โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /พระสมเด็จฟองเต้าหู้ พระราชอุทัยกวี(พุฒ) วัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี

พระราชอุทัยกวี (พุฒ สุทัตโต)

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระสมเด็จฟองเต้าหู้

พระราชอุทัยกวี(พุฒ)

วัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี

 

“หลวงพ่อพุฒ สุทัตโต” หรือ “พระราชอุทัยกวี” อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี และเจ้าอาวาสวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (ทุ่งแก้ว) อ.เมือง จ.อุทัยธานี เป็นพระเถราจารย์ลุ่มน้ำสะแกกรัง

ช่วงปี พ.ศ.2502 จัดสร้างพระเนื้อผงพุทธคุณ โดยใช้ผงพุทธคุณจากการจารอักขระเลขยันต์แล้วลบเอาผงจากกระดานชนวนมาเป็นส่วนผสม และปลุกเสกเดี่ยว

พระผงดังกล่าวเป็นรุ่นที่ 1 เป็นพระพิมพ์สมเด็จฐาน 3 ชั้น เนื้อสีขาวเหลือง หรือ “พระสมเด็จหลวงพ่อพุฒ ฟองเต้าหู้” แบ่งออกเป็น 4 พิมพ์ คือ พิมพ์พิเศษ มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าปกติ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก

ลักษณะแบบพิมพ์ทรงในรูปสี่เหลี่ยม องค์พระประทับนั่งสมาธิบนอาสนะฐานสามชั้น มีซุ้มโค้งเป็นเรือนแก้วแบบเส้นลวดโดยรอบ คล้ายพระพิมพ์ที่เรียกว่า “พิมพ์สมเด็จ” ทั่วไป มีหูทั้งสองข้างแบบบายศรี บางองค์ไม่มีขอบซุ้มด้านล่าง เนื้อพระฟูเด่นชัดคล้ายฟองเต้าหู้

ด้านหลังเรียบว่างเปล่า ไม่มีรูป ตัวหนังสือหรืออักขระขอมใดๆ ทั้งสิ้น สร้างจำนวนไม่มากนัก

ปัจจุบันค่อนข้างหาได้ยาก เป็นพระผงพุทธคุณรุ่นแรก ที่มีผู้ที่นำไปบูชาแล้วได้รับประสบการณ์มากมาย

แม้แต่เซียนพระชื่อดังหลายคนในเมืองอุทัยธานียังกล่าวอย่างหนักแน่นและมั่นใจว่า “บนคอมีหลวงพ่อพุฒองค์เดียว” น่าจะเป็นการการันตีได้ว่าวัตถุมงคลหลวงพ่อพุฒมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้าน

ขณะนี้เซียนพระและนักนิยมสะสมพระเครื่องเมืองอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียง ต่างเสาะแสวงหาเช่าบูชาไว้เก็บ ไม่ยอมปล่อย ซึ่งราคาเช่าบูชายังไม่สูงนัก

พระสมเด็จฟองเต้าหู้ หลวงพ่อพุฒ (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิมว่าพุฒ แจ้งอิ่ม เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2439 ที่บ้านหนองเต่า ต.ทุ่งใหญ่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี

ในวัยเยาว์ ต้องช่วยบิดา-มารดาทำนาและเลี้ยงน้อง แต่ก็มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม คือชอบสวดมนต์ก่อนนอน จนคล่องตั้งแต่อายุยังน้อย

พ.ศ.2453 บิดานำไปฝากพระสุนทรมุนี (ใจ) เจ้าอาวาสวัดมณีธุดงค์สงฆ์มูลิกาวาส และเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดมณีธุดงค์เชลยศักดิ์ ได้เรียนวิชาภาษาไทย ภาษาขอมและวิชาลงรักปิดทอง

พ.ศ.2454 บรรพชาที่วัดทุ่งแก้ว

วันที่ 6 มีนาคม 2458 อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดทุ่งแก้ว โดยมีพระสุนทรมุนี (ใจ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่าสุทัตโต

พ.ศ.2460 พระสุนทรมุนี (ใจ) เจ้าสำนักเรียนวัดทุ่งแก้วส่งไปศึกษาต่อในสำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระนคร

ลำดับการศึกษา พ.ศ.2462 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2463 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

พ.ศ.2464 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

พ.ศ.2465 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

ระหว่างศึกษาอยู่ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อบรมสั่งสอน และมีโอกาสปฏิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นชาวจังหวัดอุทัยธานีด้วยกัน

ประกอบกับท่านเป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะ มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นที่ชื่นชอบของสมเด็จพระวันรัต (เฮง) เป็นอย่างยิ่ง

นับว่าเป็นศิษย์ที่ได้รับความเมตตาและไว้วางใจมากที่สุดอีกรูป

 

ลําดับงานด้านการศึกษา พ.ศ.2464 เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ จ.พระนคร

พ.ศ.2466 เป็นครูสอนธรรมวินัยและบาลี สำนักเรียนวัดหนองขุนชาติ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

พ.ศ.2469 เป็นครูสอนธรรมวินัยและบาลี สำนักเรียนวัดทุ่งแก้ว อ.เมือง จ.อุทัยธานี

พ.ศ.2478 เป็นเจ้าสำนักเรียนคณะจังหวัดอุทัยธานี

นอกจากการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังมีความสนใจด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ในปี พ.ศ.2496 ได้ไปศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระภัททันตะ อาสภเถระ พระชาวพม่า ที่ได้นำความรู้มาอบรมสั่งสอนให้แก่ลูกศิษย์ โดยเริ่มทำการสอนตั้งแต่ พ.ศ.2497 เป็นต้นมา

รวมทั้งได้จัดตั้งวิปัสสนามูลนิธิ วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2469 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดทุ่งแก้ว

พ.ศ.2471 เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งแก้ว

พ.ศ.2476 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี และเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2477 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี

พ.ศ.2478 เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2476 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษในราชทินนามพระครูศรีรัตนาภิรม

พ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุนทรมุนี

พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชอุทัยกวี

ยังสนใจศึกษาด้านพุทธาคม แสวงหาและศึกษาจากผู้มีวิทยาคุณหลายท่าน อาทิ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด) วัดเขาแก้ว, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี, หลวงพ่อสิน วัดหนองเต่า, หลวงพ่อพลอย วัดห้วยขานาง, หลวงพ่อจิ๋ว วัดโนนเหล็ก, พระวิบูลวชิรธรรม วัดท่าพุทรา, หลวงพ่อจ้อย วัดอมฤต และพระอุดมธรรมภาณ (สม) วัดทัพทัน เป็นต้น

สภาพร่างกายโดยทั่วไป สุขภาพอนามัยดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว โดยปกติท่านจะใช้เวลาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในกุฏิเสมอ บางครั้งจะปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลานาน 1-2 วัน โดยไม่ออกมาฉันภัตตาหารเลย วันที่ 24 เมษายน 2533 เมื่อฉันภัตตาหารเช้าแล้วก็เข้ากุฏิปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น. มรณภาพอย่างสงบ ภายในกุฏิสุนทรประมุข สิริอายุ 95 ปี พรรษา 75

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2534 ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่เมรุลอย หน้าโรงเรียนปริยัติธรรม “อุทัยธรรมสภา”