เกษียร เตชะพีระ | อันเนื่องมาแต่ชาติ…ยอดรัก (3)

เกษียร เตชะพีระ

4)ปัจเจกบุคคลสร้างชาติในหีบบัตรเลือกตั้ง

ในประวัติศาสตร์เสรีประชาธิปไตยตะวันตก มีแนวคิดการแทนตน (representation) อยู่ 2 แนวด้วยกัน ได้แก่ :

1. delegate model of representation ผู้แทนเป็นตัวแทนของกลุ่มชน/คณะบุคคล/บรรษัท (corps) ผู้เลือกตั้งตนมา มีอาณัติผูกมัดให้ต้องปฏิบัติตามความเรียกร้องต้องการของฐานคะแนนเสียงผู้เลือกตั้งตน หากไม่ทำตาม จะถูกยกเลิกเพิกถอนความเป็นผู้แทนได้ (recall) ซึ่งมีเค้ารอยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จากการปกครองแบบแทนตนของกลุ่มวิชาชีพ ชุมชนหรือชนชั้นฐานันดรเฉพาะหนึ่งๆ ตั้งแต่ก่อนยุคสมัยใหม่ที่เรียกว่ารัฐบรรษัท (corporate state)

2. trustee model of representation ผู้แทนเป็นผู้แทนของชาติทั้งหมดโดยรวม – เสนอโดยนักการเมืองและนักปรัชญาอนุรักษนิยมอังกฤษ Edmund Burke (ค.ศ.1729-1783) และนักทฤษฎีรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส Emmanuel-Joseph Siey?s (ค.ศ.1748-1836) ในชั้นหลัง

ตัวแบบหลังอันได้แก่ trustee model of representation นั้นเป็นตัวแบบหลักของการเลือกตั้งในรัฐชาติแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ กล่าวคือ ถือว่าปัจเจกบุคคลพลเมืองไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ผู้แทนราษฎรออกมา แต่ผู้ได้รับเลือกตั้งหาได้เป็นผู้แทนของพวกเขาแต่ละคนหรือหมู่คณะใดไม่

หากกลายเป็นผู้แทนของ “ชาติ” โดยรวมไปเสียฉิบ

สรุปก็คือ “ชาติ” จุติขึ้นอย่างไรก็มิทราบได้ ณ จังหวะใดจังหวะหนึ่งในหีบบัตรเลือกตั้งนั่นเอง

และชาติต้อง “จุติ” ขึ้นในหีบบัตรเลือกตั้งของกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หาไม่แล้ว ก็ไม่มีทางที่เราจะได้ยินได้ฟังเสียงของชาติพูดจาบอกเล่าเก้าสิบว่าชาติต้องการ/ตัดสินใจอะไรเช่นใดได้ถนัดชัดเจนเลย

ความข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสำคัญของรัฐชาติขนาดใหญ่สมัยใหม่ที่มีพลเมืองเป็นแสนเป็นล้านหรือร้อยล้านพันล้านขึ้นไปว่า จะรับทราบหยั่งรู้ความเรียกร้องต้องการของคนในชาติทั้งหมดได้อย่างไรในทางปฏิบัติ? กล่าวคือ :

– หากใช้วิธีการประชาธิปไตยโดยตรง คือให้พลเมืองทั้งหมดร่วมโหวตลงมติทันทีโดยพร้อมเพรียงกัน ก็สุดจะหาเวทีที่ประชุมใดซึ่งพอจะจุคนได้มากมายมโหฬารขนาดนั้นได้ ยังมิพักต้องพูดถึงวิธีแจงนับผลลัพธ์คะแนนเสียงเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย/งดออกเสียงให้ถ้วนทั่วในที่สุด

– หากใช้การสุ่มตัวอย่างประชากรเพื่อสำรวจความเห็นหรือทัศนคติ (opinion poll or survey) ก็มีปัญหาความถูกต้องแม่นยำทางสถิติซึ่งผลการสำรวจประเมินย่อมอาจเป็นที่ถกเถียงโต้แย้งกันว่าแทนตนคนทั้งหมดได้จริงหรือไม่อย่างยากจะเป็นที่ยอมรับโดยถ้วนทั่ว

– อีกวิธีหนึ่งคือการลงประชามติ (referendum) ของพลเมืองทั้งหมดในปัญหาเฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ ทว่าก็มีข้อจำกัดยุ่งยากที่มิอาจทำถี่กระชั้นเป็นประจำเพื่อหามติส่วนรวมต่อประเด็นปัญหาสาธารณะที่มีมาให้ตัดสินใจเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องได้

– ท้ายที่สุด ระเบียบการเมืองประชาธิปไตยสมัยใหม่จึงลงเอยเป็นประชาธิปไตยแบบแทนตน (representative democracy) ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้รับมอบอำนาจอธิปไตยจากประชาชนพลเมืองไปตัดสินวินิจฉัยลงมติประเด็นปัญหาสาธารณะทั้งหลายในสภานิติบัญญัติแทน

พูดอีกอย่างก็คือการเลือกตั้ง (elections) เป็นกลวิธี กระบวนการและเทคโนโลยีทางการเมืองที่ใช้การได้เหมาะสมในทางปฏิบัติที่สุดที่จะให้ชาติพูดและรับฟังเสียงความเรียกร้องต้องการของชาติผ่านผู้แทนของพลเมืองแห่งชาติทั้งปวง

ข้อที่น่าทึ่งและสนเท่ห์ก็คือ นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ ได้บรรยายถึงความสัมพันธ์อันยอกย้อนซ่อนเงื่อนระหว่าง [ปัจเจกบุคคลพลเมือง-การเลือกตั้งประชาธิปไตย-ผู้แทน-ชาติ] ไว้ใน “บทที่ 6 ความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่”, ของหนังสือ เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, น.44 ความว่า :

“การที่รัฐบรรษัทสูญสลายไปทำให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีเสรีภาพในลักษณะเฉพาะและความเป็นอิสระของตนเอง : ปัจเจกบุคคลนี่เองต่างหากที่รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้เลือกผู้แทนของชาติ หาใช่สมาชิกบรรษัทใดๆ ไม่ ในทางกลับกัน บรรดาผู้ได้รับเลือกตั้งก็ถูกเรียกร้องโดยปัจเจกบุคคลเฉพาะทั้งหลายที่เลือกพวกเขามาให้แทนตนชาติโดยรวม และดังนั้น พวกเขาจึงต้องกำหนดวิถีปฏิบัติและการตัดสินใจของตัวโดยปลอดอาณัติใดๆ

“ถ้าหากประชาธิปไตยสมัยใหม่หมายถึงประชาธิปไตยแบบแทนตน และถ้าหากแก่นสารของประชาธิปไตยแบบแทนตนอยู่ตรงบรรดาผู้แทนของชาติมิได้ติดค้างขึ้นต่อปัจเจกบุคคลเฉพาะที่พวกเขาเป็นตัวแทน หรือผลประโยชน์เฉพาะของปัจเจกบุคคลเหล่านั้นโดยตรงแต่อย่างใดแล้วละก็ ประชาธิปไตยสมัยใหม่ย่อมตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องการแตกตัวของชาติเป็นอณูและการประกอบตัวขึ้นใหม่ของอณูเหล่านั้นในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งได้แก่ระดับสมัชชาสภาผู้แทนที่ทั้งสูงกว่าและจำกัดจำเขี่ยกว่าพร้อมกันไป

“ก็แลกระบวนการแตกตัวเป็นอณูที่ว่านี้ย่อมเป็นกระบวนการเดียวกับที่รองรับแนวคิดเสรีนิยมว่าด้วยรัฐอยู่ ซึ่งรากฐานของมันย่อมหาพบได้ในการยืนกรานสิทธิโดยธรรมชาติอันมิอาจล่วงละเมิดได้ของปัจเจกบุคคลดังที่เราได้ถกเถียงมาแล้วนั่นเอง” (เน้นโดยผู้เขียน)

ผมได้จำลองตรรกะของการคลี่คลายขยายตัวผ่านกระบวนการเลือกตั้งประชาธิปไตยของข้อความข้างต้น [ปัจเจกบุคคลพลเมือง-การเลือกตั้งประชาธิปไตย-ผู้แทน-ชาติ] ออกมาเป็นแผนภูมิ (ดูข้างบน) ซึ่งอาจบรรยายความประกอบเพื่อความเข้าใจได้

ดังนี้ :

เริ่มต้นที่ชาติแตกตัวเป็นอณู -> กลายเป็นปัจเจกบุคคลพลเมืองผู้เป็นสมาชิกและส่วนประกอบของชาติ

ปัจเจกบุคคลพลเมืองเหล่านี้แต่ละคนมีสิทธิร่วมเลือกตั้งผู้แทน ทั้งนี้ โดยมิใช่และไม่เกี่ยวกับว่าเขาสังกัดกลุ่ม/คณะ/บรรษัทรวมหมู่ระดับย่อยกว่าชาติลงมาใดๆ ไม่ว่าจะในเชิงชาติพันธุ์ เพศสภาพ ชนชั้น วิชาชีพ ฐานะรายได้ ชุมชน ศาสนา อุดมการณ์ วัฒนธรรมประเพณี ตระกูล ฯลฯ ประหนึ่งเขาถูกถอดถอนยกลอยออกจากกลุ่มสังกัดรวมหมู่เหล่านั้นทั้งหมด เหลือแต่ตัวปัจเจกบุคคล (อินดิวิด้วน – คือด้วนขาดจากสังกัดรวมหมู่ทั้งหลาย) โล่งโจ้งตัวเปล่าเล่าเปลือยเหมือนหนึ่งปัจเจกบุคคลนามธรรม (abstract individual) เสมอเหมือนและเท่าเทียมกันหมดทุกคน – หนึ่งคนหนึ่งเสียง

และด้วยฐานะและสิทธิแห่งปัจเจกบุคคลพลเมืองนามธรรมเท่าเทียมกันเยี่ยงนี้แหละที่เขาได้ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงในหีบบัตรคนละหนึ่งเสียง (แม้ว่าในทางเป็นจริง สังกัดรวมหมู่รูปธรรมดังกล่าวจะติดตัวติดความคิดจิตใจของเขาเข้ามาในคูหาเลือกตั้งเวลากาบัตรเลือกด้วยอย่างตัดไม่ขาดเช่นไรก็ตาม แต่โดยหลักการแล้วต้องถือว่าไม่นับ ไม่ใช่และไม่เกี่ยวกับสิทธิในการเลือกตั้งของเขาแต่อย่างใดทั้งสิ้น)

จากนั้น เมื่อนำบัตรที่ปัจเจกบุคคลพลเมืองแต่ละคนกาไปคลุกเคล้าผสมกัน แล้วแจงนับออกมาจนได้ผลการเลือกตั้งว่าผู้สมัครคนใดได้เป็นผู้แทนแล้ว การณ์กลับปรากฏว่า ผู้แทนที่ได้หาใช่ผู้แทนของปัจเจกบุคคลพลเมืองเหล่านั้นไม่ว่าโดยส่วนตัวบุคคลหรือโดยกลุ่มก้อนรวมหมู่ไม่ แต่ดันกลายเป็น -> ผู้แทนของ “ชาติ” ไปเสียฉิบ!

นั่นแปลว่า somehow, somewhere along the line “ชาติ” ได้จุติถือกำเนิดขึ้นในหีบบัตรเลือกตั้งหลังลงคะแนนเสียงแล้วนั่นเอง

ความข้อนี้สะท้อนสายสัมพันธ์อันมหัศจรรย์ระหว่าง [ปัจเจกบุคคลพลเมือง-ประชาธิปไตย-ชาติสมัยใหม่] ซึ่งเกี่ยวพันแนบเนื่องกันอย่างแน่นแฟ้นลึกซึ้งและแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเทียบเคียงได้กับนิทานการเมืองเสรีนิยมเรื่องสัญญาประชาคม (social contract) ที่ปัจเจกบุคคลในภาวะธรรมชาติทั้งหลายใช้สิทธิโดยธรรมชาติร่วมกันทำสัญญาสร้างสังคมสร้างรัฐขึ้นมา

ถึงขั้นที่ว่าหากไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแห่งระบอบประชาธิปไตยที่เสรี เป็นธรรมและสม่ำเสมอ (free, fair & regular elections) อย่างแท้จริงแล้ว ชาติก็พูดไม่ได้ และเราก็มิอาจหยั่งรู้เลยว่าชาติเรียกร้องต้องการอะไร?

เปิดช่องโหว่ให้ผู้นำจอมบงการ (dictator) เข้ามาฉวยริบโอกาสอวดอ้างว่าตนพูดแทนชาติ บงการชาติ (dictate) ในนามของชาติและเป็นปากเสียงที่แท้จริงของชาติ อยู่เสมอ ในขณะที่เอาเข้าจริงชาติเป็นใบ้เพราะไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนของชาติที่ถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริงเลย