หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ / ‘มัน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมงกุฎ - ชะนีเป็นนักปลูกป่า ที่ทำงานอย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘มัน’

 

…ในงานช่วงปีแรกๆ ผมใช้สรรพนามเมื่อเขียนถึงสัตว์ป่าว่า “เขา”

มีคนเคยถามผมว่า ทำไมเป็นเช่นนั้น

“เพราะในระยะแรกๆ ดูเหมือนผมกับสัตว์ป่ายังไม่คุ้นเคยสนิทสนมกันเท่าไหร่น่ะครับ” ผมตอบ และอธิบายต่อว่า

“อีกประการคือ อยากให้ผู้อ่านรู้สึกไปกับผมด้วยว่า เหล่าสัตว์ป่าทั้งหลายคือชีวิตอันเท่าเทียม และมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้เช่นเดียวกับเรา”

คนมักหลงลืมไปว่า โลกไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้คน

หรือแม้แต่คนด้วยกันเอง บางคนยังคิดว่ามีแต่พวกตน หรือผิวสีเดียวกับตนเท่านั้นจึงมีสิทธิ์

 

ผมใช้เวลาไปไม่น้อยกับการทำความรู้จักชีวิตในป่า

ว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างเราไม่ราบรื่นนักหรอก

ไม่ว่าจะพยายามเช่นไร สัตว์ป่าก็ไม่ยอมให้ผมเข้าใกล้ และตื่นหนีทันทีแค่เพียงได้กลิ่นกายผม

หรือหากเจอกันอย่างกระชั้นชิด หรือผมเข้าไปใกล้เกินระยะอนุญาต การขู่คำราม รวมทั้งเข้าจู่โจมก็เกิดขึ้นได้

โดนสัตว์ป่าเข้า “ชาร์จ” ครั้งแรกผมจำได้ดี

ผมเดินกลับจากซุ้มบังไพรตอนพลบค่ำ อาศัยแสงดวงจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดินเลาะมาตามลำห้วย ซึ่งระดับน้ำลดเหลือเพียงท่วมข้อเท้า แต่บางช่วงยังมีลักษณะคล้ายแอ่ง

อีกราวหนึ่งกิโลเมตรจะถึงแคมป์ ควายป่าตัวหนึ่งลุกขึ้นจากการนอนแช่น้ำในแอ่ง

มันยืนจ้องมอง สักครู่ก็วิ่งโขยกเข้าหา

“หยุด” ฟื้น พิทักษ์ป่าที่มีรอยสักเสือเผ่นกลางอกซึ่งเดินตามมาด้านหลังตะโกนเสียงดัง

ราวกับฟังภาษาคนรู้เรื่อง ควายป่าตัวนั้นหยุด หายใจฟืดฟาด ก่อนหันหลังเดินโขยกเขยกเข้าไปในชายป่า รอยตีนที่เหยียบบนผืนทราย กว้างกว่าฝ่ามือ

“ขาเขาเจ็บน่ะ เลยอารมณ์ไม่ดี” ฟื้นพูดเบาๆ

ผมเขียนถึงเหตุการณ์นี้ และใช้สรรพนามเรียกควายป่าตัวนี้ว่า “เขา”

เพราะรู้ดีว่า ความสัมพันธ์ของเรายังห่างเกินกว่าจะใช้คำที่ดูสนิทสนมกว่านี้

 

เพราะความอ่อนด้อย ไม่รักษาระยะห่าง ไม่ให้เกียรติกัน หรือจะเพราะสาเหตุใดก็แล้วแต่

ผมโดนสัตว์ป่า “ชาร์จ” หลายครั้ง

พูดให้ถูก โดน “สั่งสอน” บ่อยพอสมควร

ครั้งที่เข้าใกล้ช้างพี่เลี้ยงนั่น ฉิวเฉียดมาก ช้างจะใช้งวงคว้าตัวผมโยนไปไกลๆ หรือเหวี่ยงให้ล้ม ตีนเตะหรือเหยียบซ้ำก็ย่อมทำได้ เพราะผมหลบเลี่ยงไปไม่พ้นแล้ว

แต่ที่ช้างทำคือ เหวี่ยงงวงผ่านตัวผมไปเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาทำร้าย

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ผมรู้ว่า นี่คือการสั่งสอน

ครั้งล่าสุด ผมถูกสั่งสอนโดยเสือโคร่ง เพราะสาเหตุเดิมๆ คือ ผมเข้าใกล้เกินระยะอนุญาต

เพราะผู้สอนเป็นเสือ

คราวนี้บทเรียนค่อนข้างรุนแรง ผมต้องเย็บหลายเข็ม และฝากแผลเป็นไว้บนหน้า

 

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ผมทำงานโดยวิธี “ฝังตัว” อยู่ในป่าแห่งเดียวนานๆ ป่าละไม่ต่ำกว่า 4 ปี

การอยู่ในป่าแบบนี้ ทำให้ผมไม่ได้เป็นเพียงช่างภาพที่เข้ามาทำงานชั่วคราวแล้วก็จากไป แต่ผมคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของเหล่าคนทำงานในป่านั้นๆ

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความเป็น “พวก” คือ ชื่อที่พวกเขาตั้งให้

บนดอยอินทนนท์ เพื่อนๆ ชาวม้งเรียกผมว่า “ซายจัว” หมายถึง ผู้มีชีวิตอยู่ตามหน้าผา

เพื่อนชาวมูเซอแถบดอยม่อนจอง เรียกผมว่า “พี่ใหญ่” ตามจะปุ๊คู่หูผม ทั้งหมู่บ้าน

ในป่าทิวเขาบูโด ผมได้ชื่อว่า “กอแซ” เพื่อนๆ เอาชื่อของแต่ละคนมารวมๆ กันเป็นชื่อผม

กะเหรี่ยงแถบอำเภออุ้มผาง ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก ตกลงตั้งชื่อผมว่า “จอ มู่ โคว้ หว่า” หมายถึง พี่ฟ้าขาว

ในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก ทุกคนเรียกผมว่า “หม่องโจ”

ในความหมายของชนกะเหรี่ยง หม่องโจ หมายถึง “ลุง”

 

นอกจากนั้น ผมยังได้รับเกียรติแบบขำๆ จากเพื่อนๆ เรียกสถานที่หลายแห่งว่า หม่องโจ

เช่น เนินลื่นๆ ชันๆ เนินหนึ่ง ว่า เนินหม่องโจ ได้รับเกียรติเพราะผมพาจ้านิค พาหนะหงายท้องสี่ล้อชี้ฟ้าที่นี่

สะพานที่ผมขับรถตกร่อง แคมป์หม่องโจ ที่ชุดลาดตระเวนใช้เป็นที่พัก ลงในพิกัด เพื่อรู้กัน

 

การฝังตัวอยู่ในป่า มีสิ่งหนึ่งอันเป็นความจริงที่ผมรู้คือ ภาพสัตว์ป่าทั้งหลายที่บันทึกได้นั้น เป็นเพียง “ผลพลอยได้”

ผมได้รับสิ่งมีค่ากว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้, บทเรียนต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า มิตรภาพ

สัตว์ป่ามีหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นพวกกินเนื้อ หรือกินพืช การกินของสัตว์ คือผลพลอยได้จากการทำงาน

ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ แล้วสัตว์ป่าก็ได้รับเครื่องมือ อันหมายถึง รูปร่าง ลักษณะ และทักษะต่างๆ มาอย่างครบถ้วน เหมาะสมกับหน้าที่

สัตว์ผู้ล่าได้รับการออกแบบให้มีเขี้ยวเล็บ และส่วนประกอบอื่นๆ อย่างดี

ส่วนสัตว์กินพืชก็จะมีประสาทสัมผัสยอดเยี่ยม ได้กลิ่นผู้ล่าเร็ว

การออกแบบ เป็นไปอย่างสอดคล้อง เสือวิ่งเร็วแต่ได้ในระยะใกล้ๆ

สัตว์กินพืชมีกีบตีนที่ช่วยให้ตะบึงได้รวดเร็วเมื่อวิ่งหนี

การดำเนินชีวิตไปตามวิถี เรียกได้ว่า เป็นบทเรียน

และสิ่งนี้จะได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

 

เวลาเคลื่อนผ่าน

จากพี่ใหญ่ ถึงหม่องโจ จากพี่ ถึงลุง

ในงานเขียน ผมใช้สรรพนามเรียกสัตว์ป่า จาก “เขา” เป็น “มัน” นานหลายปีแล้ว

ด้วยเหตุผลว่า เรามีความคุ้นเคยมากขึ้น

ยอมให้เข้าพวกในบางครั้ง

ระหว่างเรา อาการหงุดหงิด ไม่พอใจ เข้าชาร์จ หรือตื่นหนี เผลอลืมให้เกียรติกันบ้าง

ผมคิดว่า นี่คือเรื่องธรรมดาของความสัมพันธ์

จากที่ถูกสัตว์ป่าสั่งสอนมาหลายครั้ง

บางทีสัตว์ป่าที่พบเจอ ก็อาจเรียกผมว่า “มัน” เช่นกัน…