แพทย์ พิจิตร : 70 ปีรัชสมัยฯ : 14 ตุลา 2516, พฤษภาคมทมิฬ 2535 VS 6 ตุลา 2519 และวิฤตการเมืองล่าสุด

AFP PHOTO / STR

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8

70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (9) : 14 ตุลา 2516, พฤษภาคมทมิฬ 2535 VS 6 ตุลา 2519 และวิฤตการเมืองล่าสุด

ตามที่ปรากฏในประเทศอื่นๆ บางประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้อำนาจ บทบาทและความรับผิดชอบต่อประชาชนขององค์พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยต้องทรงใช้อำนาจ บทบาทและความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียว มาเป็นเพียงประมุขหรือสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น

พระมหากษัตริย์จึงมิจำเป็นต้องเคร่งครัดในคติคุณธรรมตามแบบผู้ปกครองต่างๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยโบราณ ด้วยมิได้ทรงมีอำนาจหน้าที่ดังเดิมอีกต่อไป

เพราะคติคุณธรรมต่างๆ ของความเป็นผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นในทางตะวันออกหรือตะวันตกนั้น นอกจากจะมีไว้เพื่อเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจแล้ว ในมุมกลับ คติคุณธรรมดังกล่าวยังวางแนวทางและเป็นตัวกำหนดกรอบขอบเขตการใช้สมบูรณาญาสิทธิและอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

สิ่งสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทรงอยู่ในสถานะของความเป็นผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป แต่ก็ยังทรงวางพระองค์อยู่ในกรอบคติธรรมดังกล่าว

คติธรรมมีไว้เป็นกรอบกำหนดขอบเขตพระราชอำนาจในระบบเก่า แต่ในระบบใหม่ แม้พระมหากษัตริย์จะถูกตีกรอบโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เมื่อทรงวางพระองค์ดังกล่าวอยู่ในกรอบแห่งธรรม ซึ่งอยู่นอกเหนือความเข้มงวดของกฎหมาย ซึ่งการมุ่งพากเพียรในคุณธรรมนั้นนำไปสู่ความเป็นคนดีมากกว่าเป็นเพียงพลเมืองดี

ดังนั้น ในเงื่อนไขที่รัฐเป็นประชาธิปไตยและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ในนามและภายใต้การแก่งแย่งอำนาจผล ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ผู้ทรงธรรมจึงเป็นผู้มีอำนาจบารมีเหนือกรอบเกณฑ์ของกฎหมาย

และเมื่อถึงยามวิกฤตแห่งความขัดแย้งทางการเมือง และรัฐธรรมนูญกฎหมายมิได้รับการเคารพ สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่สามารถเป็นหลักในการแก้ไขความขัดแย้งนั้นได้

องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นทางออกสุดท้ายของทางตันทางการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา และสามารถยุติปัญหาต่างๆ ได้ด้วยคุณธรรมบารมีที่ทรงสั่งสมมาตลอดนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา

 

จากการศึกษาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 พบว่า การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสั่งสมพระบารมีจนผสานเป็นพระบรมเดชานุภาพนับตั้งแต่ทรงครองราชย์นั้น ได้สร้างความชอบธรรมทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ

และเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง พระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณในการนำสังคมผ่านปัญหาทางการเมืองในยามวิกฤตได้

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาบางประการ นั่นคือ

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองไทย คือ สภาพการณ์ที่ยังไม่อาจก้าวข้าม “ช่วงปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็น “การปฏิวัติที่ยังไม่จบสิ้น” (Unfinished Revolution) และ “การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ยังไม่ลงตัว” (Unsettled Changes) ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ตกประเด็นของการถูกนำไปอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้เอาชนะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมสูงสุดหนึ่งเดียวในสังคมไทยที่สามารถทำหน้าที่ในการยุติความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้อย่างน่าอัศจรรย์

ดังเช่นในกรณี 14 ตุลาคม 2516 และกรณีพฤษภาทมิฬ 2535

โดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้อธิบายบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการยุติความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองทั้งสองครั้งนี้ไว้ว่า

“พระราชอำนาจในภาวะวิกฤต ไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติพระราชอำนาจนี้ไว้โดยตรง แต่เป็นประเพณีการปกครองที่ประชาชนทุกคนคาดหวัง ยอมรับและเรียกร้อง กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรงทางรัฐธรรมนูญและการเมืองถึงขั้นเผชิญหน้ากันในบ้านเมืองไม่ว่าเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็ดี 17-20 พฤษภาคม 2535 ก็ดี ทุกฝ่ายต่างประสงค์จะขอให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักชัยให้เกิดการระงับเหตุร้ายแรงลง และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์เช่นนั้นขึ้น ก็ทรงเข้ามาระงับเหตุร้อน ให้กลับสงบเย็นลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน

…จำได้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมนั้น …อยู่ต่างประเทศ เพื่อนชาวต่างประเทศบอก…ว่า เมืองไทยจะต้องเกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ คนจะบาดเจ็บล้มตายเหมือนที่อื่น แต่…ยืนยันกับเขาว่าไม่มีทางเป็นเช่นนั้น เพราะเรามี “ในหลวง” เขาไม่เข้าใจ และไม่เชื่อว่า คนคนเดียวที่เป็นประมุขจะทำได้ จนเมื่อเขาเห็นโทรทัศน์ถ่ายทอดภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับพระราชอาสน์ โดยมีนายกรัฐมนตรีและผู้นำการชุมนุมนั่งอยู่แทบพระบาทฟังพระบรมราโชวาทให้ยุติการเผชิญหน้ากัน บางคนถึงกับอุทานว่า “เป็นไปได้อย่างไร?” หนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสก็พาดหัวว่า “ในหลวงอบรมนายกรัฐมนตรีและผู้นำประท้วงเหมือนครูอบรมนักเรียน” เป็นเหตุให้กรุงเทพฯ ที่กำลังจลาจลลุกเป็นไฟสงบได้ภายในเวลาคืนเดียว!

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจดีขึ้นมากว่าตามประเพณีไทยนั้น พระมหากษัตริย์ไทยเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ที่เขารู้จักในบ้านเมืองของเขา และเชื่อว่าไม่มีประมุขของรัฐบาลคนใด ในรูปแบบใดก็ตามที่จะทำได้อย่างพระมหากษัตริย์ไทยทรงทำ” (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2 การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย, 2548)

แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดเช่นนี้จะเป็นสถาบันที่สามารถถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ/ข้ออ้างในการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างน่าสะพรึงกลัวด้วยเช่นกัน

ดังในกรณี 6 ตุลาคม 2519

 

กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2500 พบว่า การทำรัฐประหารจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น หาได้มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่

แต่หลังจาก พ.ศ.2500 เป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์ค่อยๆ เริ่มเป็นปัจจัยชี้วัดที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการทำรัฐประหารอย่างชัดเจนมากขึ้น

โดยเริ่มจากเหตุการณ์ความพยายามกระทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ซึ่งนับเป็นข้อยืนยันและบทพิสูจน์ได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพยายามทำรัฐประหารในสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ด้วยสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่กล่าวมา จึงทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดในปี พ.ศ.2549 สถาบันจึงถูกนำมาอ้างอิงอีกครั้งในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากกลับไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวังจากการอ้างมาตรา 7 ดังที่เคยปฏิบัติกันมา

เนื่องด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งกันในการตีความมาตรา 7 อย่างกว้างขวาง

อีกทั้งยังมีประชาชนฝ่ายที่ยืนหยัดสนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก แม้นจะมีความพยายามกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะที่แสดงการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหนักก็ตาม

จุดนี้นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา กล่าวคือ เมื่อมีฝ่ายหนึ่งสามารถกล่าวอ้างสถาบัน จนให้สังคมเชื่อได้ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก็มักจะหมดความชอบธรรมไปโดยทันที และยากที่ประชาชนทั่วไปจะกล้าออกโรงแสดงความเห็นต่างใดๆ ได้

แต่สำหรับสถานการณ์ก่อนการรัฐประหาร 2548 นั้น ประเด็นที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดก็คือ กระบวนการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอิงความในมาตรา 7 เกี่ยวกับ “นายกฯ พระราชทาน” นั้น ถูกชี้ขาดโดยพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน์) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ในวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่ได้เป็นไปตามการตีความของฝ่ายที่เรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน”