หนุ่มเมืองจันท์ | ยึด “ถูก” คือ “ผิด”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

นอนไม่หลับมาหลายคืน

เพราะมีงานหนึ่งที่หลีกเลี่ยงมานาน

คือ การสนทนากับ “พระ”

ผมคุยกับ “พระ” ไม่เป็นครับ

ขัดเขินและร้อนรุ่มแปลกทุกครั้ง

แต่เพราะครั้งนี้คนชวนเป็นน้องที่คุ้นเคยกันมานาน

“โญ” ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

และเป็นงานครบรอบ 72 ปีของพี่ที่เคารพ คือ พี่อรุณ วัชระสวัสดิ์

“โญ” ชวนผมไปตั้งคำถามกับพระไพศาล วิสาโล

บนเวทีจะมีคน 3 รุ่น คือ ผม โญ และ “เคน” นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard

อย่าถามว่าใครอายุมากที่สุด

เพราะเป็นคำถามที่หยาบคาย

ก่อนขึ้นเวทีผมภาวนาให้การเสวนานี้จบเร็วๆ

แต่ผ่านไปแค่ 10 นาที ผมกลับอยากให้การเสวนาดำเนินไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดเวลา

เป็น 2 ชั่วโมงที่คุ้มค่าจริงๆ

คำถามที่ค้างคาในใจ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งในสังคมวันนี้

พระไพศาลให้คำตอบคลี่คลายความสงสัยของผมได้หมดจด

“ธรรมะ” เย็นจริงๆ

พระไพศาลเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้วสมัยเป็นนักศึกษา

เหตุการณ์นั้นถือเป็น “ตราบาป” ของสังคมไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธ

แต่กลับเกิดเหตุการณ์รุมฆ่านักศึกษากลางเมือง

“ภิญโญ” ขอให้ท่านมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อสรุปบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น

พระไพศาลบอกว่าสิ่งที่เรียนรู้ คือ การยึดมั่นถือมั่นสามารถทำให้เราฆ่ากันได้

คนที่รุมทำร้ายนักศึกษา แขวนคอ ตีจนตาย เขาคิดว่าเขากำลังปกป้อง “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์”

และนักศึกษาคือคอมมิวนิสต์มุ่งทำลายสิ่งที่เขาเคารพ

เขายึดติด เขาจึงฆ่าฟัน

เขาลืมไปว่าเขากำลังทำตรงข้ามกับสิ่งที่เขายึดถือ

เพราะถ้ารักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ก็ควรทำดีต่อกัน ไม่ใช่ฆ่ากัน

“คนเราฆ่ากันในนามของความดี เพราะยึดมั่นถือมั่น”

ท่านยกคำสอนของหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ที่ระยอง

“ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดติดไว้ มันก็ผิด”

ชอบมาก…

“หลายครั้งที่เราทำความไม่ถูกต้อง ในนามของความถูกต้อง”

นี่คือ สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

เมื่อถามถึงโลกโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นให้เราแสดงความเห็นอย่างรวดเร็ว

และใช้ Hate Speech มากขึ้น

พระไพศาลบอกว่าใช้หลักคิดเรื่อง “กาลามสูตร” ง่ายๆ

“กาลามสูตร” ที่บอกว่าอย่าเชื่อเพราะ…

เช่น อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน

ท่านยกตัวอย่างข่าวเก่าที่มีเด็กเก็บเงิน 100,000 บาทได้แล้วนำไปคืนเจ้าของ

เจ้าของให้เงินเด็ก 100 บาท

เท่านั้นเอง คนก็เข้าไปด่าเจ้าของเงินเสียๆ หายๆ

ได้เงินคืนตั้งแสน แต่ให้แค่ร้อย

จนแม่ของเด็กออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเธอเป็นคนขอไม่ให้เจ้าของเงินให้เงินจำนวนมากแก่เด็ก

เพราะถือว่าการนำเงินไปคืนเจ้าของเป็นเรื่องคุณธรรมทั่วไปที่คนทุกคนพึงมี ไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้รางวัล

แต่เจ้าของเงินก็ยังอยากให้สินน้ำใจก็เลยยอมให้เด็กรับเงินแค่ 100 บาท

เมื่อฟังเรื่องราวครบถ้วน ความรู้สึกต่อเจ้าของเงินก็เปลี่ยนไป

ครับ เรื่องแบบนี้มีเยอะมากในโลกโซเชียลมีเดีย

พระไพศาลแนะนำหลักกาลามสูตร 3 ข้อให้คิดก่อนโพสต์

1. อย่าเชื่อตามคนหมู่มาก เพราะพูดต่อๆ กันมา

2. อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครู หรือเชื่อเพราะเขามีอำนาจเหนือกว่า

3. อย่าเชื่อเพราะตรงกับความเห็นหรือสอดคล้องกับตรรกะของเรา

เพียงแค่นึกถึงหลัก 3 ข้อนี้ก่อนจะโพสต์ข้อความใดๆ

เราจะใจเย็นขึ้นทันที

เพราะบางทีข้อมูลที่เราคิดว่า “จริง”

อาจจะ “ไม่จริง”

ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

การไล่ล่า “แม่มด” ทางโซเชียลมีเดีย

ขุดคุ้ยเรื่องราวความเห็นในอดีตมาโจมตีกัน

บางทีก็ลืมไปว่าทุกคนล้วนเคยทำผิดพลาดมาก่อน

โดยเฉพาะตอนเป็น “เด็ก”

ด้วยวัยที่เปลี่ยนไป ความคิดของเราก็อาจเปลี่ยนไป

หรือถ้าไม่เปลี่ยน แต่เราก็จะไม่ทำแบบเดิมในวันนี้

คิดแบบ “ใจเขา-ใจเรา”

แค่ลองย้อนนึกถึงเรื่องราวของตัวเอง

เราก็จะเห็นรอยแผลเป็นของชีวิตบางเรื่องที่เราอยากลืม

หรือรู้ว่าวันนี้เราไม่มีวันที่จะทำแบบนั้นแน่นอน

พระไพศาลสอนให้เรามองโลกในมุมที่กว้างขึ้น

ท่านเล่าเรื่องสมัยพุทธกาล

พระพุทธเจ้าบอกว่า “คำสอน” ของท่านเปรียบเสมือน “แพ”

นำเราจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง

“เมื่อถึงที่หมายแล้วก็อย่าแบกแพขึ้นไปด้วย”

พระไพศาลบอกว่า แม้แต่ “พระธรรม” คำสอนของท่านเอง พระพุทธเจ้ายังให้ละวางเลย

อย่า “ยึดติด”

และอัตลักษณ์ที่ใหญ่กว่า “พุทธ” คือความเป็น “มนุษย์”

ใหญ่กว่า “มนุษย์” คือ “สรรพสิ่ง”

“มนุษย์” ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร

เราเป็นแค่สิ่งหนึ่งในสัตว์ทั้งหลาย

เมื่อมองโลกให้กว้าง

เราจึงไม่ใช่แค่ “คนไทย”

ไม่ใช่ “ชาวพุทธ”

ด้วยสายตาเช่นนี้เราจะมองคนที่เห็นต่างจากเราเป็นมนุษย์ร่วมโลกไม่ใช่ “สัตว์ประหลาด”

มองเขาด้วยความเมตตามากขึ้น

พระไพศาลยกคำพูดของปราชญ์ชาวอินเดียคนหนึ่ง

เขากล่าวว่า เมื่อฉันมองข้างใน

ฉันคือ “ความว่างเปล่า”

นี้เรียกว่า “ปัญญา”

เมื่อฉันมองข้างนอก

ฉันคือ “ทุกสิ่ง”

นี้เรียกว่า “กรุณา”

ครับ ถ้าเรารู้ว่าไม่มี “ตัวกู-ของกู”

เราจะไม่ยึดมั่น-ถือมั่น

“ปัญญา” ก็จะเกิด

และเมื่อมองไปข้างนอก รู้ว่าเราเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ในโลกใบนี้

ยิ่งเรารู้สึกว่าตัวเล็กเท่าไร

เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน

และปรารถนาดีต่อผู้อื่นมากขึ้น

โลกนี้ก็จะงดงาม