วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / จากอ่านหนังสือ ทำหนังสือสมัครเล่น มาเป็นมืออาชีพ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

จากอ่านหนังสือ ทำหนังสือสมัครเล่น

มาเป็นมืออาชีพ

 

ด้วยพื้นฐานมาจากการอ่านหนังสือเป็นหลัก นับแต่เริ่มอ่านหนังสือได้ และมีบิดาเป็น “ศึกษาธิการ” คืออาชีพครู ขรรค์ชัย บุนปาน เมื่อยังเรียนมัธยมต้น มีหน้าที่ซื้อหนังสือจากแผงร้านที่ตั้งหน้าตึก 3 ชั้น ใกล้สถานีรถไฟ (รถราง) คลองสาน-มหาชัย สถานีตลาดพลูกลับไปให้ “พ่อ” และพี่น้องที่บ้านอ่าน ไม่ทราบว่ากี่วันต่อครั้ง แต่มีหนังสือหลากหลาย โดยเฉพาะหนังสือการบ้านการเมือง นิตยสาร และหนังสือพิมพ์บางฉบับ

จากสถานีรถไฟตลาดพลู ขรรค์ชัยนั่งรถรางกลับไปลงที่ป้ายโรงพักบางขุนเทียน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางขุนเทียน และบ้านขรรค์ชัยอยู่ถัดเข้ามาหลังโรงพัก

ระหว่างทางจากสถานีตลาดพลูถึงสถานีโรงพักบางขุนเทียน คงนั่งอ่านหนังสือมาเรื่อย ไม่ทราบว่ากี่เล่มกี่ฉบับ สัปดาห์ละกี่วัน

ขรรค์ชัยเคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยเป็นเด็กผู้ชาย การทำงานบ้านบางอย่างที่ไม่หนักเป็นหน้าที่ของพี่สาว เช่น ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า ส่วนของเขางานหนักกว่า เช่น ตักน้ำจากคลองใส่ตุ่มให้คนในบ้านอาบ ใช้

เมื่อมีเวลาว่าง สิ่งหนึ่งที่ทำเป็นประจำคืออ่านหนังสือ และระหว่างอ่านหนังสือ พี่สาวจะไม่ค่อยเรียกใช้งาน จึงมีเวลา “ติด” อ่านหนังสือ

ไม่ว่าหนังสืออะไรอ่านมันหมดนั่นแหละ

 

จําได้ว่า เมื่อเข้าเรียนในวิทยาลัยครูสวนสุนันทา หลังสอบตกจากชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7) ขรรค์ชัยพบกับเสถียร จันทิมาธร ซึ่งมาจากจังหวัดสุรินทร์ เรียนชั้นประกาศนียบัตรชั้นสูง (ป.กศ.สูง ปี 4)

การเรียนวิทยาลัยครูมี 2 ระดับ คือประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น (ป.กศ.ต้น) มี 2 ชั้นเรียน คือ ปี 1 กับปี 2 ผู้เข้าเรียนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 หรือ ม.6 เมื่อจบ ป.กศ.ต้น เทียบเท่ากับ ม.8 หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย สอบเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยได้

ส่วนระดับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง หรือ ป.กศ.สูง เรียน 2 ปี คือ ปี 3 และปี 4 เทียบเท่าอนุปริญญา ผู้ที่สำเร็จทั้ง ป.กศ.ต้น และ ป.กศ.สูงมักไปสอบเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ประสานมิตร) ซึ่งขณะนั้นมีหลายวิทยาลัย ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีที่ซอยประสานมิตร จึงเรียกว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร และในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ใกล้ที่สุดคือวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน

ผู้ที่จบ ป.กศ.สูง มักไปสอบเข้าเรียนต่อในระดับอนุปริญญาที่ประสานมิตรอีก 2 ปี

 

ระหว่างที่เรียนสวนสุนันทา ด้วยชื่อเสียงของขรรค์ชัยด้านเป็นนักเขียนกลอนและเรื่องสั้นมาก่อน ทำให้เสถียรซึ่งเป็นสาราณียกรของคณะกรรมการวิทยาลัยครูสวนสุนันทาได้เรียกมาพบและรู้จัก จะได้ช่วยกันทำหนังสือหรือเขียนหนังสือลงในหนังสือของวิทยาลัย

ประกอบด้วยชื่อเสียงด้านการเขียนกลอนของขรรค์ชัยเป็นที่รู้จักของครูอาจารย์บางคน อาจารย์บรรเลง ศิลปบรรเลง จึงเรียกใช้งานให้ช่วยเขียนบทกลอนในละครประจำปีของวิทยาลัย ประกอบกับมีการประกวดบทกลอน “สดุดีสมเด็จพระปิยมหาราช พระบรมรูปทรงม้า 23 ตุลาคม” ปีนั้น ขรรค์ชัยชนะเลิศได้รางวัล (ที่จำได้คือวรรคสุดท้ายของบทกลอน ขรรค์ชัยจบไว้ว่า “กราบพระรูปทรงม้าน้ำตาริน”)

คุณหญิงกรองแก้ว ปทุมานนท์ จึงนำมาประกาศและอ่านบทกวีของขรรค์ชัยหน้าแถวเคารพธงชาติเช้า

หลังจากวันนั้นยิ่งทำให้ชื่อเสียงของขรรคชัยมีนักศึกษาและครูอาจารย์รู้จักมากขึ้น

 

ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง (พันธ์ศักดิ์ ธีรสานต์) ที่สอบตกซ้ำ ม.7 ครั้งหนึ่ง และมัธยมศึกษา ม.ศ.4 อีกครั้งหนึ่ง จึงต้องออกจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ แล้วตามขรรค์ชัย – ซึ่งสอบตก ม.7 พร้อมกันมาสอบเข้าวิทยาลัยครูสวนสุนันทา (เท่าที่ทราบภายหลังด้วยความอนุเคราะห์ของขรรค์ชัย ที่ช่วยดูแลการสอบครั้งนั้น)

เมื่อขรรค์ชัยพบกับเสถียร ส่วนมากมีผมติดสอยห้อยตามไปด้วย จึงมีโอกาสฟังการสนทนาของทั้งสองเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องการอ่านหนังสือของทั้งสองคนที่ไม่เพียงแต่ของนักเขียนชื่อดังของไทยยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสนีย์ เสาวพงศ์ อิศรา อมันตกุล “ศรีบูรพา” “รพีพร” ทวีป วรดิลก ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ อุษณา เพลิงธรรม หรือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นนั้น ส่วนที่ข้าพเจ้ารู้จักมักเป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ครูมาลัย ชูพินิจ และนามปากกาอื่น คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น

ทั้งยังมีนักเขียนชื่อเสียงโด่งดังต่างประเทศซึ่งผมไม่ค่อยรู้จัก ทั้งงานและชื่อเสียง จึงขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะจำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง อาทิ กีร์ เดอโมปาสซังต์ จังค์ ปอลชาร์ต และใครต่อใครอีกหลายคน

ทั้งสองคุยกันออกรส สนุก ทั้งชื่อเสียงของนักเขียนคนนั้นคนนี้และงานเขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้

ในส่วนของผม เสถียรแนะนำกับคณะสาราณียกรที่ต้องจัดทำหนังสือรุ่นของวิทยาลัย ให้ผมเข้าไปมีตำแหน่งเป็นกรรมการ จึงมีโอกาสช่วยทำหนังสือรุ่นทั้งสองปี คือปีที่เสถียรเป็นสาราณียกร ทำให้ผมรู้จักโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ สี่กั๊กเสาชิงช้า ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมานาน และเป็นโรงพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์บางฉบับสมัยก่อน กับปีที่ผมตกซ้ำชั้น ป.กศ. จึงไม่มีโอกาสเทียบเท่าชั้นมัธยมปลาย

ต้องกลับมาเรียนใหม่ ต่อเมื่อรัฐบาลให้วิทยาลัยครูเปิดสอนภาคค่ำ

 

เมื่อสำเร็จ ป.กศ.สูง เสถียรไปสอบเข้าวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ปี 3 (ภาคค่ำ) จนสำเร็จปริญญาตรี กลางวันยังมีโอกาสเข้าทำงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รู้จักกับนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคน

ส่วนขรรค์ชัย หลังจากเว้นวรรคไปอุปสมบท ได้หนังสือเล่มหนึ่งคือ “ชานหมากนอกกระโถน” ระหว่างที่ผม ขรรค์ชัย สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5 ที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา) แล้วไปสอบเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมด้วยช่วยกันทำนิตยสารช่อฟ้า ซึ่งสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ได้รับมอบหมายจากกิตติวุฑโฒภิกขุแห่งมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ เป็นบรรณาธิการ จึงผ่องถ่ายมาให้ผมและชาวคณะเป็นผู้ช่วยผู้จัดทำ

เมื่อพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่จัดทำนิตยสารช่อฟ้า สุจิตต์ วงษ์เทศ ขณะเรียนคณะโบราณคดี จึงเริ่มจัดทำนิตยสารของคณะโบราณคดี ที่มีหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเป็นคณบดี

ปีต่อมาขรรค์ชัยสอบเข้าเรียนในคณะโบราณคดีได้ ทั้งสองจึงหัวหกก้นขวิดไปร่วมกันขุดค้นโบราณสถานเพื่อการเรียนประวัติศาสตร์โบราณคดี ทั้งเป็นไปตามหลักสูตร และเป็นเรื่องอยากรู้อยากเรียนของทั้งสองคน ซึ่งเป็นวัตถุดิบและแหล่งความรู้ชั้นดี โดยเฉพาะสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม”

ระหว่างทั้งสองคนเรียนคณะโบราณคดี พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เรียนปีสุดท้ายที่แผนกวิชาวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์ “เจ็ดสถาบัน”

จึงเป็นโอกาสที่พงษ์ศักดิ์ได้มาพบและชักชวนให้ทั้งสองคนไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “เจ็ดสถาบัน” ด้วย