วิเคราะห์ : ตีหัว “จ่านิว สิรวิชญ์” ปลุกการเมืองร้อนระอุ สะเทือนไปทั้ง คสช. ระวัง “น้ำผึ้งหยดเดียว”

เติมอุณหภูมิการเมืองร้อนฉ่าฉับพลัน

กรณี “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ้มรุมทำร้ายบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

เป็นเช่นนั้นเพราะจ่านิวไม่เพียงเป็นนักกิจกรรมการเมือง ซึ่งมีจุดยืนอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหารและการใช้อำนาจของ คสช. ยังเป็นการถูกทำร้ายถึง 2 ครั้งในระเวลาไม่ถึง 1 เดือน

ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่มกราคม 2561 ถึงมิถุนายน 2562 เกิดเหตุนักกิจกรรมการเมืองถูกทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่องถึง 13 ครั้ง เหยื่อคือนายเอกชัย หงส์กังวาน นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง และจ่านิว

ในจำนวนนี้ 11 ครั้ง ไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุ ไม่สามารถสืบสาวถึงตัวผู้บงการอยู่เบื้องหลังได้ ยังไม่รวมถึงผู้ลี้ภัยทางการเมือง 8 คนที่สูญหายไร้ร่องรอย บางคนถูกฆาตกรรมปริศนา

กรณีจ่านิว นำมาสู่ความเคลื่อนไหวในสภาของ 7 พรรคฝ่ายค้านในรูปแบบกระทู้สด การยื่นญัตติด่วน ไปจนการเสนอตั้งกรรมาธิการตรวจสอบค้นหาความจริงเหตุการณ์ทั้งหมด

ยังส่งผลให้กิจกรรม “ดนตรีประชาธิปไตย 24 มิถุนา วันอะไร?” โดยกลุ่ม Start Up people ซึ่งจ่านิวเป็นแกนนำ จัดขึ้นบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน หลังเกิดเหตุการณ์เพียงแค่ 1 วัน

ปรากฏว่ามีนักกิจกรรม นิสิต-นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายค้าน เข้าร่วมล้นหลาม

ต่างแสดงออกผ่านการชูป้ายประณามการข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมการเมืองทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่เฉพาะจ่านิว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับผิดชอบสั่งการหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็ว

แม้ฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามจ่านิวบางคนบอกว่าอย่าเพิ่งสันนิษฐานว่ากรณีจ่านิวเป็นเรื่องการเมือง เพราะอาจเป็นเรื่องอื่น อย่างเช่น แก๊งทวงหนี้

แต่เมื่อดูจากการที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกทำร้ายมาตลอด ทำให้คนทั่วไปปักใจเชื่อว่าการทำร้ายจ่านิวมีสาเหตุมาจากการเมืองแน่นอน

การพิสูจน์ว่าไม่ใช่การเมือง

จึงมีแต่การจับกุมคนร้ายและพิสูจน์ได้ว่ามีแรงจูงใจมาจากเรื่องอื่น

 

สังคมสนใจ วิพากษ์วิจารณ์กรณีจ่านิวอย่างกว้างขวาง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง มองว่ากรณีจ่านิวถูกทำร้าย สะท้อนช่วง 5 ปีที่ผ่าน คสช.และรัฐบาลล้มเหลวสิ้นเชิงในการทำให้คนเห็นต่างกันอยู่ร่วมกันในสังคมได้ การทำร้ายก็เพื่อกำราบฝ่ายประชาธิปไตยให้หวาดกลัว

น่าจะเป็น “สายเหยี่ยว” ที่ประเมินว่าจากนี้ คสช.ไม่สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดได้อีก จึงต้องการกดฝ่ายเห็นต่างให้หยุดเคลื่อนไหว โดยไม่คำนึงผลเสียที่ตามมา ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกจึงต้องรีบจัดการเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ที่ต้องแบกความไม่ชอบธรรมไว้เต็มไปหมด

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของจ่านิวหรือไม่ แต่ไม่ควรมีใครต้องถูกกระทำแบบนี้

สมัยผมเป็นนักศึกษาในยุคปี 2535 ช่วงที่ไม่ใช่เหตุการณ์ชุมนุม ก็ไม่เคยมีใครโดนอะไรแบบนี้ เราต้องช่วยกันหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด และรัฐบาลจะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ มิเช่นนั้นยากที่จะทำให้คนเชื่อได้ว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตถึงภาษาที่ซ่อนอยู่ในการใช้ความรุนแรง กรณีจ่านิวถูกทำร้ายก่อนมีกิจกรรมในเย็นของอีกวัน

คำถามคือ การลงมือครั้งนี้เพื่อที่จะยุติกิจกรรมใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ถ้าลงมือแล้วกิจกรรมนี้ยุติลงก็โอเค แต่ถ้ากิจกรรมยังดำเนินต่อก็ไม่มีอะไร

คนที่แห่ไปร่วมงานเมื่อคืนวันที่ 29 มิถุนายน จนล้นออกมาข้างนอก หากเป้าหมายการทำร้ายจ่านิวคือการยุติกิจกรรม แต่ผลออกมาตรงกันข้าม ทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย ได้รับความสนใจในวงกว้าง หากผู้สั่งการมี KPI (Key Performance Indicator : ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) ก็บ่งชี้ได้ว่าล้มเหลว

หรือว่าการทำร้ายจ่านิวไม่เกี่ยวกับกิจกรรมที่อนุสรณ์สถานฯ แต่เป็นส่งใบเสร็จเก็บค่าใช้จ่าย ก่อนจะบินไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เช็กบิลตั้งแต่จ่านิวเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารกันเลยทีเดียว

นักกิจกรรมที่ถูกลอบทำร้ายตั้งแต่ เอกชัย ฟอร์ด จนถึงจ่านิว หากเอาไทม์ไลน์มาวางจะเห็นถึงระดับการใช้ความรุนแรงที่ถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

ภายใต้ความนิยามของความไม่สงบ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของนักกิจกรรมยังอยู่ภายใต้กฎหมาย เปิดเผย ขณะเดียวกันผู้ลอบทำร้ายสวมหมวกกันน็อก ปกปิดใบหน้าและใช้ความรุนแรงในกรอบที่กฎหมายไม่อนุญาต

ใครกันแน่ที่สร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในประเทศ

 

สํานักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ เอพี เอฟพี รอยเตอร์ส วอชิงตันโพสต์ รายงานเหตุการณ์จ่านิวถูกทำร้ายไปทั่วโลก

นางพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของจ่านิว เปิดเผยกับเอเอฟพี เชื่อว่ากลุ่มที่ทำร้ายลูกชายทั้ง 2 ครั้งอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะจ่านิวไม่มีศัตรูที่ไหนยกเว้นเรื่องการเมือง เพราะเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย เพราะหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ได้นำเสนอกรณีนี้เป็นกรณีเร่งด่วน และจะซักถามผ่านกระทรวงการต่างประเทศ

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย ออกแถลงการณ์ห่วงใยต่อเหตุการณ์ เนื่องจากที่ผ่านมามีนักกิจกรรมถูกทำร้ายเป็นระยะๆ หลายกรณีไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับกรณีจ่านิว รวมทั้งกรณีอื่นๆ ด้วยการเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้สืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้กระทำ ด้วยจุดมุ่งหมาย หรือแรงจูงใจใด

และดำเนินการฟ้องต่อศาลลงโทษโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้สังคมว่าไม่มีผู้ใดกระทำการเหนือกฎหมายได้ รวมถึงการเยียวยาผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อมิให้เหตุการณ์ลุกลามจนอาจนำความไม่สงบมาสู่สังคม

วันที่ 3 กรกฎาคม นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนักกิจกรรมกว่า 20 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

อ้างเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมือง จ่านิว, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และนายเอกชัย หงส์กังวาน สะท้อนถึงการไม่ได้รับการคุ้มครอง นักเคลื่อนไหวทุกคนจึงเสี่ยงโดนทำร้ายเช่นเดียวกัน

จึงเรียกร้องให้ตำรวจติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ พร้อมเปิดเผยความคืบหน้าการสืบสวนคดีให้สังคมทราบเพื่อความโปร่งใส

ก่อนหน้านี้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยร่วมกับสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในชื่อ “ร่วมไว้อาลัย ยุติธรรมไทยไม่คุ้มครองผู้เห็นต่าง”

ผู้ชุมนุมแต่งกายชุดดำ ชู 3 นิ้ว ถือดอกไม้จันทน์ และป้ายข้อความ

“หยุดคุกคามประชาชน หยุดทำร้ายคนเห็นต่าง”

 

ในซีกฝ่ายนักการเมือง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า รู้สึกผิดหวัง คับแค้นและเศร้าใจต่อกรณีจ่านิว เป็นเหตุการณ์ซ้ำซาก ที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

พรรคอนาคตใหม่จะพูดเรื่องนี้ในสภา เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน ให้รัฐบาลทำหน้าที่ป้องสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่คุกคามประชาชนของตัวเอง

“ประชาชนผู้ตกอยู่ในยุคทมิฬมาร”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจ่านิวถูกเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าจับตาตลอดเวลา การปล่อยให้เกิดการประทุษร้าย 2 ครั้งในรอบ 1 เดือน จึงไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาพลักษณ์ประเทศ

การทำให้ประชาชนกลัว เป็นมาตรการของผู้มีอำนาจ เมื่อประชาชนกลัว ผู้มีอำนาจก็ทำอะไรตามอำเภอใจได้

ด้านพรรคเพื่อไทย กล่าวประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างทางการเมือง

พร้อมตั้งคำถามเหตุใดการกระทำลักษณะนี้จึงเกิดบ่อยครั้ง แต่กลับไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทั้งที่ 5 ปีของรัฐบาล คสช. การรักษาความสงบถูกอ้างเป็นผลงานชูโรงมาตลอด

และสิ่งสำคัญต้องระมัดระวังคือ ต้องไม่ให้กรณีนี้กลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว”

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์ ไม่ให้พัฒนาบานปลายจนยากต่อการควบคุม คือการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องอำนวยความยุติธรรม ความเป็นธรรมทางการเมืองโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น