สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/กล้วยตีบ กล้วยยาสารพัดประโยชน์

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

กล้วยตีบ

กล้วยยาสารพัดประโยชน์

 

เมืองไทยใหญ่อุดมของเรามีกล้วยที่กินได้มากกว่า 150 ชนิด กินง่าย ปลูกง่าย

อันเป็นที่มาของสำนวนว่า “ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก”

เด็กในยุคก่อนมีนมผง เติบโตขึ้นมาด้วยกล้วยพอๆ กับน้ำนมแม่ จึงกล่าวได้ว่า กล้วยเป็นเหมือนน้ำนมของแม่ธรณี และทั้งที่ผลกล้วยมีแป้งมากพอๆ กับข้าว

แต่พระพุทธองค์ยังทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผลกล้วยทุกชนิดได้หลังเวลาเที่ยง ไม่ว่าจะเป็นกล้วยชนิดมีเมล็ดหรือไม่มีเมล็ดก็ตาม

น่าแปลกที่สายพันธุ์กล้วยมีเมล็ดมีเนื้อแป้งมากกว่าพันธุ์ไม่มีเมล็ด แต่คนก็ชอบกินกล้วยสายพันธุ์ไม่มีเมล็ด

เพราะนอกจากจะนุ่มเคี้ยวกินง่ายแล้ว กล้วยไม่มีเมล็ดยังมีแป้งน้อย เมื่อสุกจะหวานอร่อย

ส่วนกล้วยสายพันธุ์มีเมล็ดแม้สุกแล้วก็ยังมีรสฝาดของแป้ง

ทุกวันนี้หาได้ยากเพราะปลูกแล้วไม่มีใครซื้อ ทั้งๆ ที่กล้วยผลฝาดเนื้อแป้งมากนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ

และมีสรรพคุณทางยา

ในที่นี้ขอแนะนำกล้วยยาที่หมอยาไทยรู้จักกันดีคือ กล้วยตีบ

 

กล้วยตีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa (ABB group) “Kluai Teep” ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่ามาจากสายพันธุ์ของกล้วยป่าที่ไม่มีเมล็ด (สายพันธุ์ A) เพียง 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือ อีก 2 ใน 3 ส่วน กระเดียดไปทางสายพันธุ์กล้วยตานีที่มีเมล็ดมาก (สายพันธุ์ B)

กล้วยกลุ่ม ABB แม้จะไม่มีเมล็ดเหมือนกล้วยตานี แต่ก็ยังมีแป้งมาก มีเปลือกหนาและมีสรรพคุณทางยาสูง อาทิ กล้วยตีบ กล้วยหักมุก กล้วยหิน

กล้วยตีบเองยังเป็นพันธุ์กล้วยที่นิยมนำมาปรุงเป็นแกงพื้นบ้าน หรือใช้เป็นยาในบางท้องถิ่น ทำให้ยังหลงเหลือพันธุ์กล้วยตีบอยู่หลายชนิดทั้งในถิ่นอีสาน และทางใต้

เช่น กล้วยตีบเล็ก กล้วยตีบใหญ่ กล้วยตีบใหญ่อุบล กล้วยตีบมุกดาหาร กล้วยตีบคำ หรือกล้วยตีบราชบุรี ที่นิยมใช้เป็นยา เป็นต้น

แกงกล้วยตีบเป็นเมนูอาหารบำรุงกำลังสูตรเด็ดของชาวอีสาน

เช่น แกงป่ากล้วยตีบใส่ไก่บ้าน หรือใส่เนื้อต่างๆ

บางแห่งต้องการเพิ่มความมันเข้มข้น อาจจะเป็นเมนูแกงกะทิกล้วยตีบ

สำคัญตรงที่กรรมวิธีนำกล้วยตีบดิบมาแกงต้องแก้ยางและรสฝาด โดยการฝานผิวเปลือกผลกล้วยออกบางๆ แล้วแช่น้ำเกลือ แก้ฝาด แก้ยางกล้วยเปลี่ยนเป็นสีดำ

จากนั้นจึงสับเฉาะผลกล้วยแล้วหั่นเป็นพอคำเพื่อให้รสเครื่องแกงเข้าเนื้อกล้วยกลบรสฝาด

แกงกล้วยตีบหม้อใหญ่เป็นอาหารบำรุงที่หนักด้วยแป้งกล้วยตีบ ที่อิ่มอร่อย

แต่รับรองท้องไม่อืดเพราะปรุงด้วยเครื่องแกงนานาๆ ชนิดทั้งพริก กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผิวมะกรูด โขลกแหลก เพื่อช่วยย่อย และคุมฤทธิ์เย็นของเนื้อกล้วยตีบ

 

เมนูแกงกล้วยตีบดิบ เป็นอัจฉริยะของภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อช่วยบำรุงร่างกายในผู้ใหญ่

ส่วนในเด็กเล็กนั้นเนื้อผลสุกบดของกล้วยตีบเหมือนกล้วยน้ำหว้าบด

แต่เนื้อกล้วยตีบสุกจะเนียนละเอียดกว่า รสหวานเย็นกว่ากล้วยน้ำว้า

ชาวอีสานบ้านเฮายังผูกพันกับกล้วยตีบก็เพราะยังมีการใช้กล้วยชนิดนี้ในวิถีสุขภาพของผู้หญิงชนบทในช่วงระยะอยู่ไฟหลังคลอด คือ สูตรตำรับต้มน้ำอาบหญิงหลังคลอดทั้งแม่และลูกอ่อน จะมีใบตองกล้วยตีบแห้ง ใบมะขาม ใบหนาดหลวง ใบเปล้า

สูตรนี้จะมีกลิ่นหอมพิมเสนจากใบหนาดหลวง และกลิ่นคล้ายการบูรของใบตองตีบแห้ง

ดังคำกาพย์ฉบัง 16 ในหนังสือ “พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน” ของพระยาศรีสุนทรโวหารสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “หนึ่งเล็บมือนางนามกร ตีบหอมขจร บ้างเรียกว่ากล้วยการบูร”

ใบตองตีบแก้ผื่นคันและแก้โรคภูมิแพ้ผิวหนังต่างๆ หรืออาจจะใช้สมุนไพรต้มน้ำอาบอีกสูตรหนึ่ง คือ ใบตองตีบแห้ง ใบเตยและใบหม่อน

ซึ่งเดี๋ยวนี้ยาต้มอาบหลังคลอดทั้ง 2 สูตรได้ยกระดับขึ้นเป็นสปาสุขภาพที่สตรีไฮโซนิยมกันแพร่หลาย

ยิ่งไปกว่านั้นใบตองตีบสดยังนำมาโขลกพอแหลกห่อผ้าขาวบางมัดเป็นลูกประคบร้อน แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อได้ดี

 

หมอพื้นบ้านใช้กล้วยตีบรักษาโรคต่างๆ เช่น ใช้ใบตองตีบแห้งมวนยาเส้น ผสมผงไม้ข่อย หรือดอกปีบสูบแก้ริดสีดวงจมูก หรือใช้น้ำต้มอมแก้ซางเด็ก กลั้วคอแก้ร้อนใน และแผลในปากของผู้ใหญ่

ผลกล้วยตีบสุก [โดยเฉพาะกล้วยตีบมุกดาหารใส่เป็นไส้ข้าวต้มมัด (สูตรอีสานไม่ใส่น้ำตาล)]เป็นยาโด๊ปของท่านชาย เหง้านำมาหั่นเป็นชิ้นย่างไฟห่อผ้าขาวบางเป็นลูกประคบอุ่นๆ ที่บริเวณขมับแก้ปวดหัวข้างเดียว

รสฝาดเย็นของรากกล้วยตีบต้มแก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ดับพิษในโลหิต ยิ่งกว่านั้นผลกล้วยตีบดิบแห้ง (ไม่มีเปลือก) ฝนกับฝาละมีละลายกับเหล้าขาว กินประมาณ 1 ถ้วยชาหรือ 30 ซีซี แก้บิดหายชะงัด

ในคัมภีร์แพทย์หลวงไทยหลายตำรับ ก็มีการใช้กล้วยตีบเป็นเครื่องยาในการรักษาอาการโรคหนักเบาที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร และหนองฝีต่างๆ ทั้งที่เป็นสูตรตำรับใหญ่

ได้แก่ การใช้น้ำคั้นใบกล้วยตีบเป็นน้ำละลายยาผงสำหรับแก้อาโปถอยในตำราพระโอสถพระนารายณ์ อาการอาโปถอยก็คืออาการที่เกิดจากธาตุน้ำผิดปกติ ส่วนใหญ่จะทำให้ท้องเสีย ปวดมวนท้องรุนแรง จุกเสียดแน่นอก ผอมแห้ง ตัวเหลือง เป็นต้น

 

ลูกกล้วยตีบ ใช้เข้าตำรับยาหณุมาณจองถนนปิดมหาสมุทร ใน “คัมภีร์อติสารและยาแก้บิด” คือใช้แก้ถ่ายบิดเป็นมูกเลือดและหนอง หรือในคัมภีร์เดียวกันนี้จะใช้สูตรตำรับเล็ก ก็ได้ คือ รากกล้วยตีบ ฝาง และฝิ่นต้น อย่างละเท่าๆ กัน ต้ม 3 เอา 1 ก็สามารถแก้บิดมูกเลือดได้ชะงัด

เช่นเดียวกับรากกล้วยตีบที่ใช้ร่วมกับยารสฝาด ขม เย็นอีก 2 ตัวในพิกัดตรีอมฤตซึ่งใช้แก้บิดมูกเลือด พร้อมกับเป็นยาบำรุงธาตุไปในตัว นอกจากนี้ รากกล้วยตีบยังใช้เข้าตำรับยาขนานใหญ่ชื่อ ยาสุริยฉานอุไทย ใน “คัมภีร์ฉันทศาสตร์” ซึ่งแก้ไข้สันนิบาตสองคลอง คือ ช่วยแก้ทั้งการอาเจียน และการถ่ายท้องรุนแรงไปพร้อมๆ กัน

ใน “คัมภีร์ทิพย์มาลา” ว่าด้วยฝีวัณโรคและฝีมะเร็งต่างๆ มีตำรับยาง่ายๆ ที่ใช้เพียงรากกล้วยแห้งเพียง 2 ชนิด คือรากกล้วยตีบ กับรากกล้วยตานี บดผงละลายสุรา อมวันละ 3-4 เวลา เพื่อแก้พิษฝีที่โคนลิ้น และหากจะประยุกต์ยาตำรับนี้ใช้อมแก้แผลหนองในช่องปากช่องคอ บรรเทาอาการเจ็บปวดทรมาน ก็น่าจะได้เช่นกัน

ฉะนั้น ถ้าบ้านใครพอมีที่ดินลองปลูกกล้วยพื้นบ้านอย่างกล้วยตีบ หรือกล้วยโบราณยุคสุโขทัยอย่างกล้วยตานี ไว้เพื่ออนุรักษ์และใช้ปรุงยาหรือแกงกล้วยกินบำรุงร่างกาย หรือใช้ลูกสุกเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็ก

ก็นับว่าคุ้มค่าทีเดียว