มุกดา สุวรรณชาติ : สิ่งแวดล้อมทางการเมืองในห้วงวิกฤตทศวรรษ

มุกดา สุวรรณชาติ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ของประชาชนในรอบ 10 ปี

หลังการรัฐประหาร 2549 ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อการยึดอำนาจเสร็จลง มีการยุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทยไม่ได้ ตัดสิทธิ์กรรมการพรรคไม่ให้ลงเลือกตั้งเป็นร้อยคน ใครๆ ก็คิดว่าเหตุการณ์คงจะสงบภายในปีเดียว

ดังนั้น ในปี 2550 จึงมีการเลือกตั้งโดยการแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง พรรคทักษิณถูกยุบแต่ไม่ยอมแพ้ เปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน ในสภาพที่เหมือนถูกมัดมือขึ้นเวที กลับได้เสียงมากที่สุด

ปัญหาที่ดูเหมือนจะจบไม่ยาก กลายเป็นยืดเยื้อทันที

หัวหน้าพรรคต้องลี้ภัย แกนนำถูกตัดสิทธิ์ 111 คน ที่ชนะเพราะประชาชนไม่ยอม จึงสู้กับเงินและอำนาจได้ การเปลี่ยนแปลงขั้นแรกปรากฏในปลายปี 2550 นี่เอง

ด้วยความที่ไม่ค่อยฉลาด กลุ่มอำนาจเก่าสั่งการให้เล่นเกมต่อโดยใช้ม็อบเสื้อเหลือง ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ ไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2550 ออกไป ช่วงชิง ส.ส.จากพรรคทักษิณและพรรคร่วมรัฐบาลมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้นปี 2552

นึกว่านี่คือสุดยอดวิชา ที่แท้เป็นเกมลิงแก้แห เกมจึงขยายไม่จบเพราะอีกฝ่ายก็มีม็อบเสื้อแดงมาประท้วงขอให้เลือกตั้งใหม่

คราวนี้ยิ่งยุ่งเพราะลิงมาแก้แหหลายตัว มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมประท้วงด้วยอาวุธสงครามกลางเมือง มีคนตาย บาดเจ็บจำนวนมากในเหตุการณ์ปี 2553

บาปนี้จะติดตัวคนที่ทำไปอีกนาน

ผู้ปกครองที่ไม่รู้ว่าประชาชนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อจำเป็นต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็ยังคิดว่าตัวเองมีโอกาสชนะ

การเลือกตั้งปี 2554 จึงเกิดขึ้น เพราะคิดว่าได้เปรียบ ก็…ยุบพรรคร่วมรัฐบาลไป 3 พรรค ตัดสิทธิ์นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามซ้ำอีกรอบ เพื่อตัดคู่แข่งที่เก่งกว่า

แต่ผลการเลือกตั้ง 2554 ปรากฏว่าพรรคทักษิณซึ่งเปลี่ยนเป็นเพื่อไทยชนะมากกว่าเดิม

เป็นผลจากแรงแค้น ได้เสียงเกินครึ่งสภา ได้นายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการเลือกตั้ง

คราวนี้จะพบว่าคนที่เลือกไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ก่อนเลือกตั้งไม่เคยรู้จัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาก่อน แต่สถานการณ์บีบคั้นทำให้ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านรู้สึกว่าเสียงตัวเองได้ถูกทำลายไปโดยสารพัดอำนาจ ซ้ำยังถูกทำร้าย ทั้งเจ็บตัวเจ็บใจ

การเปลี่ยนของประชาชนในขั้นที่สองนี้เรียกว่ากระจายสู่สายเลือด แบ่งข้างชัดเจน ต่อให้ถอดเสื้อออกก็ยังเห็นสีที่แตกต่าง ไม่มีทางดีกันแล้ว เพราะเล่นกันถึงชีวิต และคู่ต่อสู้ที่เป็นบางคน ก็ขยายมาเป็นพรรคการเมือง และกระจายลงสู่ประชาชนเป็นล้านๆ

 

สถานการณ์ลิงแก้แห
ดำเนินต่อ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
ทำให้เกมการเมืองสกปรกมากขึ้น

แต่คนที่แพ้เลือกตั้งก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาเปลี่ยนเกมเล่น ไม่สนใจเสียงประชาชน แต่ก็ยังเป็นเกมลิงแก้แหเหมือนเดิม ยิ่งพันตัวเองรุงรัง รัฐบาลเลือกตั้งอยู่มาได้ 2 ปี ก็เริ่มเจอม็อบ ปลายปี 2556 วิธีที่ใช้ก็เหมือนเดิม, มีม็อบ กปปส. เข้ามาเคลื่อนไหวเลียนแบบม็อบพันธมิตรฯ ในปี 2551

คราวนี้ไม่ปิดสนามบิน แต่ได้มีการยึดหน่วยงานราชการและมีการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการปิดกรุงเทพฯ

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องยอมลาออกจัดเตรียมการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ถูกต่อต้านไม่สามารถเลือกตั้งได้ เพราะถ้าอีกฝ่ายยอมให้เลือกตั้งก็จะแพ้อีก

ตุลาการภิวัฒน์ทำหน้าที่อีกครั้ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกปลด ไม่มีการเลือกตั้ง มีการรัฐประหารแทนในปี 2557

ถึงจุดนี้ถ้ามองไปที่ฝ่ายประชาชนจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจากปี 2549 ถึง 2557 เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นตกผลึกทางความคิดแล้ว

เกิดการเลือกข้างอย่างชัดเจน สรุปได้ว่า…คนรวย คนชั้นสูง คนชั้นกลางและคนชั้นล่าง ในทุกภูมิภาค มีความคิดการเมือง มีจุดยืนของตัวเอง

หลังรัฐประหาร 2557 ก็ไม่มีใครกล้าเปิดให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วอีกแล้ว เพราะถ้าเลือกตั้งก็ต้องแพ้อีก จึงมีการพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้ถอยหลังไปอีก เมื่อแก้แล้วได้เปรียบสุดๆ ต้องมี ส.ว. 250 คน เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งให้มาใช้บัตรใบเดียวที่ชนะมากจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงหรือไม่ได้เลย แม้จะเป็นวิธีการเลือกตั้งที่ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่ฝ่ายประชาธิปไตยที่อยากเลือกตั้ง ก็ยังสู้ในกติกาที่ตัวเองไม่ชอบ

ภายหลังผลการเลือกตั้งในปี 2562 ก็ปรากฏออกมาอย่างที่ทุกคนได้เห็นคือ มีการแบ่งข้างชัดเจน แต่ครั้งนี้แบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนให้ คสช.สืบทอดอำนาจโดยการเลือกตั้ง หวังใช้ระบบรัฐสภาค้ำเก้าอี้ แต่จะต้องมีเสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนฯ นายกฯ จึงจะบริหารงานได้

ผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่าได้เสียงประมาณคนละครึ่ง

การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำต้องใช้อำนาจของกรรมการช่วยตัดสิน ทำให้มีเสียงเกินครึ่ง ดังนั้น สถานการณ์ลิงแก้แหจึงปวดหัวมากยิ่งขึ้น เพราะถึงเวลาแบ่งสมบัติ ซึ่งทั้ง 500 คนต่างก็อยากได้

หลังเลือกตั้ง 2562 จึงเห็นประชาชนเปลี่ยนไปอย่างมีคุณภาพ การแบ่งข้างซึมไปถึงกระดูก พวกเขาส่วนหนึ่งก้าวหน้ามาสู่การเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่จำกัดว่าหัวหน้าพรรคเป็นใคร ฝ่ายตรงข้ามก็ปรับตัวเลือกพรรคที่จะหนุนนายกฯ จาก คสช.ไม่ยึดติดของเก่า

แต่คนรุ่นใหม่ได้สำแดงพลังให้เห็นหลังจากเงียบมา 10 ปี การแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน ขยายลงไปถึงชั้นมัธยมต้น

 

วิเคราะห์
สภาพการเมืองปัจจุบันและอนาคต

ถ้ามาดูรายละเอียดของสถานการณ์ความได้เปรียบเสียเปรียบผ่านการเปลี่ยนแปลงของคะแนนเสียง แปลออกมาเป็นความคิดของประชาชนกลุ่มต่างๆ จะพบว่า

1. การเลือกตั้งแบ่งฝ่ายยังดำรงอยู่อย่างชัดเจน คะแนนของแต่ละฝ่ายจะมีการเคลื่อนย้ายแต่ก็ไม่ข้ามฟากไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง

ความหมายนี้คืออุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งตลอด 12 ปียังดำรงอยู่ และมีการแปรสภาพไม่ใช่ระหว่างพรรคการเมือง แต่เป็นฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย กับฝ่ายที่ยอมรับอำนาจจากการรัฐประหาร

2. คะแนนเสียงฝ่ายต้องการประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่นิยมพรรคทักษิณพรรคเดียวสามารถกระจายออกไปหาพรรคที่มีแนวทางเดียวกันได้ และเมื่อเรียงลำดับความก้าวหน้า พรรคอนาคตใหม่มีความก้าวหน้าที่สุด เคลื่อนไหวได้แรงสุด จึงได้รับการตอบรับจากประชาชนส่วนที่ก้าวหน้า และจากเยาวชนคนหนุ่ม-สาว ตามที่ได้ผลวิจัยมาแล้ว

การที่คนยอมรับแบบนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถแยกพรรคไทยรักษาชาติออกมาเป็นคนละพรรค เพื่อว่าจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์บ้าง แต่ผลที่ปรากฏนอกเหนือความคาดหมาย เพราะไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค เพื่อไทยถึงแม้ส่ง ส.ส.เพียง 250 เขต แต่เมื่อชนะเลือกตั้ง 137 เขตไม่สามารถได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว เรื่องนี้แกนเพื่อไทยคำนวณพลาด หลายคนจึงไม่ได้เป็น ส.ส.

ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งส่ง ส.ส. 150 เขต เมื่อถูกยุบ คะแนนเสียงก็ไหลไปให้อนาคตใหม่ซึ่งกำลังมีกระแสตอบรับที่ร้อนแรงที่สุด และก็ไหลต่อไปให้พรรคอื่นตามความนิยมต่างๆ เช่น เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ หรือพรรคเพื่อชาติ

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ ดูเผินๆ เหมือนฝ่าย คสช.จะได้เปรียบ แต่ผลก็คือทำให้พรรคอนาคตใหม่สามารถเบียดแทรกเข้ามาช่วงชิงชนะ โดยอาศัยกระแสความนิยมของคนหนุ่ม-สาวและการตัดคะแนนกันเองของพรรคคู่แข่ง

มีการประเมินว่าถ้าไทยรักษาชาติไม่ถูกยุบ จะทำให้คะแนนของไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ตัดกันเอง และจะพ่ายแพ้ฝ่ายตรงข้ามประมาณ 20 เขต

 

เกมการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผู้สันทัดการเมืองมองจากการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ประเมินว่าน่าจะมีขึ้นในปี 2563

1. คู่แข่งขันหลักคือ พลังประชารัฐ (ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง), เพื่อไทย + 1, อนาคตใหม่และ ปชป. ส่วนกลุ่มพรรคขนาดกลางและจิ๋วก็ยังเป็นตัวประกอบเหมือนเดิม

ที่ผ่านมาเสียงของกลุ่มผู้สนับสนุน คสช.ได้ดำเนินไปตามกลไกในระบบเลือกตั้งแบบเก่า คือผ่านหัวคะแนน กลไกอำนาจรัฐ นักการเมืองรุ่นเก่า มีการลดแลกแจกแถมจากโครงการต่างๆ มีผลไปกระตุ้นให้เกิดคะแนน โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ

เส้นกราฟของผู้มาลงคะแนนเสียงวัดตามอายุของอนาคตใหม่กับพลังประชารัฐจะวิ่งตัดกันที่คนอายุ 35 ปี หมายความว่าไง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกินอายุ 60 ปี ในขณะที่คนอายุน้อยกว่า 35 ไปถึงอายุ 18 ก็จะเลือกอนาคตใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่มิได้หมายความว่าแก่ตัวไปแล้วจะไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะอายุไม่ได้เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของเขา ถ้าอนาคตใหม่รักษาความนิยมไว้ได้ยิ่งนานคนเลือกก็ยิ่งเพิ่มขึ้น คาดว่าพลังประชารัฐจะใช้แผนเดิม อีกสามพรรคกำลังปรับตัวแก้เกมอยู่

2. แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าคือการแย่งคะแนนในฝ่ายเดียวกัน ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2562 คะแนนเสียงที่หายไปของประชาธิปัตย์ มีถึง 80% ที่หันไปเลือกพลังประชารัฐ ในขณะเดียวกัน ฟากเพื่อไทย เมื่อไทยรักษาชาติถูกยุบ มีเป็นร้อยเขตไม่มีผู้สมัครพรรคเพื่อไทย คะแนนจึงถูกเทไปให้อนาคตใหม่ แต่ความสามารถของอนาคตใหม่ในช่วงที่กระแสแรง ยังสามารถเอาชนะทุกพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น อีก 1 ปี ถ้าไม่มีใครยอมกัน การแข่งขันกันเองระหว่างแนวร่วมก็จะเกิดขึ้น พลังประชารัฐต้องชนกับประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ส่วนอนาคตใหม่ต้องชนกับเพื่อไทย

3. วันนี้เกมลิงแก้แหขยายมาถึงฝ่ายบริหาร พรรคร่วมรัฐบาลต้องแบ่งประโยชน์ให้กับคนที่มีส่วนช่วยให้ได้รับเลือกและจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างทั่วถึง แต่กิเลสและความโลภไม่ปรานีใคร และเมื่ออำนาจของ คสช.ลดลงหลังตั้งรัฐบาล อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจะไม่เหมือนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ จากการรัฐประหาร จะต้องมีวิธียืดหยุ่นประนีประนอมจึงจะประคับประคองสถานการณ์ไปได้นานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ แต่ดูจากบุคลากรที่ไหลไปรวมกันตามกระแสอำนาจ ปัญหาคงจะเกิดขึ้นมากมาย และพรรคที่ชำนาญเกมการเมืองอย่าง ปชป.จะต้องมีปฏิบัติการขั้น 3 ไม่ยอมให้ตนเองจมไปพร้อมเรือของ พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน

แต่ถึงอย่างไรทุกพรรคก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องบริหารงานให้ได้เกิน 1 ปี เขาต้องคิดถึงสมัยงบประมาณนี้พี่กำลังจะผ่านและอีกหนึ่งสมัยงบประมาณในกลางปี 2563 แต่ปัจจัยชี้ขาดว่านานแค่ไหน น่าจะขึ้นอยู่กับคนในพรรคร่วมรัฐบาล

ในอนาคตอันใกล้ของทุกพรรค ต้องปรับการเดินเกมให้ทันกับประชาชน การสื่อสารยุคใหม่ ต้องแก้ไข รธน. และวิธีการเลือกตั้ง ปชป.ได้รับผลกระทบมากพอควร จากจุดยืนทางการเมือง ถ้ายังอยู่ในสภาพนี้ พลังประชารัฐจะดึงคะแนนไปมากกว่า 5 ล้านคะแนน…รายละเอียดของแต่ละพรรคขอวิเคราะห์ในโอกาสต่อๆ ไป