โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/ฤๅคลองพระนคร จะมิมีวันใสสะอาด

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ฤๅคลองพระนคร

จะมิมีวันใสสะอาด

 

เมืองไทยของเรานี้มีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่มากมาย รอเวลาให้คนเห็นและบันดาลให้มันเป็นไป

เราเคยมองคลองเล็กคลองน้อยที่พาดไปพาดมาทุกมุมของกรุงเทพฯ น้ำในคลองล้วนเป็นสีดำมะเมื่อม มีขยะลอยสองข้างทาง บ้านเรือนรุกล้ำเข้ามาในคลอง พร้อมกับทอดถอนใจว่ามันจะมีวันที่น้ำสะอาดขึ้นมาได้บ้างไหม

เราเคยมีความฝันว่าจะเห็นคลองสะอาดสวยงาม

ไม่ได้ตั้งความหวังมาก ขอแต่เพียงให้ขยะหมดไป ไม่หมักหมมเน่าเสีย

ไม่ได้คิดถึงขนาดจะให้ใสสวยเหมือนเวนิส

ไม่ได้คิดเลยไปถึงว่าบ้านไม้โกโรโกโสที่เรียงรายหันหลังบ้านให้คลองจะหายไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านคือผู้บุกรุกที่สาธารณะ และพวกเขาทำผิดกฎหมาย ปลูกบ้านยื่นล้ำเข้ามาในลำคลอง

เพิ่งจะตาสว่างรู้ว่าอันที่จริงความฝันของเราไม่ได้ไกลสุดเอื้อม คลองในพระนครและพื้นที่โดยรอบกำลังจะสะอาดสวยงามกว่าที่เป็นอยู่เป็นร้อยเท่า ด้วยมีหลายแรงร่วมมือร่วมใจตั้งแต่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญผู้วางแผนจนถึงหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน และชุมชนให้ความร่วมมือ กำลังช่วยกันเนรมิตให้คลองแห่งกรุงเทพมหานครกลายเป็นเพชรเม็ดงามแห่งกรุงเทพมหานครภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี

ฟังแล้วต้องหยิกตัวเองให้เชื่อว่านี่คือความจริง ไม่ใช่ความฝัน

 

วันที่ 24 มิถุนายน ต้องบันทึกไว้ว่า ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งได้เข้ามารับรู้ด้วยตนเองว่าคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำงานปลุกปั้นงานอันใหญ่หลวงนี้ เมื่อสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย หรือ Thai Urban Designers Association (TUDA) ได้เชิญทีมมติชนลงเรือสังเกตการณ์ไปตามคลองลาดพร้าวระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร

นำชมโดยคุณคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา นายกสมาคม คุณธนานต์ บุญเศรษฐ์ เลขานุการสมาคม และรองศาสตราจารย์พงศ์พร สุดบันทัด ที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว

สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังโครงการฟื้นฟูคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ ผู้ผลักดันให้ “เกิด” โครงการและจะนำพาโครงการไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว

“สามสิบปีที่แล้วผมอยู่นิวยอร์ก บินกลับมาพบกับ ดร.สุเมธ (ตันติเวชกุล) ท่านก็บอกให้ผมสานต่อโครงการนี้ของในหลวง ร.9 คุยกับท่านบ่อยเข้าก็เกิดความรู้สึกว่าต้องทำ” อาจารย์พงศ์พรเล่าให้ฟังที่มาว่าทำไมจึงมาอยู่ตรงนี้

อาจารย์คือผู้เขียนแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย

โดยมีหลายหน่วยงานสนับสนุน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ

รวมทั้งภาคประชาชนคือชุมชนริมคลองประมาณ 50 ชุมชน รวมกว่า 7,000 ครอบครัว

มีหน่วยงานรับผิดชอบขนาดนี้ดูจะหนักอุ้ยอ้าย แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับผู้ลงมือปฏิบัติจริงว่าเอาจริงขนาดไหน อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าอาจารย์พงศ์พรมีข้อได้เปรียบที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นจิตอาสามาจากภาคเอกชน การทำงานรวดเร็ว ถึงลูกถึงคน ทำให้งานคืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยความที่สามารถประสานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนได้อย่างใกล้ชิด และเข้าใจพฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย

 

นํ้าในคลองลาดพร้าวตลอดระยะเกือบ 20 กิโลเมตรยังคงเป็นสีดำเช่นเดิม เราทั้งหมดลงเรือลำใหม่เอี่ยมที่ไม่มีเสียงดังหนวกหู มีคุณสำเนียง ผู้นำชุมชนร่วมใจพิบูลย์ และผู้ริเริ่มปฏิบัติการวิสาหกิจการท่องเที่ยวชุมชนริมคลองลาดพร้าวรับอาสาเป็นผู้ขับ

ที่ลงเรือเป็นท่าน้ำเล็กๆ ข้างวัดพระรามเก้า เรือแล่นไปเรื่อยๆ ชมบ้านเรือนปลูกด้วยไม้ที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและการปลูกที่ไม่แข็งแรงมั่นคง หันหลังบ้านให้คลอง

บางหลังมีห้องหับปลูกรุกล้ำเข้ามาในคลองเป็นเมตร ไม่ใช่ทัศนียภาพที่น่ารื่นรมย์อะไรนัก

ผิดกับเมื่อเราเคยล่องเรือไปตามน้ำที่อัมพวา ซึ่งผู้อยู่อาศัยริมน้ำดูจะมีวิถีชีวิตที่เอื้ออารีต่อธรรมชาติ ไม่ทิ้งสิ่งสกปรก ไม่ปล่อยให้บ้านเรือนรกรุงรัง น้ำจึงใสสะอาด

ความตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นทันทีเมื่อเห็นบ้านแถวสีสันสดใสริมคลอง เป็นภาพที่ขัดแย้งกับบ้านเรือนทรุดโทรมที่ผ่านมา บ้านแถวปลูกเป็นระเบียบถอยร่นจากฝั่งเข้าไป 2 เมตร

อาจารย์พงศ์พรอธิบายว่า เพราะ คสช.ใช้ ม.44 สั่งการจึงสามารถเปลี่ยนเทศบัญญัติเดิมที่ระบุว่าต้องถอยร่น 6 เมตร

บ้านสวยเป็นหย่อมสลับกับบ้านเดิมที่ไม่งามตาไปเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางชุมชนยังไม่สุกงอมและต่อต้านแนวคิดใหม่ ต้องการใช้วิถีชีวิตแบบเดิม

 

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อฉบับล่าสุดปี 2561 ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีวัตถุประสงค์จะพัฒนาการอยู่อาศัยริมคลองให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เพื่อขจัดสิ่งกีดขวางในคลองเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้นในฤดูน้ำท่วม

แต่เมื่อศึกษาลึกลงไป การพัฒนาคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น เนื่องจากคลองลาดพร้าวไหลผ่านจุดตัดถนนที่สำคัญ และโครงการระบบรถไฟฟ้าหลายสาย เกิดโอกาสการเชื่อมต่อ รถ ราง เรือ เป็นประโยชน์ต่อการสัญจรของชุมชนริมคลองและเปิดโอกาสให้ชุมชนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเช่นการท่องเที่ยว การค้าขาย

ในแผนแม่บทฉบับนี้อธิบายชัดเจนถึง แผนควบคุมคุณภาพน้ำ ซึ่งสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานครจะต้องรับผิดชอบ แผนป้องกันน้ำท่วม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของรัฐบาลเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน

 

เหมือนรู้ใจผู้เขียนที่อยากฟังเสียงจากคนในชุมชน เมื่อล่องเรือมาได้ระยะหนึ่ง หญิงสาวผิวเข้มทะมัดทะแมง ใบหน้ามีรอยยิ้มก็กระโดดลงเรือมาร่วมขบวนกับเรา

เธอคือคุณกิตติ์รวี ธนาอมรสวัสดิ์ ประธานชุมชนพหลโยธิน เธอเป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสานระหว่างภาครัฐและชุมชน มีความเป็นจิตอาสาและเป็นผู้นำเต็มเปี่ยม เธอเล่าถึงการที่โครงการนี้แก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและปัญหาสังคมซึ่งหมายถึงเด็กติดยาอย่างได้ผล

ตัวเธอเองก็กำลังรอบ้านสร้างเสร็จจะได้เป็นเจ้าของไปถึงลูกหลานในราคาหลังละ 350,000-450,000 บาท และสามารถผ่อนกับสหกรณ์ชุมชนระยะยาวได้

เรือแล่นต่อไปยังอีกพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวสมบูรณ์ที่ถูกกำหนดไว้ให้เป็นป่าอเมซอนหรือปอดของชุมชน มีระยะทางหลายกิโลเมตร สิ้นสุดบริเวณป่าก็เป็นอีกกระจุกหนึ่งของบ้านที่ปลูกสร้างเสร็จแล้ว บางหลังปลูกต้นไม้หน้าบ้านบ้างแล้วเกิดภูมิทัศน์ที่สวยงาม เราก็หลับตาจินตนาการตามที่อาจารย์พงศ์พรที่บรรยายว่าต่อไปจะกลายเป็นเวนิสแห่งกรุงเทพฯ มีเรือท่องเที่ยว มีวิสาหกิจชุมชน

หลายชุมชนรอต้อนรับคณะของเราเช่นชุมชนเสนานิคม 2 ที่มีคุณวีระชาติ แม้นรอด เป็นผู้นำ ชุมชนนี้กำลังสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียกว้าง 10 x 10 เมตร ลึก 10 เมตร นับเป็นความคิดริเริ่มที่ชุมชนอื่นสามารถนำไปเป็นแบบอย่าง อันที่จริงการบำบัดน้ำเสียจากพื้นดินก่อนปล่อยลงน้ำคือหัวใจสำคัญของการปรับปรุงควบคุมคุณภาพน้ำเลยทีเดียว

“เราให้คนในชุมชนเป็นคนคิดเองว่าเขาจะทำอะไร มันทำให้เขามีส่วนร่วมและอยากทำให้สำเร็จ เราเน้นเรื่องนี้มากๆ เลยครับ” อาจารย์พงศ์พรเสริม

เมื่อโครงการเติบโตขึ้น เทคโนโลยีในการก่อสร้างก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ บ้านเฟสแรกใช้เวลาสร้าง 7 เดือน แต่ปัจจุบันใช้วัสดุสำเร็จสามารถสร้างเสร็จได้ภายใน 3 เดือน

 

ที่จุดใกล้สิ้นสุดโครงการที่เขตสายไหม เราขึ้นบกที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญซึ่งเป็นชุมชนแรกที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีคนอยู่อาศัยเรียบร้อย ที่นี่เราได้ชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนเล็กๆ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าประทับใจเพียงพอ

เราพักรับประทานอาหารฝีมือสมาชิกในชุมชน ต้องชมว่ารสชาติและการนำเสนอแม้เรียบง่ายแต่อร่อย

กาแฟรถเข็นที่ตั้งอยู่ก็ชงได้อร่อยมาก เป็นเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ ที่ชวนให้ติดใจ เสร็จจากอาหารกลางวันเราเดินย่อยอาหารไปตามทางเดินกว้างสองเมตรริมตลิ่งเพื่อสัมผัสกับการอยู่อาศัยจริงๆ ที่ลงตัว

ความสำเร็จของชุมชนย่อมไม่ได้อยู่ที่โครงสร้างทางกายภาพเพียงอย่างเดียว หัวใจคือการตอบโจทย์วิถีชีวิตชุมชน คณะผู้ทำแผนและผู้ปฏิบัติงานตัดสินใจพลิกฟื้นคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อด้วยเหตุว่าคลองในฝั่งพระนครนั้นแตกต่างจากคลองฝั่งธนบุรีตรงที่ “ไม่มีชุมชนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตัวเองมาก่อน แต่เกิดจากการพัฒนาของเมือง และการอพยพของคนต่างจังหวัด” คุณภาพชีวิตจึงสมควรได้รับการปรับปรุง และทำให้ชุมชนมีโอกาสสร้างที่อยู่อาศัยในที่เดิม และพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับที่เมืองได้ระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีระบบขนส่งทางน้ำเป็นทางเลือก เติมเต็มประสิทธิภาพการเดินทางของคนเมือง

โครงการที่บูรณาการหลายมิติเช่นนี้สำเร็จไปแล้ว 60% ใน 2 ปีที่ผ่านมา และเหลือเวลาอีก 2 ปีจะแล้วเสร็จ เรื่องราวที่เก็บมาเล่าในมติชนสุดสัปดาห์นี้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่น่าสนใจติดตาม สำหรับผู้ที่สนใจโปรดติดตามในหนังสือประจำปีของสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยที่จะออกในช่วงใกล้ปลายปีนี้

ในฐานะประชาชนคนเมืองก็บอกกับตัวเองว่าอยากกลับมาชมคลองลาดพร้าวอีกครั้งเมื่อน้ำใสสะอาด เชื่อว่าไม่นานเกินรอ

ที่สำคัญคือ การที่ทำงานตามแผนได้จริง และทำจริงจังไม่ใช่ผักชีโรยหน้า