แย่งเก้าอี้ ตัวการ “ความสิ้นหวัง”

ตัวการ “ความสิ้นหวัง”

หากติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คน โดยเฉพาะในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะพบความเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะสืบต่ออำนาจของพวกตัว โดยอาศัยเสื้อประชาธิปไตยขยายตัวในวงกว้าง และเป็นความเชื่อที่หนักแน่นมากขึ้น

ภาพของกลุ่มคนที่หาทางเพิ่มอำนาจของนักการเมืองที่พวกตัวเองสั่งการได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ดูจะมีผู้คนมากขึ้นที่สัมผัสถึงภาพนั้นในใจ

ความพยายามที่จะหาทางกดข่มให้เกิดการยอมรับกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนมากขึ้นที่สังเกตเห็น

และรับรู้กันมากขึ้นว่าเป็นวิธีสร้างความชอบธรรมให้อำนาจที่ไม่ผ่านการเชื่อมโยงกับประชาชนคือ การทำให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งมีภาพที่เลวร้าย น่าเอือมระอากับการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าที่จะคิดถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ

ภาพหนึ่งที่ชัดขึ้นเรื่อยในความรู้สึกของคนทั่วไป คือการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่ดำเนินมา 3 เดือนเต็มๆ แล้ว ยังไม่จบไม่สิ้น

ข่าวคราวที่ออกมาล้วนเป็นเรื่องของการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรค ของกลุ่ม แย่งกันเอาเป็นเอาตาย จนทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีภาพของความเลอะเทอะ ให้ค่าของผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับมากกว่าความคิดที่จะเข้าไปทำประโยชน์ให้ประเทศ

ขณะคนที่นิ่งที่สุดกลับกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจบัญชาการนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

นักการเมืองจากการเลือกตั้งมีแต่ความวุ่นวายแก่งแย่ง ขณะที่นักการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนกลับนิ่งและประกาศถึงความเสียสละที่จะทำงานให้ประเทศชาติด้วยเสียงอันดัง

นี่เป็นความไร้สำนึกของนักการเมืองจากการเลือกตั้งหรือไม่

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป” น่าจะพอเป็นคำตอบที่จะกระตุ้นให้ตระหนักถึงศรัทธาของประชาชนได้ไม่น้อย

ในคำถามว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส.ในช่วงที่ผ่านมา 3 เดือนหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562” ผลของคำตอบที่ให้ตอบได้หลายข้อออกมาว่า

ร้อยละ 46.44 เห็นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้เพื่อแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี, ร้อยละ 35.79 บอกว่าหลังเลือกตั้ง ส.ส.หายหน้าไปเลย, ร้อยละ 34.30 เห็นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิมๆ เช่น ด่ากันไป ด่ากันมา และชอบอ้างประชาชน, ร้อยละ 31.95 ชี้ว่า ส.ส.จากพรรคที่จะเป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง, ร้อยละ 16.29 เห็นว่า ส.ส.ที่จะเป็นฝ่ายค้านใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล

มีร้อยละ 9.16 ที่เห็น ส.ส.ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบปะประชาชน, ร้อยละ 8.69 สัมผัสได้ว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในสภามีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อประชาชน และร้อยละ 8.30 เห็นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพในการทำงานเพื่อประชาชน

นั่นหมายความว่าภาพลักษณ์ของ ส.ส.โดยรวมออกไปทางเสียหายยับเยินในความรู้สึกของประชาชน

มีบ้างเล็กน้อยเท่านั้นที่มองเห็นในมุมบวก

ผลที่เกิดเช่นนี้

เหตุหนึ่งแม้จะประเมินได้ว่ามาจากการบีบคั้นกดดันของผู้ต้องการทำลายศรัทธาของนักการเมืองจากการเลือกตั้งให้จมอยู่กับความไร้สำนึกเพื่อส่วนรวม

แต่อีกเหตุหนึ่งคือ ล้วนแล้วแต่ทำตัวเองด้วยขาดจิตสำนึกที่จะปกป้องรักษาภาพลักษณ์เพื่อฟื้นฟูศรัทธาประชาชน

ทั้งที่รู้กันอยู่เต็มอกว่า โครงสร้างอำนาจของประเทศตามกติกาใหม่ นักการเมืองจากการเลือกตั้งถูกกันออกไปให้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของกลไกอำนาจ

ขณะที่ส่วนใหญ่ถูกควบกุมด้วยกลไกที่ไม่ได้ส่วนยึดโยงกับประชาชน

แต่ทั้งๆ ที่รู้นั้น นักการเมืองจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยังถูลู่ถูกังลดที่จะขอส่วนแบ่งในอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีประชาชนผู้ให้ความไว้วางใจ

มีความพยายามจะหาเหตุผลสารพัด เพื่อปกป้องตัวเองจากข้อกล่าวหาตระบัดสัตย์กับประชาชน

ทว่าที่สุดแล้วเหตุผลที่ได้แต่กล่าวอ้าง ก็ล้มล้างพฤติกรรมที่สะท้อนสำนึกที่แท้จริงไม่ได้

ขณะที่พูดอย่างหนึ่งคือออกไปในทางประกาศตัวว่าทำเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่ออำนาจของประชาชน แต่พฤติกรรมกลับไปอีกทาง คือจับจ้องแสวงหาอำนาจในตำแหน่งที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตัวเองที่สุด โดยลืมไปว่าควรละอายกับสายตาประชาชนที่มองอยู่อย่างสิ้นหวัง

ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตย

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามช่วยให้ไทยเราหลุดพ้นจากขุมข่ายของอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

แต่นักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามานั่นเอง กลับกระทำตนอย่างขาดสำนึกต่อภารกิจของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

ซึ่งสภาวะเช่นนี้ ก่อความรู้สึกน่าเศร้า และสิ้นหวัง