วิเคราะห์ : จับตาแนวโน้มชวนคิด ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

พูดถึงเรื่องปัจจุบันวันนี้พรุ่งนี้แล้ว คนในวงการอสังหาริมทรัพย์กลุ้มใจเพราะมีแต่เรื่องชวนกังวล อาทิ กำลังซื้อผู้บริโภคต่ำ ขาดความเชื่อมั่น มาตรการ LTV และอื่นๆ

ถ้าคุยถึงแนวโน้มในอนาคตระยะต่อไป ยังเป็นหัวข้อที่ชวนแสดงความคิดเห็นกันได้

ที่ผ่านมานักพัฒนาอสังหาฯ รับรู้กันดีว่า เครื่องมือการสื่อสารการตลาดเปลี่ยนไป ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป เช่น คนโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง แต่งแล้วไม่มีลูกหรือมีเพียงคนเดียว และเป็นเพศที่สาม

เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย บ้านหรือคอนโดมิเนียมทั้งสิ้น

ฟังก์ชั่นพื้นที่ใช้สอยที่สอดคล้องกับพฤติกรรม การตกแต่งที่ตรงกับรสนิยมและตัวของผู้ซื้อเป้าหมาย ต้องหาข้อมูลและตีโจทย์กันใหม่

อย่างไรก็ดี การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ตรงกับพฤติกรรมและรสนิยมผู้ซื้อรุ่นใหม่ แม้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอยู่เสมออยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด

แต่ประเด็นที่นักพัฒนาอสังหาฯต้องคิดไตร่ตรองและวางแผนล่วงหน้า และน่ากลัว คือทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่

เรื่องนี้เริ่มเกิดขึ้นกับสินค้าประเภทอื่นบ้างๆ แล้ว อาทิ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทธุรกิจใหญ่ เริ่มไม่สนใจจะเป็นเจ้าของรถยนต์ซูเปอร์คาร์ราคาแพง หรือเป็นเจ้าของนาฬิกายี่ห้อหรูที่ผลิตจำนวนจำกัด เขาชอบเดินทางด้วยแกร็บแท็กซี่ เพราะเบื่อรถติด ไม่อยากมีภาระหาที่จอดรถ และไม่อยากดูแลรักษา

เช่นเดียวกับนาฬิกา พวกเขาอยากได้อุปกรณ์ที่บอกเวลาได้เที่ยงตรง และยังใช้สอยประโยชน์อื่นๆ ได้อีกมากมายด้วย

เรื่องที่คนรุ่นใหม่แสวงหาและสะสม คือประสบการณ์แสนวิเศษ ไม่ใช่สินค้าราคาแพง

 

มาถึงเรื่องที่อยู่อาศัย 10 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่แยกจากบ้านพ่อแม่ไปอยู่คอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยกันแล้ว แรกๆ เข้าใจว่าเป็นเรื่องความสะดวกในการเดินทางไปเรียนหนังสือ แต่เมื่อเรียนจบพบว่า ส่วนใหญ่ไม่กลับไปอยู่บ้าน แต่จะอยู่ที่คอนโดฯ ต่อไป

คนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย อาจเห็นว่า ห้องชุดในคอนโดฯ ไม่กี่สิบตารางเมตรคับแคบอึดอัด แต่คนรุ่นใหม่กลับรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว ไม่รู้จะมีพื้นที่ใหญ่โตเป็นร้อยตารางเมตรไปทำไม เพื่ออะไร

เชื่อว่าทัศนคติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มจากว่าด้วยเรื่องของขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การมีที่อยู่อาศัยเพื่อความสะดวกหรือการมีที่อยู่อาศัยเพื่อแสดงความหรูหรามั่งคั่ง

ขั้นต่อไป น่าจะเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

ยังไม่มีรูปธรรมจริงจังว่าเกิดขึ้นแล้ว แต่เริ่มมีความคิดเห็นเชิงคำถามของคนรุ่นใหม่ว่า

ทำไมต้องกระเบียดกระเสียรรายได้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 20-30 ปี ซึ่งเมื่อผ่อนเสร็จก็เกษียณอายุการทำงานพอดี แก่เฒ่าพอดี

เพื่ออะไร เพื่อมีที่อยู่อาศัย เพื่อได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

 

ในเมืองใหญ่ของโลกมีปรากฏการณ์ที่ว่านี้แล้ว คือคนรุ่นใหม่ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แต่เช่าที่อยู่อาศัยอยู่ไปเรื่อยๆ สาเหตุที่ทั้งเพราะทัศนคติที่ถือครองเป็นเจ้าของอสังหาฯ เปลี่ยนไป และอีกเหตุหนึ่งก็เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยแพงมากจนคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยไม่สามารถซื้อได้

สำหรับในไทยหรือกรุงเทพมหานคร จะเกิดเมื่อไหร่ เกิดมากน้อยขนาดไหน ยังต้องคิดตามกันต่อ แต่หากเกิดเมื่อไหร่ก็ย่อมหมายถึง ต้องมีการพิจารณาทบทวน Business Model ธุรกิจอสังหาฯ กันใหม่เลยทีเดียว

แน่นอนว่าที่อยู่อาศัยเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ แต่ถ้าคนซื้อกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองธุรกิจอสังหาฯ ก็จะเป็นการผลิตเพื่อขาย แต่ถ้าคนเช่าที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ธุรกิจอสังหาฯ ก็จะเป็นการทำอสังหาฯ ให้เช่า รูปแบบของธุรกิจก็จะแตกต่างกันไป

คิดแล้วเพลินดี

ไม่เหมือนคิดว่า ทำไมนักการเมืองถึงแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกัน แทนที่จะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมที่บทบาทพัฒนาการผลิตสินค้าและการจ้างงานมหาศาล

คิดแล้วปวดหัว 55