‘ธนาธร’ กับ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ด้านข้อมูล/บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ธนาธร’ กับ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ด้านข้อมูล

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง นับว่าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่เคยตกจากรอเรดาร์แห่งความสนใจของสังคม เนื่องจากขยันและเชี่ยวชาญในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารไอเดียใหม่ๆ (บางทีก็แค่พิสดารแต่ปฏิบัติไม่ได้) ไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ดูตามรูปการณ์แล้วธนาธรจัดว่าเป็นนักการเมืองที่ครบเครื่อง เพราะรู้ถึงอิทธิพลของวิชา “การตลาด” และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รู้ว่าสินค้าจะขายได้ต่อเมื่อทำให้มันอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคตลอดเวลา ตราบใดที่ผู้บริโภคยังไม่นอน ยังไงก็ต้องเห็นหรือรับรู้สินค้านั้นผ่านสื่อช่องทางใดช่องทางหนึ่ง

ธนาธรทำตัวเป็นสินค้าในยุคเศรษฐกิจแบบ Attention economy (ใครเรียกร้องความสนใจได้มากกว่าคนนั้นเป็นผู้ชนะ) ได้อย่างดีเลิศ

ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์และโซเชียลมีเดียอันเป็นจุดแข็งของพรรคนี้ ซึ่งว่ากันว่าพรรคนี้มีผู้เชี่ยวชาญไอทีระดับเทพมาช่วยงานอยู่เบื้องหลัง

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าการมีทีมไอทีระดับเทพนี้ทำให้พรรคอนาคตใหม่ สามารถกำหนดทิศทางหรือเทรนด์ในโลกโซเชียลได้ เพื่อสร้างภาพหรือทำให้คนในพรรคอยู่ในความสนใจของสังคม เช่น การทำให้ประเด็นปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวกับคนพรรคนี้ขึ้นมาติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์หลายครั้ง

อาทิ ก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา แฮชแท็ก #saveThanathorn และ #ฟ้ารักพ่อ ขึ้นมาติดอันดับ 1 ซึ่งถูกสงสัยว่าเป็นเทรนด์จัดตั้งหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีคนตาดีตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า คล้ายๆ จะมีการจัดตั้งทีมเป็นการเฉพาะเพื่อตอบโต้หรือถล่มด่าใครก็ตามที่สาวกอนาคตใหม่เห็นว่าเป็นศัตรูหรือมาวิพากษ์วิจารณ์คนของพรรคอนาคตใหม่

เช่นกรณีของดาราชาย ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย ได้โพสต์ข้อความในลักษณะที่ไปกระทบพรรคอนาคตใหม่และคล้ายจะปกป้อง คสช. ก็ปรากฏว่ามีคนเข้าไปถล่มด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายจำนวนมาก คล้ายกับกองทัพซอมบี้

จำนวนคนที่เข้าไปด่าดาราชายดังกล่าวนั้นดูเหมือนมีมาก แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตอีกว่า น่าจะเป็นขบวนการจัดตั้งหรือเปล่า กล่าวคือ ส่วนใหญ่ไม่มีตัวตนจริง ในลักษณะว่า คนคนเดียวแต่เปิดบัญชีโดยใช้ตัวตนปลอมไว้เป็นสิบๆ บัญชี

ดังนั้น คนมีตัวตนจริงๆ แค่ 10 คน ก็อาจสร้างให้ดูว่ามีเป็นหลายร้อยได้ ดังนั้น จำนวนคนเข้าไปคอมเมนต์ ไลก์ แชร์ในโซเชียลมีเดีย

บางครั้งจะไปเชื่อถือมากไม่ได้

 

หากใครช่างสังเกตละเอียดเข้าไปหน่อย จะพบว่า “ข้อความ” ในการด่าฝ่ายตรงข้ามของกองทัพจัดตั้งนี้ เป็น “ข้อความสำเร็จรูป” ที่พร้อมหยิบหรือก๊อบปี้ไปใช้งานในทุกโอกาส ในลักษณะรีไซเคิล ใช้ซ้ำไปซ้ำมา

หากตาดีหน่อยจะเห็นว่า มีหลายข้อความที่เหมือนกันเป๊ะกับที่เข้าไปด่าสินจัย หงษ์ไทย (ที่ถูกหาว่าเป็นดาราเสื้อเหลือง) หรืออีกหลายคน ก่อนหน้านี้

การรู้จักใช้วิชาการตลาดของพรรคอนาคตใหม่และธนาธร อาจกล่าวได้ว่าคล้ายคลึงกับการทำงานของทักษิณในอดีต

เพียงแต่ในยุคนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่เฟื่องฟูเท่ายุคนี้ แต่เพียงแค่นั้นทักษิณก็ประสบความสำเร็จมาก จากการขยันพูด ขยันขายไอเดียใหม่ๆ กับกลุ่มเป้าหมายผ่านรายการวิทยุทุกเช้า จัดอีเวนต์บ่อยๆ

เนื่องจาก Attention economy นั้น เน้นการดึงดูดความสนใจเป็นหลัก ส่วนความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลอาจไม่ใช่สาระสำคัญ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจหลงเชื่อและคล้อยตามได้หากไม่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

ในส่วนของธนาธรนั้น ดูเหมือนจะ “พลาด” เรื่องข้อมูลอยู่ไม่น้อย ถ้าพลาดบ่อยและถูกจับผิดได้ ก็อาจเสียความน่าเชื่อถือ

เช่น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีการหาเสียงและปราศรัยว่า “5 ปีที่ผ่านมา รวยกระจุก จนกระจาย การกระจายรายได้เลวลง” ทำให้มีอาจารย์เศรษฐศาสตร์ชื่อ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาโต้แย้งว่าข้อมูลของธนาธร ไม่ถูกต้อง

พร้อมกับนำตัวเลขแสดงการกระจายรายได้ของไทยมาเทียบให้ดูในแต่ละยุค

 

ข้อความของ ดร.ปีติระบุว่า “GINI coefficient ของไทยเราปรับตัวลดลงมาโดยตลอดครับ จากระดับ 0.508 สมัยคุณทักษิณ ลงมาเป็น 0.484 สมัยคุณอภิสิทธิ์ ลดเป็น 0.465 สมัยคุณยิ่งลักษณ์ และเป็น 0.453 สมัยคุณประยุทธ์ นั่นแปลว่าการกระจายรายได้ของเราดีขึ้นตลอดในช่วงที่ผ่านมาครับ ไม่ใช่ 5 ปี รวยกระจุก จนกระจาย”

คุณธนาธรยังบอกอีกครับว่า “เพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตย การกระจายรายได้เราถึงแย่ แต่ไปดูประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์เลยครับ GINI ของจีนอยู่ที่ 0.422 การกระจายรายได้ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ หรือเวียดนามก็ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ GINI ของเขาอยู่ที่ 0.353 การกระจายรายได้ก็ดีกว่าหลายๆ ประเทศ ทั้งที่เขาไม่ใช่ประชาธิปไตยครับ (ข้อมูลจากธนาคารโลก)”

ก่อนจะตบท้ายว่า “ผมเขียนข้อแนะนำด้วยความหวังดีจริงๆ ครับ อยากเห็นพรรคการเมืองรุ่นใหม่ ของคนรุ่นใหม่ เลิกหาเสียง เลิกบิดเบือน ไม่งั้นพรรคใหม่ๆ ก็จะกลายเป็นพรรคน้ำเน่าไปครับ”

Gini coefficient หรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ ที่ ดร.ปีติกล่าวถึงนั้น เป็นข้อมูลสถิติที่ทั่วโลกนิยมนำมาใช้เพื่อบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ค่าจีนี่บอกความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าจีดีพี ค่าจีนี่ยิ่งต่ำก็หมายถึงการกระจายรายได้ค่อนข้างดีหรือเท่าเทียม

 

ประเด็นนี้สะท้อนว่าธนาธรยังมีความรู้ด้านเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ไม่เพียงพอ แต่จะถึงขั้น economic illiteracy (การไร้ความรู้ด้านเศรษฐกิจ) หรือไม่ ยังไม่แน่ใจ ถ้าเข้าขั้น illiteracy ก็จะเป็นอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้าใจไปว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าเกิดจากซื้อสินค้าจากจีนมาก จนนำไปสู่การเปิดสงครามการค้ากับจีน ทั้งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดของอเมริกาเขาออกมาชี้ว่าปัญหาเกิดจากคนอเมริกันมีอัตราการออมต่ำต่างหาก

การที่ทรัมป์ economic illiteracy (ถูกเรียกโดยสื่อและผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน) ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้ นี่คือตัวอย่างชัดเจนว่า หากผู้นำไม่มีความรู้ที่ถ่องแท้ในเรื่องสำคัญ แถมไม่รู้แล้วยังไม่ยอมฟังใคร จะก่อปัญหาระดับหายนะ

ล่าสุดนี้ที่พลาดแบบเสียรังวัดมากก็คือกรณีธนาธรลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาประมงแล้วอ้างว่าการทำตามกฎของสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ชาวประมงเดือดร้อน ดังนั้น จะขอแก้ไข พ.ร.ก.ประมง 3 มาตรา ซึ่งหลักๆ ก็คือ จะทำให้ประมงไทยกลับไปสู่การทำผิดกฎของอียูเช่นเดิม ทั้งที่รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามอย่างเหนื่อยยากถึง 4 ปี จึงสามารถทำให้อียูยอมปลดไทยออกจากการถูกใบเหลืองฐานทำประมงผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมาการติดใบเหลืองทำให้สินค้าประมงไทยเสี่ยงที่จะไม่สามารถส่งออกไปขายอียูได้หากไม่แก้ปัญหาตามที่อียูกำหนด

การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการควบคุม นอกจากจะทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายล้าง ยังเกิดปัญหาแรงงานและค้ามนุษย์ แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองดูแล ดังเห็นได้จากลูกเรือประมงเสียชีวิตกลางทะเลแล้วถูกโยนทิ้ง ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส

เรื่องนี้ทำให้ที่ปรึกษากรมประมงออกมาตอบโต้อย่างละเอียด ชนิดธนาธรหักล้างอะไรไม่ได้เลย

ขนาดเอ็นจีโออย่างบรรจง นะแส ยังบอกเลยว่า หลังรัฐบาลแก้ปัญหาประมง ได้รับข้อมูลจากชาวประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัดชายฝั่งว่า สัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นคนเล็กคนน้อยจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น

ส่วนข้อมูลที่ธนาธรไปรับฟังมานั้น บรรจงบอกว่าน่าจะเป็นการไปรับฟังจากพวกประมงพาณิชย์หรือประมงนายทุนใหญ่ที่มีเงินทุนหนา มีเรือเจ้าละ 30-60 ลำ