เศรษฐกิจ / ทุนนอกทะลักทุบสถิติบาทแข็ง 6 ปี ส่องมาตรการแบงก์ชาติ…สกัดฮอตมันนี่!!!

เศรษฐกิจ

 

ทุนนอกทะลักทุบสถิติบาทแข็ง 6 ปี

ส่องมาตรการแบงก์ชาติ…สกัดฮอตมันนี่!!!

 

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ที่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด จะมีผลกระทบทั้งบวกและลบเสมอ

ในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ผู้นำเข้าลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง ผู้ลงทุนนำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง เช่น เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ

ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลต่างประเทศ

ขณะที่ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศถูกลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออก นำรายได้สกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง เช่นเดียวกับคนทำงานต่างประเทศ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่รับเงินเป็นสกุลต่างประเทศ

ส่วนกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่า ผู้ส่งออก คนทำงานต่างประเทศ และประกอบการท่องเที่ยวที่รับเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ นำรายได้สกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

แต่ผู้นำเข้าต้องเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแพงขึ้น ผู้ลงทุน นำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น

ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ มีภาระหนี้มากขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลต่างประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินมีการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ผันผวนจนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

 

แม้ว่าค่าเงินบาทไทยจะค่อนข้างมีเสถียรภาพดี หรือความผันผวนของค่าเงินบาทไม่มากนัก รวมทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดี บัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง บางจังหวะจึงถูกมองเป็นเซฟเฮฟเว่นในภูมิภาค หรือสินทรัพย์ปลอดภัยในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ การบริหารเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยก็เป็นแบบเสรี ดูแลตามความเหมาะสม ไม่ได้เข้าไปบิดเบือนตลาดหรือแทรกแซงมากเกินไป

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ผันผวนและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เริ่มกลับทิศทางจากที่เข้มงวด ได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโต เห็นธนาคารกลางของหลายประเทศต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย รวมถึงมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงว่า อาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปี 2562 นี้ ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่และไทยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน มีเงินไหลเข้ามากจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทะลุลงมาที่ระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 และหากเทียบกับค่าเงินบาทช่วงต้นปี 2562 กับค่าเงินบาทระดับปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่ 6.12% แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย และแข็งค่าเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากรูเบิล รัสเซีย ที่แข็งค่ามากที่สุดในโลก 10.25% และปอนด์ อียิปต์ ที่แข็งค่า 7.31%

 

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุด หรือครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงมาทั้งในปี 2562-2563 สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว

และ กนง.มีความกังวลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วและแข็งค่านำเงินสกุลภูมิภาคเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง การไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้นๆ และปัจจัยในประเทศ จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีกลไกการบริหารจัดการที่เข้มงวดขึ้นผ่านเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว และจะมีการนำออกมาใช้ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท.ได้มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดการดูดซับสภาพคล่อง สำหรับเดือนกรกฎาคม 2562 ลง โดยบอนด์อายุ 3 เดือน และอายุ 6 เดือน ลดลงประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ จาก 40,000 ล้านบาท ลงมาที่ 35,000 ล้านบาท ขณะที่วงเงินการออกบอนด์ อายุ 1 ปี ลดลง 10,000 ล้านบาท จาก 45,000 ล้านบาท ลงมาที่ 35,000 ล้านบาท โดยไม่มีการประกาศโดยตรงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท และระบุว่า ธปท.พิจารณาการปรับเพิ่มหรือลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. ตามความเหมาะสมของปริมาณสภาพคล่องและความต้องการของตลาดในแต่ละเดือน

กรณีนี้ “อมรเทพ จาวะลา”  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้ความเห็นว่า การเริ่มดำเนินการโดยลดการออกพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดการดูดซับสภาพคล่อง มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการแรกๆ ที่จะเห็นก่อน ถือว่าเป็นมาตรการระดับเบา คาดว่า ธปท.จะยังลดการออกพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ในเดือนต่อๆ ไป

ขณะที่มาตราการต่อไปที่อาจจะเห็น คือ การเข้าไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีการทำธุรกรรมกับนักลงทุนต่างชาติโดยเป็นคนที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในประเทศ เพื่อให้จำกัดการแลกเปลี่ยนเงินที่จะเข้ามาซื้อพันธบัตร จะทำให้นักลงทุนต่างชาติระวังการเข้าซื้อพันธบัตรของไทยบ้าง

ขณะที่มาตรการเข้มข้นมากขึ้น คือ การเก็บภาษีการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ หรือการเก็บภาษีดอกเบี้ยจากการลงทุนที่เข้ามาในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดการเก็งกำไรระยะสั้น ส่วนมาตรการรุนแรงที่ ธปท.จะเข้าไปควบคุมปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสน้อย

แต่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป

 

แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากการผ่อนคลายด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เริ่มมีการส่งเสียงให้ กนง.มีการพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะเมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ 1.75% เพราะเมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับต่างประเทศลดลง ทำให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาชะลอลงหรืออาจไหลออกไปที่ที่ผลตอบแทนมากกว่า จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ เมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายลดลง และมีการส่งผลต่อดอกเบี้ยในตลาดการเงินหรือดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ จะทำให้ต้นทุนการบริโภคและการลงทุนถูกลงหนุนให้เกิดการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนส่งผลต่อดีการเติบโตเศรษฐกิจประเทศไปด้วย

คาดว่าหากเฟดมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ อาจจะเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีนี้ก็เป็นได้อย่างน้อย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.50%

แต่ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนสูงและยังเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ ธปท.ห่วงเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะการลดดอกเบี้ยอาจไปกระตุ้นการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้สูงขึ้นไปอีก อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้

แต่ในภาวะที่นโยบายการคลังยังไม่สามารถออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในฝั่งแรงส่งจากนโยบายการเงิน จะเห็นมาตรการอะไรจากนี้เพื่อดูแลด้านค่าเงินบาทและเศรษฐกิจ

  ถึงที่สุดแล้ว…คงต้องวัดใจ 7 อรหันต์ กนง.!!!!