ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2562 |
---|---|
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
สิบสองภาษา
ในสวดคฤหัสถ์
และปี่พาทย์งานศพ
สวดคฤหัสถ์ มีเล่นออกภาษาเรียกสิบสองภาษา แล้วส่งผลให้ปี่พาทย์ทำเพลงภาษา
สิบสองภาษา หมายถึง คนหลายกลุ่มต่างภาษาและวัฒนธรรม เป็นวลีมีใช้ทั่วไปในภาษาพูดตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น
แต่พบเป็นลายลักษณ์อักษรเก่าสุดในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ว่า “ทุกประเทศสิบสองภาษา” (แต่งราวเรือน พ.ศ.2200 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์)
สมัยแรกมีขอบเขตจำเพาะบ้านเมืองโดยรอบของไทย ได้แก่ ลาว, เขมร, มอญ, พม่า, เวียดนาม, ชวา, มลายู ฯลฯ สมัยหลังขยายถึงตะวันตก เช่น ยุโรป, อเมริกา
สิบสอง หมายถึงจำนวนมาก ซึ่งมีมากกว่าสิบสอง ไม่แค่สิบสองจริงๆ จะมากกว่าเท่าไรก็ได้ ไม่จำกัด
แต่ยกคำว่าสิบสองเพราะเป็นจำนวนซึ่งได้จากปีนักษัตร (ชวด, ฉลู, ขาล ฯลฯ) มี 12 นักษัตร ถือเป็นจำนวนศักดิ์สิทธิ์ จึงใช้เรียกจำนวนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีความหมายทางดี เช่น สิบสองท้องพระคลัง, สิบสองสนมนางกำนัล, นางสิบสอง (ในนิทานเรื่องพระรถ นางเมรี เป็นนิทานบรรพชนลาว ซึ่งถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์)
ภาษา หมายถึง กลุ่มชนมีสำเนียงภาษาพูดของตนเป็นสำเนียงต่างๆ ถ้าพูดสำเนียงเดียวกันนับเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสำเนียงต่างกันก็ไม่เป็นพวกเดียวกัน ยิ่งมีชาติกำเนิดต่างถิ่นกันก็ถือเป็นคนละชาติภาษา เช่น
คนพูดสำเนียงลาวลื้อเป็นชาติภาษาหนึ่ง, คนพูดสำเนียงลาวเงี้ยวก็เป็นชาติภาษาหนึ่ง, คนพูดสำเนียงลาวทรงดำก็เป็นอีกชาติภาษาหนึ่ง เป็นต้น (มีในหนังสือเรื่องนางนพมาศ แต่งสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์)
การละเล่นออกภาษา
เมื่อคุ้นเคยชาติภาษาต่างๆ นานเข้าก็สร้างสรรค์เป็นการละเล่น เรียก ออกภาษา เลียนแบบสำเนียงของชาติภาษาต่างๆ
ออกภาษา หมายถึง การละเล่นเพลงสำเนียงภาษาต่างๆ อย่างเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ เรียกเพลงลูกบท (ไม่เป็นแม่บท หรือต้นแบบหลัก) มีต้นตอการละเล่นจากสวดคฤหัสถ์ในงานศพชาวบ้าน
บางทีเรียกเพลงลูกบทเหล่านี้ว่าสิบสองภาษา ดังนั้น ออกภาษากับสิบสองภาษาใช้แทนกันได้
สมัย ร.5 ละครพันทางนิยมเล่นออกภาษาต่างๆ แล้วแต่งตัวเลียนแบบกลุ่มคนชาติภาษาเหล่านั้น เพราะคนดูชอบมาก เช่น จีน, มอญ แล้วขยายไปพม่า, เขมร, ลาว, แขก, ฝรั่ง ฯลฯ
ปี่พาทย์ออกภาษา
ครั้นสวดคฤหัสถ์นานไป พวกชาวปี่พาทย์ประโคมศพอยู่ในบ้านงานเดียวกัน เลยเข้าผสมโรงด้วยการทำเพลงรับแต่ละภาษา
ในที่สุดเป็นเพลงออกภาษา หรือเพลงสิบสองภาษา อย่างที่รู้จักคุ้นเคยทุกวันนี้ น่าจะมีขึ้นเก่าสุดราว ร.4 (ไม่เก่าถึงยุคอยุธยา ตามที่ครูดนตรีไทยเคยอธิบายไว้นานแล้ว) ตามลักษณะการเมืองและเศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนจากเดิม ขณะเดียวกันก็เกิดการเหยียดชาติพันธุ์เพื่อนบ้านหนักข้อกว่ายุคก่อนๆ
เพลงดนตรีไทย มีชื่อขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์
เพลงดนตรีไทยมีชื่อต่างๆ โดยขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ เริ่มนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ราว ร.4 หลัง พ.ศ.2400 ตามความนิยมการละเล่นออกภาษายกตนข่มท่านเพื่อแสดงความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า และอวดความเป็นสยามที่เหนือกว่า
[มีคำอธิบายละเอียดและตัวอย่างอื่นอยู่ในหนังสือคนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2546 หน้า 73-103]
แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติของสยามกับเพื่อนบ้านโดยรอบตามที่ระบุชื่อชาติพันธุ์ เช่น เขมรพายเรือ, พม่าแทงกบ, มอญดูดาว, ลาวกระทบไม้, ญวนทอดแห, จีนขิมเล็ก, แขกต่อยหม้อ ฯลฯ
ความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า กับความเป็นสยามที่เหนือกว่า ไม่จำเป็นต้องมีจริงในโลก เช่น ฝรั่งไม่ด้อยกว่าสยาม และสยามไม่เหนือกว่าฝรั่ง แต่ในโลกลวงๆ ของสยามแล้วความเป็นอื่นต้องด้อยกว่าทั้งนั้น ไม่ว่าในโลกจริงจะเป็นอย่างไร
มีตัวอย่างสำคัญอยู่ในโคลงภาพคนต่างภาษา สมัย ร.3 ในวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) แต่งโคลงพรรณนาวัฒนธรรมคนต่างภาษาจำนวนหนึ่งที่มีจริงในโลก และคนชั้นนำยุคนั้นรู้จักดี
แต่โคลงพรรณนาชาติภาษาต่างๆ สร้างให้ดูต่ำต้อย, ตลกคะนอง, ถึงหยาบช้าก็มี สอดคล้องกับการละเล่นเป็นที่นิยมของชาวสยามในยุคนั้น เช่น จำอวดคฤหัสถ์ในงานศพ, เพลงออกภาษา, สิบสองภาษา, เป็นต้น
ชื่อเพลงยุคกรุงเก่าเอาชื่อเดิมของชาติพันธุ์นั้นๆ เรียกอย่าง “ทับศัพท์” หรือยกคำของชาติพันธุ์นั้นตั้งชื่อเพลงแล้วเพี้ยนเสียงบ้างไม่เพี้ยนบ้างสืบต่อๆ มา เช่น เนียรปาตี, อรุ่ม, ปะตงพัน, สระบุหร่ง, กะระนะ, ยิกินใหญ่, ยิกินหน้าศพ, บ้าระบุ่น, เนระคันโยค, มุล่ง, มุใน ฯลฯ
ที่เอาชื่อชาติพันธุ์มานำหน้าชื่อเพลงก็มีบ้าง แต่มีน้อย (ไม่แน่ใจว่าเป็นชื่อจริงมาแต่ดั้งเดิมยุคกรุงเก่า หรือเพิ่งเรียกชื่อนี้ตอนคัดลอกยุคหลัง) ในเพลงมโหรีกรุงเก่าที่จดไว้ 197 เพลง มีชื่อชาติพันธุ์นำหน้าไม่มาก เช่น มอญแปลง, มอญเล็ก, ขอมแปลง, มลายูหวน, มะละกาเสียเมือง, แขกสวด, แขกกินข้าว, ฝรั่งถอนสมอ, ญี่ปุ่น, จีนหลวง, จีนเก็บดอกไม้