รัฐบาลใหม่ไม่คลอด ศก.สะเทือน งบปี “63 ลากยาว 4 เดือน เลื่อนประมูล-เซ็นสัญญากลางปีหน้า

ผลพวงการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นอกจากจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่องแล้ว นาทีนี้ยังกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในภาพรวมแน่ๆ

เพราะนั่นกำลังส่งผลให้ไทม์ไลน์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอย่างน้อย 4 เดือน เนื่องจากต้องรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่รู้ว่าโครงการที่แต่ละกระทรวง กรม ยื่นเสนอคำขอไปก่อนหน้านี้จะถูกตัดถูกเฉือนมากน้อยแค่ไหน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ จะยืนยันว่ายังสามารถใช้วงเงินงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนได้ แต่อย่างน้อยก็เกิดสุญญากาศ กระดานประมูลงานเล็ก-งานใหญ่ไม่มาตามนัด ทำให้เงินฝืดไม่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรากหญ้า

เดิมทุกกระทรวง กรม ที่มีโครงการก่อสร้าง จะต้องเริ่มเตรียมการประมูลงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม เพื่อให้ทันเบิกจ่ายเงินก้อนแรก 15% วันที่ 1 ตุลาคม แต่เมื่อปีนี้ปฏิทินรวน จึงทำให้การเซ็นสัญญางานใหญ่อาจลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน 2563

จากเดิมต้องปิดจ๊อบให้เสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม 2563

 

โฟกัสโครงการในกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเออย่าง “กระทรวงคมนาคม” มีโครงการลงทุนมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน หลังการเมืองเปลี่ยนก็เริ่มออกอาการหวั่นใจ บัญชีรายชื่อโครงการที่ส่งไปขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 อาจถูกรื้อใหม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงยื่นคำเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2563 ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ อย่างรถไฟทางคู่ ถนนเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ

ไม่รู้สุดท้ายจะได้รับจัดสรรกี่โครงการและวงเงินเท่าไหร่ ทั้งหมดต้องรอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบาย

ส่วนผลกระทบจากงบประมาณปี 2563 จะบังคับใช้ล่าช้า 1 ไตรมาส แหล่งข่าววิเคราะห์ว่าจะกระทบการลงทุนโครงการใหม่แน่ เนื่องจากทำให้การเปิดประมูลล่าช้า แต่โครงการเก่าที่ผูกพันมาจากปี 2562 ซึ่งในปี 2563 โดยภาพรวมกระทรวงมีงบประมาณผูกพันประมาณ 87,945 ล้านบาท สำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรให้ได้ 50% ของแต่ละโครงการ

ปัจจุบันกรมทางหลวงรอความชัดเจนของงบฯ ปี2563 เนื่องจากทุกปีตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม จะทยอยเปิดประมูลโครงการใหม่ ซึ่งจะมีงบฯ ลงทุนเฉลี่ย 20,000 ล้านบาท เพื่อเริ่มเบิกจ่ายทันเดือนตุลาคม หากเป็นโครงการขนาดเล็กใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 1 ปี จะเซ็นสัญญาไม่เกินเดือนธันวาคม

แต่เมื่องบประมาณขยับการประมูลก็ต้องขยับตามไปด้วย คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลงานที่ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1 ปี ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้

ส่วนโครงการใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท รอหลังงบประมาณบังคับใช้ประมาณกุมภาพันธ์-มีนาคม กว่าจะได้ผู้รับเหมา ผ่านกระบวนการอนุมัติโครงการ เนื่องจากต้องเสนอคณะรัฐมนตรี คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท รออนุมัติงบประมาณปี 2563 ที่ยื่นคำของบประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้รับจัดสรรใกล้เคียงปี 2562 ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ในนี้มีโครงการลงทุนใหม่ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท หากงบประมาณใหม่มาช้า กระทบต่อการประมูล ต้องเลื่อนออกไปเหมือนกับกรมทางหลวง

 

นอกจากนี้ ในส่วนของเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคม ที่จะขอผูกพันงบประมาณระยะยาว กำลังเผชิญปัญหาติดกรอบเพดาน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับใหม่ ซึ่งในปี 2562 มีการจัดสรรเต็มเพดานแล้ว ให้กับโครงการรถไฟไทย-จีน 1.79 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

ทำให้โครงการที่เหลือต้องรองบประมาณปีถัดไป

“ตอนนี้มี 2 โครงการที่ประสบปัญหาชัดเจน ไม่สามารถเปิดประมูลได้คือ มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ของกรมทางหลวง วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และการเดินรถตลอดเส้นทาง วงเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท จะต้องยื่นเสนอขอใหม่ กระทบต่อแผนการเปิดประมูลโครงการอาจจะต้องเลื่อนตามไปด้วย”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มที่ รฟม.จะเปิดประมูล PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 128,000 ล้านบาท ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงานช่วงตะวันตกจากศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 ก.ม. วงเงิน 96,000 ล้านบาท และงานเดินรถตลอดเส้นทางจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 36 ก.ม. วงเงินลงทุนงานระบบ 32,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านบอร์ด PPP เดือนมกราคม 2562 และตอนนี้ล่าช้ามาครึ่งปีแล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเปิดประมูล

แต่ต้องสะดุดเพราะติดเพดาน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เนื่องจากสำนักงบประมาณจัดสรรให้กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปก่อน

ล่าสุดกระทรวงการคลังแจ้งว่าได้ขยายเพดานให้แล้ว และอยู่ระหว่างหาช่องทางจะจัดสรรงบฯ ให้ อย่างไรก็ตาม หากช้าไปมากกว่านี้จะกระทบการเปิดประมูลและต้นทุนก่อสร้าง

ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า แม้งบฯ ปี 2563 จะล่าช้า แต่คาดว่าปลายเดือนพฤศจิกายน การพิจารณาน่าจะเข้าสู่วาระ 2 จะทำหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกส่วนราชการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า ยกเว้นการลงนามในสัญญา แต่ทุกโครงการที่เสนอมาจะต้องเป็นโครงการที่พร้อม

ส่วนเพดานการก่อหนี้ผูกพันที่มีการขยายกรอบจากเดิมไม่เกิน 5% เป็น 8% นั้น ทำให้เพดานวงเงินที่ก่อหนี้ได้ในแต่ละปีงบประมาณขยายจากราว 1.5 แสนล้านบาท เป็น 2.4 แสนล้านบาท แม้นับรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว ก็ยังมีวงเงินเหลืออีกราว 9 หมื่นล้านบาท หากจะทำสายสีส้มน่าจะเพียงพอ

แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไปเริ่มปีงบประมาณหน้า

 

ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบฯ ปี 2563 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส ถึงปลายไตรมาส 1 ปี 2563 จะกระทบงบฯ ลงทุนของภาครัฐ โดยขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ด้วยการเร่งรัดการลงนามสัญญาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ไปก่อน ไม่ให้สะดุด แต่มีบางโครงการอาจต้องชะลอออกไป

ส่วนเสียงสะท้อนจากวงการรับเหมา นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ว่าการเลื่อนใช้งบประมาณปี 2563 กระทบการประมูลงานของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแน่นอน ทั้งโครงการเก่าที่อาจจะต้องหยุด ส่วนโครงการใหม่ก็ต้องชะลอออกไปสักระยะหนึ่ง แม้จะชะงักแค่ระยะสั้นๆ แต่ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจทุกหย่อมหญ้า

ผลกระทบหลายๆ ด้านเริ่มปรากฏชัด และหากไม่เตรียมรับมือให้ดีๆ เศรษฐกิจระดับกลาง ล่าง ที่หืดจับอยู่แล้วจะสาหัสขึ้นอีก อันเป็นผลมาจากความล่าช้าของรัฐบาลและการจัดการงบประมาณนั่นเอง