วิเคราะห์ : เข้าใจวัฒนธรรม กิน-ล่าวาฬของญี่ปุ่น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในกระแสข่าวที่สะเทือนใจนักอนุรักษ์ไปทั่วโลกก็คือการกลับมาล่าวาฬ “เชิงพาณิชย์” ครั้งแรกในรอบ 30 ปีของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

หลังจากญี่ปุ่นประกาศถอนตัวออกจากคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือไอดับเบิลยูซี อย่างเป็นทางการ

ญี่ปุ่นปล่อยกองเรือล่าวาฬจำนวน 5 ลำ แล่นออกจากท่าเรือในเมืองคุชิโระ จังหวัดฮอกไกโด ในวันเดียวกันก่อนกลับเข้ามาพร้อมกับวาฬมิงก์ 1 ตัวที่จะถูกนำมาชำแหละแปรรูปเพื่อส่งเข้าสู่ตลาดในประเทศต่อไป

แน่นอนว่าข่าวการออกล่าวาฬ 3 ชนิดจำกัดที่ 227 ตัวในปีนี้ ออกจะดูขัดแย้งกับการมีส่วนร่วมในการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นในระดับนานาชาติ ย่อมทำให้ต้องเกิดคำถามว่า เพราะอะไรญี่ปุ่นชาติที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับยังคงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมการล่าวาฬ และต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบจากกลุ่มองค์กรคุ้มครองสัตว์ทั่วโลก

เหตุผลที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองให้ไว้ในการถอนตัวจากไอดับเบิลยูซี ระบุว่าการกินเนื้อวาฬถือเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ และมีวาฬเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้เป็นวาฬในกลุ่มที่ชาวประมงญี่ปุ่นล่า อันได้แก่ วาฬมิงก์ วาฬบลูดัส หรือบลูด้า และวาฬเซย์

 

หากพูดถึงวัฒนธรรมการบริโภคและการล่าวาฬของญี่ปุ่น สืบย้อนหลังไปมากกว่า 1,000 ปี ในยุคยามาโตะและยุคอาซูกะ ในศตวรรษที่ 7 หนังสือที่บันทึกด้วยภาษาญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดที่มีชื่อว่า “โคจิกิ” บันทึกเอาไว้ว่าจักรพรรดิจิมมุ ปฐมกษัตริย์แห่งญี่ปุ่น ทรงเสวยเนื้อวาฬ นอกจากนี้ การล่าวาฬยังมีบันทึกในหนังสือโบราณของญี่ปุ่นอีกหลายเล่ม

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในหลายประเทศนอกเหนือไปจากนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ รวมถึงชนเผ่าในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาบางกลุ่มที่มีการล่าวาฬเพื่อบริโภคเนื้อ รวมถึงการนำส่วนต่างๆ ของวาฬมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

การล่าวาฬพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่เริ่มมีการล่าวาฬด้วยการออกเรือเป็นกลุ่ม ใช้อาวุธอย่างหอกในการล่าเรื่อยมาจนช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่เริ่มมีการล่าแบบฉบับนอร์เวย์ด้วยอาวุธปืน อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าว นักล่าวาฬญี่ปุ่นนั้นต่อต้าน เนื่องจากอาจนำไปสู่การล่าวาฬอย่างไม่เลือกหน้าได้

ในยุคนี้ชุมชนล่าวาฬบางแห่งในญี่ปุ่น มอง “วาฬ” หรือ “คุจิระ” อย่างเคารพนับถือในฐานะเทพเจ้า ในหลายหมู่บ้านมีการตั้งศาลวาฬ หรือ “คุจิระ จินจะ” ให้ประชาชนได้สักการะกราบไหว้

อุตสาหกรรมการล่าวาฬในญี่ปุ่นเผชิญกับอุปสรรคครั้งสำคัญเมื่อปี ค.ศ.1982 เมื่อชาติสมาชิกไอดับเบิลยูซี มีมติยุติการล่าเป็นการชั่วคราวหลังจากการล่าในยุคศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องศตวรรษที่ 20 นั้นส่งผลให้วาฬเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ก่อนจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1986

อย่างไรก็ตาม หลังการบังคับใช้มติดังกล่าว ญี่ปุ่นยังคงล่าวาฬต่อไปปีละ 200-1,200 ตัว โดยใช้ช่องว่างของข้อตกลงที่เปิดทางให้สามารถล่าวาฬเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ เหตุผลซึ่งถูกมองเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าเนื่องจากเนื้อวาฬยังคงถูกส่งขายสู่ตลาดอาหารในประเทศญี่ปุ่นต่อไป

ในปี 2018 ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะโน้มน้าวให้ไอดับเบิลยูซี เปิดให้มีการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ภายใต้การกำหนดโควต้า ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว

ส่งผลให้ญี่ปุ่นประกาศถอนตัวออกจากชาติสมาชิกไอดับเบิลยูซี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

เนื้อวาฬนั้นไม่ใช่อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น แต่ปริมาณการบริโภคนั้นพุ่งขึ้นสูงสุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผลจากการขาดแคลนอาหารส่งผลให้การบริโภคเนื้อวาฬพุ่งสูงขึ้นถึงปีละ 226,000 ตัน แต่แนวโน้มดังกล่าวก็ลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดในปี 2017 มีการบริโภคเนื้อวาฬในประเทศลดลงเหลือเพียง 3,000 ตันเท่านั้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมล่าวาฬในญี่ปุ่นเป็นเพียงอุตสาหกรรมเล็กๆ ในเมืองชายฝั่ง มีการจ้างแรงงานในระบบเพียง 300 คน ความนิยมบริโภคเนื้อวาฬในปัจจุบันอยู่ในวงจำกัด หลงเหลือเฉพาะคนสูงอายุที่ยังคงคิดถึงรสชาติในวัยเด็ก นั่นทำให้เศรษฐกิจไม่ใช่เหตุผลหลักที่การล่าวาฬยังคงได้รับการสนับสนุนให้คงอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปได้

ฮิซาโย ทาคาดะ โฆษกกลุ่มกรีนพีซญี่ปุ่น ระบุว่าการล่าวาฬที่ยังคงอยู่นั้นเป็นส่วนผสมกันระหว่างเรื่องของ “ความภูมิใจในวัฒนธรรม” และ “การเมือง” โดยประชาชนส่วนหนึ่งยังคงรู้สึกว่าการล่าวาฬและการบริโภคเนื้อวาฬนั้นเป็นวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจและต้องปกป้องรักษาไว้

ขณะที่ผลสำรวจจากสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค รวมไปถึงกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นพบว่า ประชาชนมากกว่าครึ่งยังคงสนับสนุนให้มีการล่าวาฬอยู่ แม้ผู้คนจะไม่มีความจำเป็นต้องกินเนื้อวาฬก็ตาม

นอกจากนี้ ประชาชนยังคงมองวาฬ หรือ “คุจิระ” ในฐานะปลาชนิดหนึ่งที่เป็นอาหารของมนุษย์ ไม่ได้มองเป็นสัตว์ที่ต้องได้รับการปกป้องสิทธิ์แต่อย่างใด

 

แนวคิดดังกล่าวส่งผลต่อนโยบายของรัฐบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ส่งผลให้วัฒนธรรมการล่าวาฬนั้นยังคงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นไม่เสื่อมคลาย

แม้รัฐบาลจะเปิดให้ดำเนินการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้อีกครั้ง แต่ผู้ประกอบการล่าวาฬญี่ปุ่นจำเป็นต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ภายใต้โควต้าการล่าอันจำกัด ค่าแรงในระดับสูง แรงงานขาดแคลน ผลจากสังคมสูงอายุ รวมไปถึงรับมือกับการลดเงินอุดหนุนมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,400 ล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมปรับลงภายใน 3 ปีข้างหน้า

และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการจะผลักดันให้ “เนื้อวาฬ” กลายเป็นวัตถุดิบที่นิยมบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่นได้ในเวลาอันใกล้นี้