ต่างประเทศอินโดจีน : ขี่ช้างเลียบนคร

ใครที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวนครวัด โบราณสถานเลื่องชื่อระดับโลกของกัมพูชา คงเคยเห็นฝรั่งมังค่าขึ้นเสลี่ยงหลังช้างท่องชมทิวทัศน์เมืองเก่าแก่โบราณ โดยรอบอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ประหนึ่งขึ้นช้างเลียบพระนคร ยังไงยังงั้น

ภาพเช่นนั้นนับแต่นี้ต่อไปจะไม่มีให้เห็นกันแล้ว หลังจากทางองค์การเพื่อการคุ้มครองและบริหารจัดการอังกอร์และภูมิภาคเสียมเรียบ (อัปสรา) มีคำสั่งแบนการขี่ช้างเลียบนครวัดไปเรียบร้อยแล้ว

การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่องค์การคุ้มครองสัตว์โลก (ดับเบิลยูเอพี) รณรงค์ผ่านทางเว็บไซต์เชนจ์ดอตโออาร์จี (change.org) ให้ผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะบรรดานักท่องเที่ยวตะวันตกให้ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องให้ยุติการท่องเที่ยวลง

โดยถือว่าเป็นรูปแบบของการทารุณกรรมต่อสัตว์รูปแบบหนึ่ง

ผลปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อรณรงค์ให้ยุติการท่องเที่ยวนี้ 185,474 คน รายละเอียดของที่มาและรายชื่อผู้ร่วมต่อต้านทั้งหมดถูกส่งถึงอัปสราเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้เกิดคำสั่งยุติดังกล่าวตามมาในราวกลางเดือนมิถุนายน

 

จุดเริ่มของการรณรงค์ดังกล่าวคือเรื่องราวของ “พังสมโพ” หนึ่งในช้าง 14 เชือกซึ่งทำหน้าที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่โดยรอบอุทยาน

พังสมโพ “ล้ม” ระหว่างการทำหน้าที่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นเสลี่ยงชมวิวทิวทัศน์จากประตูด้านใต้ของอังกอร์ธมไปยังปราสาทบายน ระยะทางสำหรับนั่งบนหลังช้างรวมแล้วนาน 40 นาที เหตุเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพังสมโพอายุเท่าไหร่ กะเก็งกันโดยประมาณว่าอยู่ระหว่าง 40-45 ปี ทำหน้าที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้กับบริษัทช้างแห่งอังกอร์ (เออีซี) มากว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2001 เรื่อยมา

การเสียชีวิตระหว่างทำหน้าที่ของพังสมโพ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการให้บริการนักท่องเที่ยวไม่น้อย

แต่เดิมก่อนหน้านั้น ช้างแต่ละเชือกที่นี่ต้องให้บริการนักท่องเที่ยวแบบ 2 กะต่อวัน ช่วงแรกระหว่างเวลา 07.30 น. ถึง 10.20 น. ช่วงหลังเริ่ม 15.30 น. ถึง 18.00 น. จึงเป็นอันยุติ เป็นอย่างนี้ทุกวันตลอดสัปดาห์ไม่มีวันหยุด

กรณีของพังสมโพ ทำให้บริษัทที่ให้บริการช้างยินยอมลดช่วงเวลาทำการลงช่วงเช้า 30 นาที ช่วงเย็นอีก 20 นาที

 

หลังจากที่ดับเบิลยูเอพีขึ้นบัญชีการนั่งเสลี่ยงหลังช้างเที่ยวนครวัดว่าเป็น “กิจกรรมในวันหยุดที่หฤโหดที่สุดในโลก” จากกรณีของพังสมโพ

ดับเบิลยูเอพีรณรงค์ต่อต้านการขี่ช้างเลียบนครอย่างหนัก ผลก็คือ ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวระดับโลก 114 บริษัท ยินดีให้ความร่วมมือยกเลิกการนำเสนอรายการนี้ในแผนการท่องเที่ยวของบริษัท

แต่การขึ้นเสลี่ยงชมวิวบนหลังช้างยังคงดำเนินต่อไป ตราบที่ยังคงมีผู้ให้บริการอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว

จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วมีช้างอีกเชือกเกิด “ล้ม” ระหว่างการให้บริการอีกครั้งนั่นแหละ การรณรงค์ครั้งใหญ่ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างนอกเหนือความคาดหมายตามมา

โอน กิราย ผู้อำนวยการคณะกรรมการกลุ่มช้างอังกอร์ (เออีจีซี) บอกว่า ช้างที่เหลือทั้งหมดจะถูกโอนย้ายให้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับศูนย์ขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์ช้างตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป

นักท่องเที่ยวสามารถติดตามไป “ชมและถ่ายภาพช้างในอิริยาบถตามธรรมชาติในศูนย์แห่งนี้” ได้ต่อไป

 

ศูนย์ที่ว่านี้ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเซาะนิกุม ทางใต้ของภูกุเลน ในเขตจังหวัดพนมกุเลน มีอาณาบริเวณเหมาะสมทั้งสภาพป่าและธารน้ำตัดผ่าน “เพื่อให้ช้างได้อยู่กับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นี่อาจเป็นข่าวดีสำหรับช้างในกัมพูชา ที่หลงเหลือประชากรในป่าตามธรรมชาติอยู่เพียงไม่ถึง 500 ตัว รวมทั้ง 110 ตัวที่แหล่งสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแก้วเสมา

กับอีกเกือบ 200 ตัวในพื้นที่ป่าเทือกเขาคาร์ดะมม หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเทือกเขาบรรทัด

ส่วนที่เหลืออีกราว 70 เชือกเป็นช้างบ้านทั้งสิ้น