บทวิเคราะห์ | สถานการณ์ พรรค “พัง” ประชารัฐ

เพราะความไม่สุกงอมกับนักการเมืองที่ตนเองโจมตีมาตลอด

ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2/1 แวดล้อมด้วยนักการเมือง เสือ สิงห์ กระทิง แรด

และที่สำคัญ มาจากพรรคพลังประชารัฐด้วย

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดใจที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ว่า

ไม่อยากให้มองว่าการเป็นรัฐมนตรี เป็นกระทรวงใหญ่ กระทรวงเล็ก กระทรวงเอ กระทรวงบี เพราะไม่ใช่บริษัท

ทุกกระทรวงมีความสำคัญเท่ากันหมด

“การเป็นรัฐมนตรี อยากให้ดูความเหมาะสม แม้จะเป็นโควต้าของแต่ละพรรคการเมือง แต่ถ้าทำไม่ดีก็ปรับเปลี่ยนได้…จึงขอให้หยุดการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะทางโซเชียล เพราะผมมีหน้าที่รับผิดชอบ ได้ตัดสินใจแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ”

คือคำประกาศจาก พล.อ.ประยุทธ์

และย้ำว่า

“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้หยุดพูดกันได้แล้ว มันเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ถ้าวันหน้าไม่พอใจก็เป็นอีกเรื่อง ถ้าจะไปไหนก็แล้วแต่ ผมไม่สามารถไปห้ามได้”

ตีความตามคำพูดดังกล่าว

มองเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจากดึงเอาเรื่องการตั้งคณะรัฐมนตรีมาอยู่ในมือของตนเอง ในห้วงโค้งสุดท้าย

ที่นักการเมืองทั้งในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น พากันนอนใจแล้วว่า ทุกอย่างนิ่งแล้ว

แต่เอาที่จริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น

โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐเอง มีการรื้อโผอีกรอบ

ไม่แคร์ว่า “(คนที่ไม่พอใจ) จะไปไหนก็แล้วแต่”

นั่นเอง ที่นำมาสู่การแถลงข่าวด่วน นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ

ว่ามีการปรับเปลี่ยนชื่อคนเป็นรัฐมนตรีใหม่

เช่น ตน นายอัครา พรหมเผ่า นายสุชาติ ชมกลิ่น มีข่าวหลุดจากโผ ครม.

ส่วนนายสุริยะ ถูกเปลี่ยนเก้าอี้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งที่นายกฯ เคยบอกหัวหน้าพรรคไว้แล้วว่าโผไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“นายกฯ เป็นชายชาติทหาร และจะเป็นผู้นำประเทศ พวกเราจึงมั่นใจในคำพูดและเชื่อถือคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าเป็นไปตามกระแสข่าวจริง ผมคงเสียใจเป็นอย่างยิ่ง”

และยิ่งการนำพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่มีเพียง 3 คนมาร่วมรับตำแหน่งรัฐมนตรี นายอนุชาบอกว่า ไม่น่าถูกต้อง

“เสมือนว่าพวกผมไปรบจนชนะ พอกลับบ้านถูกแม่ทัพนำศัตรูที่ไปต่อสู้มาจนชนะ มาตัดหัวพวกผมทิ้ง”

พร้อมกับแฉว่า มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มใน พปชร.เป็นผู้บริหารพรรค คอยรังแกอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่รับใช้ทำงานให้ทุกเรื่องที่ต้องการ จนประสบความสำเร็จให้เสวยสุข แต่ก็ยังให้ร้ายโจมตีพวกตนต่อผู้ใหญ่ ใช้สื่อโจมตี เสนอแต่เรื่องไม่ดีไม่จริงจนพวกตนเป็นคนน่ารังเกียจ

“ขอได้โปรดหยุดการกระทำเหล่านั้นนับตั้งแต่บัดนี้ พวกเขาอาจลืมว่าเคยใช้อะไรผมไว้บ้าง ทิ้งอะไรไว้ที่ผมบ้าง ถ้าผมโดนรังแกจนทนไม่ได้ พวกผมก็จะให้พวกคุณมีข่าวดังระดับชาติ” นายอนุชากล่าวอย่างแข็งกร้าว

และยังย้ำว่า “ถ้ายังไม่หยุดจะเปิดโต๊ะแถลงข่าวทุกวัน เพื่อนำข้อมูลมาให้ประชาชนและสื่อทั้งประเทศได้ทราบว่าเรามีผู้บริหารเป็นเจ้าของสื่อ แต่กลับมาทำร้ายคนในพรรคเดียวกัน มันไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง”

มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นการขยายความคำพูดของนายอนุชาว่า

ส.ส.และแกนนำในพรรคบางส่วนไม่พอใจต่อท่าทีของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำจากกลุ่ม กปปส. ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่มีเสียง ส.ส.กทม.เพียงแค่ 11 เสียง แต่ได้ถึง 2 เก้าอี้

และยังมีการเสนอให้เฉือนโควต้าของกลุ่มสามมิตร ซึ่งมี ส.ส. 30 เสียง

โดยให้ตัดตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของนายอนุชา ให้แก่พรรคชาติพัฒนา

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการหักหลังกับนายสุริยะ

โดยให้ย้ายจากกระทรวงพลังงานไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่จะมีปัญหาในการบริหารงาน เพราะธุรกิจส่วนตัวของนายสุริยะเกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค มาอยู่กระทรวงพลังงานแทน เพื่อที่จะทำงานอย่างราบรื่นกับ “นายทุนพรรค” ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน

และได้เข้ามากดดันให้นายสุริยะออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กับนายสุริยะและนายทุนพรรคดังกล่าว

“กลุ่ม ส.ส.ภาคต่างๆ เห็นว่ากลุ่ม กปปส. ควรได้แค่ 1 ตำแหน่ง หากเทียบกับจำนวน ส.ส.ที่กลุ่มภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ยอมเสียสละไปแล้ว ดังนั้น กปปส.ควรเสียสละบ้าง ไม่ใช่ไปวิ่งล็อบบี้แต่ตำแหน่งของตัวเอง แล้วเขี่ยตำแหน่งคนอื่นทิ้งแบบนี้ ส่วนปัญหาต่างๆ ภายในพรรคก่อนหน้านี้ที่ไม่ลงรอยกันก็คนพวกนี้ทั้งนั้น” แหล่งข่าวจากแกนนำ พปชร.กล่าว

นี่ย่อมเป็นการสาวไส้กันในพลังประชารัฐ อย่างถึงพริกถึงขิง

และทำให้คนภายนอกร้องอ๋อ ว่าทำไมการปรับคณะรัฐมนตรีจึงไม่ราบรื่น

ทำให้ผู้ใหญ่ในพรรคต้องรีบเคลียร์กันยกใหญ่ เพราะคาดไม่ถึงว่าเรื่องจะบานปลายออกไปเช่นนี้

หนึ่งในความพยายามก็คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกสารนายกฯ ถึงประชาชน

มีเนื้อหาระบุขอโทษประชาชนแทน พปชร.ที่มีข่าวสารความขัดแย้งภายในพรรคปรากฏตามสื่อมากมาย

ในฐานะนายกฯ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

โดยหวังอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในฐานะรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ

ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก

แต่ดูเหมือนก็ยังไม่สามารถสยบปัญหาลงได้

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มิได้รับปากว่าจะกลับไปใช้โผรัฐมนตรีเดิม

ทำให้กลุ่มสามมิตรมีการประชุม ส.ส.ในกลุ่ม

โชว์พลัง ส.ส. 31 คน

พร้อมโชว์จุดยืน 5 ข้อ คือ

1. นายสุริยะเหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

2. หากเป็นไปตามข้อหนึ่ง นายสมศักดิ์ นายสุริยะ และนายอนุชา จะทำงานร่วมกับนายกฯ และรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอย่างแน่นอน

3. กลุ่มเชื่อมั่นว่าจะช่วยนายกฯ ขับเคลื่อนงานในสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. หากมีการเปลี่ยนแปลงและสลับตำแหน่งรัฐบาลจากเดิม จะทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการยอมรับและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคอย่างแน่นอน

5. หลังจากมีประกาศรายชื่อ ครม.อย่างเป็นทางการแล้ว หากไม่ตรงกับความเห็นของกลุ่มตามข้อ 1 ทางกลุ่มจะหารือเพื่อแสดงจุดยืนอีกครั้ง

ยิ่งกว่านั้น นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. แจ้งว่าจะร่วมกับ 30 ส.ส.กลุ่มสามมิตรเสนอญัตติขับไล่นายสนธิรัตน์ออกจากเลขาธิการพรรค เพราะเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและรัฐบาลเป็นอย่างสูง

ถือเป็นการดับเครื่องชนอย่างตรงไปตรงมา

ทำให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปสหรัฐ ต้องคลี่คลายสถานการณ์ด้วยประกาศไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

และปฏิเสธไม่รับรู้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะเลือกกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ขณะที่แกนนำในพรรคก็พยายามไกล่เกลี่ยปัญหา

จนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร ได้ร่วมแถลงข่าวยุติความขัดแย้งภายในพรรค พปชร.

หลังเปิดหารือกันอย่างเร่งด่วน

โดยนายอุตตมกล่าวว่า ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และขณะนี้ทางพรรคยังไม่มีข้อมูลว่าใครอยู่กระทรวงใด อีกทั้งกลุ่มสามมิตรไม่ได้เรียกร้องหรือตั้งเงื่อนไขใดๆ

ด้านนายสุริยะกล่าวว่า ได้คุยกันจนเข้าใจว่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้า และได้คุยกันจนจบแล้วว่าทั้งหมดจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ กลุ่มสามมิตรจะไม่ทำอะไรให้เกิดปัญหาอีก

เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ยุติการถอดถอนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ออกจากเลขาธิการพรรคแล้ว เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนประเด็นของนายอนุชา อาจเกิดจากไม่มีความชัดเจนในการสื่อสาร จึงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน

ทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงได้อย่าวรวดเร็ว และเหนือความคาดหมาย

แต่ดูเหมือนเป็นการปะผุชั่วคราว

อย่างน้อยต้องรอโผ ครม.ที่ออกมาจะเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายหรือไม่

ถ้าไม่ ปัญหาก็จะหวนกลับมาอีก

โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร แม้จะถูกมองว่า “หมอบ” และสยบยอมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้

แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่า อะไรทำให้กลุ่มสามมิตรอ่อนลงยวบยาบ

จะมองว่าสถานะ พล.อ.ประยุทธ์เหนือกว่า ไม่ว่าแรงสนับสนุนจากกองทัพ วุฒิสมาชิก และแรงหนุนจากในพรรคและนอกพรรคยังดีอยู่ ก็เป็นไปได้

และแม้จะล้มกระดานด้วยรัฐธรรมนูญและกลไกที่วางไว้ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจกลับมาได้อีก

ประกอบกับตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาแตกหัก

กลุ่มสามมิตรจึงอาจยอมกลืนเลือดไปก่อน และรอดูว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์พอรับได้หรือไม่

ถ้าพอรับได้ ก็คงจะซุ่มซ่อน “รับ” สิ่งที่พอได้รับไปอีกระยะหนึ่ง

จนเมื่อเงื่อนไขพร้อม จึงเพิ่มแรงกดดัน ซึ่งอาจจะได้อะไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่า

เพราะรัฐบาลเอง ไหนจะเสียงปริ่มน้ำ ไหนจะเผชิญกับพรรคฝ่ายค้านที่คงตรวจสอบกันทุกประเด็น

ไหนจะปัญหาของชาติที่รุมเร้าโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ ความเป็นเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ได้สะท้อนออกมาชัดเจนแล้วว่าบอบบางอย่างยิ่ง

หากมีเงื่อนไข สิ่งเร้าเข้ามากระตุ้น เชื่อว่าปัญหาความแตกแยกจะหวนกลับมาอีก

นี่ย่อมทำให้กลุ่มสามมิตรที่เขี้ยวลาก รอคอยได้

เป็นการรอคอยที่ดูเหมือนสงบ แต่ก็ไม่ยืนยาว พร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลาเมื่อเงื่อนไขเหมาะสม

มองหาเอกภาพในระยะยาวได้ยาก

เพราะพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรค “พัง” ประชารัฐไปเรียบร้อย