ป๋าเท่ง-ป๋าเปรม

การสยบกลุ่มสามมิตรในพรรคพลังประชารัฐลงอย่างราบคาบ

อย่างน้อย-น้อย ก็ชั่วคราว

ทำให้คนในฝั่งฟากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มองข้ามช็อต เมื่อเอา “นานามุ้ง” ในพลังประชารัฐอยู่

ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรค

ดำรงสถานะ “คนกลาง”

เลียนแบบ “เปรมโมเดล” จะดีกว่า

นั่นคือ ลอยตัวเหนือพรรคการเมือง

แล้วใช้บารมี ที่มีกองทัพ วุฒิสมาชิก กำราบนักการเมืองให้อยู่หมัดจะดีกว่า

พล.อ.ประยุทธ์จะเทียบชั้น พล.อ.เปรม ได้หรือไม่

ก็คงเป็นหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่จะไปเรียนรู้

ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องรู้

โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนักการเมืองที่มากมายด้วย “สีสัน” และ “พิษสง”

พล.อ.เปรม ซึ่งว่ากันว่า มากด้วยบารมี ยังเคยเพลี่ยงพล้ำมาแล้ว

ย้อนหลังไปปี 2528-2529

ตอนนั้น พล.อ.เปรมแข็งแกร่งยิ่ง

ด้วยแรงหนุนของ จปร.1 นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ จปร.5 นำโดย พล.ท.สุจินดา คราประยูร

ส่วนในทางการเมือง แม้ พล.อ.เปรมจะวางตัวเหนือพรรค

แต่ก็มีเสียงซุบซิบว่า มีปฏิบัติการลับชนิดสุดยอดด้วย

นั่นคือการมอบหมายให้บิ๊กทหารใน จปร.1 ใช้อิทธิพลทางทหาร เปิดทางเข้าสู่พรรคกิจสังคม

โดยให้ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เพื่อน พล.อ.เปรม ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคกิจสังคม

มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากพรรคนี้หลายคน

หนึ่งในนั้นคือ “ป๋าเท่ง” นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคกิจสังคม

ถูกปลดจากรองนายกฯ

แม้ป๋าเท่งจะมีภาพเป็น ส.ส.บ้านนอก ซื่อๆ แต่นายบุญเท่งก็มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง

ถึงจะหมอบราบคาบให้กับ พล.อ.เปรมในตอนนั้น

แต่ก็สะสมความแค้น เพื่อเอาคืนอยู่เงียบๆ

จนที่สุด สบโอกาส

คือ ขณะที่รัฐบาล พล.อ.เปรมไประวังกฎหมายสำคัญๆ ที่จะเข้าสภา

นายบุญเท่งพร้อม ส.ส.กิจสังคมจำนวนหนึ่ง แอบไปร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้าน

ล้ม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ซึ่งเป็นกฎหมายเล็กๆ

แต่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

ผลสะเทือนสูง

กดดันให้ พล.อ.เปรมไม่มีทางเลือก ต้องยุบสภาเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2529

ป๋าบุญเท่งหัวเราะหึ-หึ และได้กวาดต้อน ส.ส. ตบเท้าออกจากพรรค

ไปก่อตั้งพรรคสหประชาธิปไตย

ว่ากันว่า บิ๊กทหารที่ยืนคนละฟาก พล.อ.เปรม สนับสนุน

กลายเป็นอีกมหากาพย์การเมือง

ที่แม้ไม่อาจทำให้ป๋าเท่งกลับมาใหญ่ได้

แต่ก็ลูบคม “เปรมโมเดล” ได้อย่างน่าเรียนรู้!