ธุรกิจพอดีคำ | การสร้างแบรนด์ / ความเข้าอกเข้าใจ และ Design Thinking

“สมบัติ”

สมชายเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน

พ่อ-แม่ไม่มีตังค์ส่งเขาเรียนหนังสือ

เขาต้องทำงานตั้งแต่อายุ 7 ขวบ

ส่งหนังสือพิมพ์ ขายพวงมาลัย

จนกระทั่งมาขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างแถวหมอชิต

ผ่านมาหลายปีเขาถูกรถชน ขาพิการ ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้

จึงต้องกลายเป็นขอทานบนสะพานลอยแถวรัชดา

ต้องนอนกลางดิน กินกลางสะพาน

ตากแดด ตากฝน อยู่หลายปี

ในที่สุดก็เป็นปอดบวม

เสียชีวิตในที่สุด

ช่วงเดือนนี้ผมได้มีโอกาสไปเรียนวิชา “เล่าเรื่อง (Storytelling)” จากปรมาจารย์หลายท่าน

ผ่านหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ที่มีชื่อว่า “เดอะสตอรี่ (The Story)”

ผมเองยอมรับว่าไม่ค่อยได้มีโอกาสไปเรียนอะไรแบบนี้เท่าไร

งานประจำก็เยอะ งานไม่ประจำก็แยะ

กลัวว่าจะไปทำให้ชั้นเรียนของเขาไม่สมบูรณ์

เพราะมีนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อยๆ

แต่ครั้งนี้ตั้งใจไว้ดิบดีเลยครับ

อยากเรียนเรื่อง “การเล่าเรื่อง (Storytelling)” แบบจริงจัง

เริ่มเรียนครั้งแรกก็ได้มีโอกาสเรียนกับ “พ่อมดวงการเล่าเรื่อง” เลย

คุณพิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง TEDxBangkok ของเมืองไทยตั้งแต่เมื่อสี่ปีที่แล้ว

ปัจจุบันตั้งบริษัทสอนผู้บริหารเรื่องการสื่อสาร การสร้างแบรนด์ และนวัตกรรม

บริษัทชื่อว่า “โกลว์ (Glow)” ที่แปลว่า ส่องแสง

พิบอกว่า เรื่องราวในโลกนี้มันน่าสนใจในตัวเองอยู่แล้ว

เราแค่ต้องส่องแสงไปที่มัน ขัดเกลามัน ให้มันใช้งานได้ ในแบบที่เราต้องการ

น่าสนใจมากครับ

พิเล่าให้ฟังว่า “จุดเริ่มต้น” ของการเล่าเรื่องที่ดี

ก่อนที่จะคิดว่าจะเล่าอะไร เล่ายังไง

ให้ทำความเข้าใจกับเรื่องนั้นๆ ก่อน

พิเคยได้รับโจทย์ให้สื่อสารกับคนหมู่มาก เรื่องการรักษาผืนป่า

ทำยังไงให้คนกรุงได้ตระหนักถึงการรักษาผืนป่า

ปกติเราก็จะเห็นป้ายโฆษณา หรือซุ้มรับเงินบริจาคกันตามห้าง ที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้าไปช่วยเท่าไร

ก็คนมาช้อปปิ้ง ซื้อของ จะทำยังไงให้คนสนใจ ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

คิดไอเดียใหม่ๆ คิดไม่ออก

วนไปวนมา

สุดท้าย

ที่เขาทำ ในฐานะคนกรุงที่อยากเล่าเรื่องผืนป่า

ก็คือ “การเข้าไปใช้ชีวิตในป่า”

ไปเก็บข้อมูล ไปรู้สึก ไปสัมผัสด้วยตัวเอง

เขาได้เข้าไปคุยกับพี่ๆ ผู้พิทักษ์ป่าไม้ ที่เสี่ยงชีวิตต่อสู้กับโจรผู้ร้ายเข้ามาลักลอบตัดไม้

ต้องช่วยชีวิตสัตว์ที่จะถูกล่า เสี่ยงการโดนสัตว์ทำร้าย

ต้องเดินตรวจตราวันหนึ่งเป็นหลายๆ สิบกิโล

พอทีมงานของพิเข้าป่าไป

เหนื่อยด้วยกัน สัมผัสความลำบากด้วยกัน

ก็สามารถเปิดใจพี่ๆ เหล่านี้ ได้ความน่าสนใจหลายอย่าง

พี่ๆ ผู้พิทักษ์ผืนป่าบอกพิว่า

“ผมรักษาสมบัติให้กับคนในเมือง”

ถ้าไม่มีผืนป่านี้ สักวันคนเมืองจะลำบาก

คำคำนี้คำเดียวเท่านั้น ทำให้ทั้งการเดินทาง “คุ้ม”

ผืนป่าคือสมบัติ

เอามาต่อยอดทำการสื่อสารได้มากมาย

ทีมงานเอามาคิดต่อยอด สื่อสารให้ผู้ปกครอง

ลูกของคุณ เป็นสมบัติของคุณใช่มั้ย

แต่ถ้าคุณไม่รักษาสมบัติอีกด้าน ซึ่งก็คือสิ่งแวดล้อมเอาไว้ให้พวกเขา

สมบัติส่วนตัวของคุณก็จะไม่เหลือเหมือนกัน

ได้ “แนวคิด” นี้มา ก็นำมาทำเป็นนิทรรศการต่อยอดได้หลายเรื่อง

เป็น “โครงการ” ที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว

ผมฟังเรื่องนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย “สแตนฟอร์ด”

ตอนที่ผมเรียนเรื่องนวัตกรรม “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)”

หลายๆ องค์กรในเมืองไทยที่ผมได้มีโอกาสไปสอนเกือบร้อยแห่ง

จะพอทราบว่า ผมเน้นเรื่อง “ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า (Empathy)” มาก

เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมทุกอย่างในโลก

อย่าเพิ่งหาทางแก้ปัญหา ถ้าคุณยังไม่ได้เข้าใจปัญหา

ผมจำได้ว่า ตอนที่เรียนจบจากที่มหาวิทยาลัย

เขาไม่ได้มีแจก “ใบประกาศนียบัตร” ใดๆ ที่เอามาใช้ทำงานต่อได้

แต่แจกเป็น “พวงกุญแจ” ครับ

บนพวงกุญแจนั้นเขียนว่า

“When you”re lost, return to empathy”

(เมื่อคุณหลงทาง ให้กลับไปที่ความเข้าอกเข้าใจ)

หลายครั้ง เวลาเราคิดงานไม่ออก เพราะเรามัวแต่หลง วนๆ กับความคิดตัวเอง

ใช่ ไม่ใช่ ตัดสินใจไม่ได้ คิดไม่ออก

พอเราได้ไปคุยกับ “ลูกค้า” สักที

หลายครั้ง เราก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

ได้แรงบันดาลใจ ได้เปิดมุมมองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

เรื่องที่ซับซ้อน ก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เหมือนเส้นผมบังภูเขา

ลองมาคิดดู

สิ่งที่พิและทีมงานโกลว์ทำนั้นก็คล้ายๆ กัน

คิดไม่ออก ก็เลย “ลงพื้นที่” ซะเลย

เข้าป่าแบบไม่รู้จะได้อะไรรึเปล่า

แต่อย่างน้อยก็อาจจะดีกว่ามานั่งประชุมกันเป็นวันๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจบริบทของปัญหาเลย

ไม่ว่าจะเป็นงานนวัตกรรม

หรือว่าการเล่าเรื่อง การสร้างแบรนด์

“ความเข้าอกเข้าใจ” นี่แหละ

คือจุดเริ่มต้นที่ดี ที่คนทำงานควรให้ความสำคัญ

สมชายชีวิตมีแต่เรื่องเศร้า

ไม่มีฉากต่อสู้ ไม่มีจุดพลิกฝัน ไม่มีบทเรียนนำไปใช้ต่อได้

จะเล่าให้ใครฟัง

ก็คงไม่น่าสนใจ