภาคการผลิตมีส่วนช่วยเศรษฐกิจ 26% ส่วนในประเทศไทยมีถึง 33% การทำให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมได้นำความเป็นอยู่ที่ดีมาสู่ประเทศ แต่มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิตอล ตัวอย่างจาก AI, IoT สำหรับทักษะและคุณสมบัติที่จำเป็นในอนาคต (งาน 4.0)”

(Artificial Intelligence : AI คือปัญญาประดิษฐ์ และ Internet of Things : IoT คือสิ่งของทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลได้ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่เม็ดยา กล้องบันทึกภาพ นาฬิกา หลอดไฟ รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันโดยมีมนุษย์เกี่ยวข้องน้อยที่สุด และทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างข้อมูลจากโลกดิจิตอลกับโลกทางกายภาพให้ใกล้ชิดกันที่สุดเป็นต้น – ผู้เขียน)

ท่านทูตกล่าวว่า

“มีคำถามคือ แล้วหุ่นยนต์จะสามารถแทนที่งานของมนุษย์ หรือหุ่นยนต์จะสามารถสนับสนุนงานของมนุษย์ ทำให้งานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดความยุ่งยากในการทำงานของพนักงานด้วยตนเองได้ จริงหรือไม่?”