เทศมองไทย : “โซเชียลคอมเมิร์ซ” เส้นทางใหม่เศรษฐีไทย

ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานของรอยเตอร์ส เมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่ใช้โซเชียลมีเดียกันมากมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ทำมาหากินมากเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

ผมประเมินเอาเองจากข้อมูลของรอยเตอร์สในรายงานชิ้นนี้ว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเส้นทางไปสู่ความเป็นเศรษฐีเส้นทางใหม่สำหรับคนไทยได้เลยครับ

รอยเตอร์สยกตัวอย่างให้เห็นกรณีที่ประสบความสำเร็จจากการ “ขาย” ผ่านโซเชียลมีเดียเอาไว้มากมาย ที่สะท้อนให้คิดเช่นนั้น

ตัวอย่างเช่น “อนุรักษ์” ลูกชายชาวประมงจากจังหวัดสตูล ใช้เวลาตอนกลางคืน ขายกุ้ง ขายปลา ผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์สตรีมมิ่ง มีผู้เข้าชมในแต่ละครั้งมากถึง 300,000 คน

เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเดือนเดียว เขาทำรายได้จากการขายด้วยวิธีการแบบนี้เป็นเม็ดเงินสูงถึง 26 ล้านบาท ไม่เป็นเศรษฐีได้ไงไหว

ภาพความสำเร็จที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “บูม” ของการค้าขายออนไลน์ที่ผ่านแอพพลิเคชั่นสื่อสังคม ซึ่งถูกเรียกขานเสียใหม่เพื่อให้เจาะจงลงไปได้มากขึ้นว่า “โซเชียลคอมเมิร์ซ” แทนที่ “พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “อีคอมเมิร์ซ” ที่เป็นคำรวมก่อนหน้านี้

 

สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ เอทดา) เผยแพร่รายงานล่าสุดเอาไว้ว่า เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา มูลค่าการขายผ่านโซเชียลมีเดียในไทยตลอดปีสูงอย่างเหลือเชื่อถึง 334,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2016 ถึงกว่าเท่าตัว หลังจากที่มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายให้สามารถทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน หรือ “โมบาย แบงกิ้ง แอพพ์” ได้ง่ายขึ้น ใช้จ่ายสะดวกมากยิ่งขึ้น

ปริมาณยอดขายที่ว่านั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ที่ระดับ 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

หลังจากนั้นบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็เริ่มลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ซึ่งคาดกันว่าน่าจะยิ่งผลักดันให้ตลาดยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

มีหลายเหตุผลที่รอยเตอร์สบอกว่าทำให้การขายผ่านโซเชียลมีเดียเบ่งบานเป็นที่นิยมในประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องของการที่บรรดายักษ์ใหญ่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซระดับโลกทั้งหลายไม่ได้ขยับตัวเข้ามาในประเทศไทย

กว่าจะเข้ามาจริงๆ จังๆ ก็ถือว่าล่าช้ามากไปหน่อย เรื่อยไปจนถึงเรื่องของวัฒนธรรมชื่นชอบ “ช้อป” และการใช้งานเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่การใช้ประโยชน์ทางการค้า

ข้อมูลของเฟซบุ๊กระบุว่า คนไทยเกินกว่าครึ่งประเทศ คือ 57 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับราวๆ 38 ล้านคน เข้าใช้งานเฟซบุ๊กทุกวัน

อเลสซานโดร ไซซินี ผู้ก่อตั้งครีเอ กิจการให้คำแนะนำเพื่อการส่งเสริมแบรนด์สินค้าผ่านโซเชียลมีเดียในไทย ให้ความเห็นเอาไว้ว่า สำหรับไทยแล้ว โซเชียลคอมเมิร์ซถือว่าเป็นตลาดสำคัญที่ต้องเกาะติด เหตุผลก็คือเฟซบุ๊กเองก็เคลื่อนไหวเข้ามาในทิศทางนี้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นเดียวกัน

แม็กคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาชี้ว่า ทั่วทั้งเอเชีย มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่พอจะสูสีกับไทยในแง่ของการทำมาหากินผ่านโซเชียลมีเดีย สัดส่วนของโซเชียลคอมเมิร์ซต่ออีคอมเมิร์ซของที่นั่นอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่มูลค่ารวมอยู่เพียงแค่ 3,000 ล้านดออลลาร์ หรือแค่ 1 ใน 3 ของไทยเท่านั้น

นอกจากนั้น ตลาดยังพัฒนาได้ไม่เท่าไทย เพราะส่วนใหญ่ของชาวอินโดนีเซียไม่มีบัญชีธนาคาร และผู้ขายยังมีปัญหาในการจัดส่งอยู่มากจากธรรมชาติของประเทศเกาะ

 

ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็คือ ส่วนใหญ่การซื้อขายออนไลน์มักเกิดขึ้นผ่านยักษ์อีคอมเมิร์ซระดับโลกทั้งหลาย ตั้งแต่อาลีบาบาในจีน, อเมซอนของสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น, ฟลิปคาร์ต ที่เป็นส่วนหนึ่งของวอลมาร์ตในอินเดีย เป็นต้น

แต่การขายผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ อย่างเช่น กำลังเป็นที่นิยมกันในจีน และเริ่มมีบริษัทโซเชียลคอมเมิร์ซให้เห็นกันในอินเดียในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นต้น

ฟอเรสเตอร์ รีเสิร์ช ชี้ว่ายอดขายในอินเดียต่อปี ตอนนี้อยู่ระหว่าง 100 ล้านดอลลาร์ ถึง 150 ล้านดอลลาร์แล้ว

ไม่แน่จริง ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ไม่เริ่มหันมาหาโซเชียลคอมเมิร์ซกันเป็นทิวแถวแล้วในขณะนี้