สุรชาติ บำรุงสุข | บทเรียน2500 : ไม่มีอัศวินม้าขาว มีแต่เลือกตั้งสกปรกและสืบทอดอำนาจ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ผลของการเลือกตั้ง [ในปี 2500] เป็นไปตามความคาดหมาย แม้จะฝืนความรู้สึกของประชาชนก็ตาม…ผลของการวางแผนที่เต็มไปด้วยทุจริตคดโกง ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และพรรคพวกชื่นชมยินดีไปได้ไม่กี่ชั่วโมง สถานการณ์อันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น และนำไปสู่จุดจบที่เลวร้ายของผู้ทรงอำนาจในขณะนั้น”

ประจวบ อัมพะเศวต

การเลือกตั้งในปี 2562 ที่จบลงแล้วนั้น ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่แตกต่างกับการเลือกตั้งในปี 2500

กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงมีความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเห็นถึงความพยายามที่ต้องการอยู่ในอำนาจของรัฐบาลทั้งสองไม่แตกต่างกัน

เพราะผู้นำหลังรัฐประหารอยากอยู่ในอำนาจเสมอ

ดังนั้น บทความนี้จึงอยากชวนให้กลับไปเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อีกครั้ง

เลือกตั้งสกปรก 2500

ในอดีตนั้น นิสิตชั้นปีที่ 1 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต้องเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทย ซึ่งเป็นการให้นิสิตเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยหนึ่งในหัวข้อที่ต้องเรียนคือการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 และถูกสอนว่าเป็นการเลือกตั้งที่โกงอย่างชัดเจนจนไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

และถูกยกขึ้นมาว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็น “ตราบาป” ที่สำคัญของการเมืองไทย

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 เป็นที่รับรู้กันว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในฐานะเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค

ดังนั้น พรรคนี้จึงพยายามทุกอย่างที่จะเอาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้

และด้วยความเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคจึงมีความได้เปรียบทุกด้าน และยังใช้วิธีการข่มขู่คุกคาม โดยอาศัยกลุ่มคนที่มี “แหนบตราไก่” อันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพล ป. เสียบติดกระเป๋าเสื้อทุกคน เพื่อบ่งบอกว่าเป็นคนของพรรครัฐบาล หรือเป็นหัวคะแนนของพรรค และหากทำผิดแล้ว ตำรวจมักจะเมินเสีย

ในสายตาของสื่อมวลชน “การเลือกตั้งครั้งนี้จึงโกลาหลอลหม่านอย่างที่สุด”

และถูกบรรยายต่อว่าเป็น “การเลือกตั้งมหาประลัย ซึ่งเต็มไปด้วยความโกลาหล วุ่นวายแทบทุกหน่วยทั้งในพระนครและต่างจังหวัด

การเอาชนะด้วยวิธีการร้อยแปดตามคำสั่งของจอมอัศวินเผ่า ทำให้มีเสียงโจษจันกันทั่วไป การเวียนเทียนลงคะแนน มีไพ่ไฟใส่หีบไว้เรียบร้อย หรือไม่ก็ส่งบัตรกาหมายเลขฝ่ายรัฐบาลให้ผู้ลงคะแนนใส่หีบได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปกาหรือปิดบัตรให้ลำบาก” (ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543)… การโกงการเลือกตั้งเกิดอย่างเห็นได้ชัด

ผลจากการใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้ผลการเลือกตั้งตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคาม การนับคะแนนที่ยืดเยื้อและไม่โปร่งใส ตลอดจนการเปลี่ยนหีบบัตร การใช้พลร่มไพ่ไฟสารพัด ได้ทำให้เกิดการคัดค้านการเลือกตั้งกันอย่างกว้างขวาง

ได้นำมาซึ่งการคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง และตามมาด้วยการที่นิสิตนักศึกษาเปิดการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ แต่จอมพล ป. ได้ชี้แจงว่า “ความไม่เรียบร้อยที่เกิดขึ้น เพราะถูกคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซง”

กระแสการคัดค้านการเลือกตั้งครั้งนี้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว แล้วนิสิตนักศึกษาได้เริ่มเปิดการประท้วงขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การลดธงลงครึ่งเสาหน้าหอประชุมใหญ่เป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่

และในการปราศรัยที่จุฬาฯ ได้เรียกการเลือกตั้งเช่นนี้ว่า “การเลือกตั้งสกปรก” และกลายเป็นสมญาที่ถูกนำมาใช้เรียกการเลือกตั้งครั้งนั้นมาจนปัจจุบัน

สถานการณ์ยกระดับ

เมื่อขบวนนิสิตนักศึกษาเคลื่อนออกจากจุฬาฯ ไปยังกระทรวงมหาดไทย และได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมสมทบด้วย

และกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และเปิดการเลือกตั้งใหม่โดยมีนิสิตนักศึกษาเป็นกรรมการการเลือกตั้งและเป็นกรรมการในหน่วยเลือกตั้ง

และทั้งยังเรียกร้องให้สอบสวนลงโทษผู้กระทำความผิดในการเลือกตั้งโดยด่วน

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว และแจ้งว่าได้ส่งข้อเรียกร้องไปให้แก่รัฐบาล โดยไม่ได้คิดว่าการกล่าวเช่นนั้นจะทำให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล มากกว่าที่จะรอฟังคำตอบ พร้อมกับเสียงตะโกนว่า “ไปทำเนียบ! พวกเราไปทำเนียบ!”

และยิ่งเคลื่อนขบวน ก็ยิ่งมีประชาชนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมสมทบ

รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธ และอาวุธหนักคือรถถัง ปิดเส้นทางไปทำเนียบที่สะพานผ่านฟ้า

แต่เมื่อเผชิญกับขบวนของผู้ประท้วง ผู้บังคับบัญชาการฝ่ายทหารคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับประกาศด้วยเสียงที่ชัดเจนว่า “ทหาร-ตำรวจทุกคนหยุด อย่าทำร้ายประชาชน… เปิดทางให้ประชาชนผ่านไปได้”

แล้วกลุ่มนิสิตนักศึกษาประชาชนก็เคลื่อนเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ผู้ประท้วงมีจำนวนมากจนประตูทำเนียบที่แม้จะถูกปิดไว้ก็ไม่อาจทานแรงดันของฝูงชนและพังลง ตำรวจและทหารรักษาการณ์จึงได้แต่เพียงยืนดู

แต่สุดท้ายกลุ่มผู้ประท้วงยอมนั่งลงฟังการชี้แจงของจอมพล ป.

การชี้แจงของรัฐบาลไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ชุมนุมแต่อย่างใด จอมพล ป. กลับท้าให้ไปพิสูจน์การโกงการเลือกตั้งในศาล

ดังนั้น จึงมีแต่เสียงโห่ไล่รัฐบาล และขณะเดียวกันก็มีเสียงเชียร์จอมพลสฤษดิ์ดังสนั่นอยู่ตลอดเวลา

“ไชโย ไชโย จอมพลสฤษดิ์ จงเจริญ!”

เสียงเชียร์ที่ดังกึกก้องทำเนียบรัฐบาลเช่นนี้บอกอย่างชัดเจนว่า ในสายตาของมวลชนผู้ประท้วงแล้ว จอมพลสฤษดิ์กำลังเป็น “อัศวินม้าขาว” ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความสกปรกที่รัฐบาลจอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่าได้สร้างขึ้น

สถานการณ์มาถึงจุดสุกงอมเต็มที่เมื่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมพลังกันได้มากขึ้น พร้อมกับการสนับสนุนของประชาชนในวงกว้าง

และที่สำคัญ กลุ่มเหล่านี้ไหลไปยืนอยู่กับฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ และพวกเขามองว่าจอมพล ป. เป็นศัตรูของประชาธิปไตย… เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย… ไม่มีใครยอมรับรัฐบาล

สภาวะของปัญหาชุดนี้ในที่สุดแล้วได้ยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่าง “พิบูล vs สฤษดิ์” และสำทับด้วยปัญหาในระนาบเดิมที่เป็นเรื่องระหว่าง “สฤษดิ์ vs เผ่า”

พร้อมกับมีปัญหาทับซ้อนในเชิงสถาบันของความขัดแย้งระหว่าง “ตำรวจ vs ทหาร” แทรกอยู่ด้วย

ความขัดแย้งเช่นนี้เป็นปัญหาระหว่างผู้นำที่มีอำนาจในการควบคุมกองกำลังติดอาวุธของแต่ละฝ่าย ซึ่งพอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า เมื่อปัญหาเดินเกินกว่าที่ความเป็นเพื่อนและเป็นผู้ร่วมก่อการในปี 2490 แล้ว ปัญหาเช่นนี้จบลงได้เพียงประการเดียวคือ อำนาจจะอยู่ในมือของ “สฤษดิ์” หรือ “เผ่า” เท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งปันอำนาจ

การเมืองมาถึงจุดแตกหัก

แต่จอมพลสฤษดิ์ก็ตัดสินใจเล่นละครการเมืองชุดใหญ่ด้วยการส่ง “สุนัข” ให้แก่จอมพล ป. เป็นของขวัญวันเกิดในเดือนกรกฎาคม 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่มีต่อจอมพล

โดยจอมพลสฤษดิ์แถลงว่า เขานับถือจอมพล ป. เหมือนเจ้านายผู้มีพระคุณ และจะไม่วัดรอยเท้าเป็นอันขาด

และต่อมายังได้ส่งจดหมายสำทับว่า เขาจะไม่คิดร้ายต่อจอมพล ป. เป็นอันขาด ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็น “สัตว์เดรัจฉาน”

…แล้วจอมพล ป. ก็เชื่อว่าจอมพลสฤษดิ์ยังซื่อสัตย์กับตนอยู่ และโดยนัยก็คือจอมพลสฤษดิ์จะไม่ทำรัฐประหารล้มตนเอง

แต่ขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์พร้อมกับสามทหารเสือในขณะนั้นคือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร พล.ท.ประภาส จารุเสถียร และ พล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล เพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อจอมพล ป.

แล้วการเมืองได้เดินมาถึงจุดแตกหักในเดือนกันยายน เมื่อคณะนายทหาร 58 นายจากกองทัพบกลงชื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก

แต่ พล.ต.อ.เผ่าเสนอให้จับนายทหารเหล่านี้ทั้งหมดในข้อหา “กบฏ”

แต่จอมพล ป. ไม่เห็นด้วย (ไม่กล้า!) พร้อมกันนี้เวทีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงก็เริ่มขึ้นอีก

ผู้ประท้วงจำนวนมากกว่าหมื่นคนเรียกร้องขับไล่จอมพล ป. และให้จับ พล.ต.อ.เผ่ามาแขวนคอในข้อหาใช้ “อำนาจเถื่อน” ทำให้การเลือกตั้งสกปรก

และใช้ “อำนาจเผด็จการ” ในการสังหารและอุ้มฆ่านักการเมืองและประชาชนฝ่ายตรงข้าม… เสียงต่อต้านรัฐบาลดังทั่วสนามหลวง

แล้วบรรดาผู้ประท้วงทั้งหลายได้รวมตัวกันเดินไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ที่เป็นบ้านพักของผู้บังคับบัญชาการทหารบกในขณะนั้น พร้อมกับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพล ป. ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 20 กันยายน

เมื่อไม่พบจอมพลสฤษดิ์ที่บ้าน ผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล

ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้ประท้วงยังคงยืนยันให้จอมพล ป. ลาออก ให้จับ พล.ต.อ.เผ่าแขวนคอ และให้จอมพลสฤษดิ์ใช้อาวุธขับไล่รัฐบาล

ว่าที่จริงแล้วข้อเรียกร้องเช่นนี้ก็คือ ให้จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารนั่นเอง และมีความหวังว่า จอมพลสฤษดิ์คือ “อัศวินม้าขาว” ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้คงเหลือปัญหาแต่เพียงประการเดียวที่ต้องตัดสินด้วย “ระบบความเชื่อของไทย” คือผู้ที่ทำหน้าที่ “โหรใหญ่” ประจำตัวผู้บัญชาการทหารบกจะวางฤกษ์ของการยึดอำนาจเวลาใด

และคำตอบที่ชัดเจนจากท่านโหราจารย์คือ “จะต้องลงมือตอนเที่ยงคืน”

ในเวลา 24:00 น. ของวันที่ 16 กันยายน กำลังทหารบกพร้อมอาวุธครบมือจากกองพลทหารราบที่ 1 ได้เคลื่อนเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ พร้อมทำการปิดล้อมและตรวจยึดอาวุธของฝ่ายตำรวจของ พล.ต.อ.เผ่าทั้งที่วังปารุสกวันและที่กองปราบฯ สามยอด

กำลังรบของฝ่ายก่อการได้ควบคุมรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ และอาจต้องถือเป็นรัฐประหารใหญ่ครั้งที่สองหลังจากรัฐประหารครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2490

และผู้นำทหารจะเป็น “อัศวินม้าขาว” ได้จริงหรือไม่

รัฐประหารซ้ำ!

จอมพลสฤษดิ์จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นหลังการรัฐประหาร โดยช่วงแรกได้ขอให้นายพจน์ สารสิน เลขาธิการซีโต้ (SEATO) เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อลดแรงกดดันจากโลกตะวันตก

ต่อมาก็จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี พล.ท.ถนอมเป็นนายกฯ (หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันจึงเลื่อนยศเป็นพลเอก)

แต่ไม่ว่าจะรัฐบาลพจน์หรือรัฐบาลถนอมก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน ผู้นำทหารไม่เคยคุมสภาได้ และขณะเดียวกันก็ทนต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ได้ แม้จะปรับคณะรัฐมนตรีของถนอม 2 แต่ก็เป็นเพียงการประวิงเวลาว่าความอดทนของจอมพลสฤษดิ์จะจบลงเมื่อใด

ในที่สุดแผนก็ถูกกำหนดขึ้นว่า เมื่อ พล.อ.ถนอมลาออกในวันที่ 20 ตุลาคม แล้ว “ข้าพเจ้า (หมายถึงจอมพลสฤษดิ์) จะนำกำลังเข้ายึดอำนาจการบริหาร…”

และในค่ำวันเดียวกันนี้รัฐประหารก็เกิดขึ้นอีกครั้ง มีการอ้างว่าการยึดอำนาจเกิดจาก “สถานการณ์ทั้งภายนอกภายในรัดรึงตึงเครียดยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคอมมิวนิสต์ได้คุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง ไม่สามารถที่จะแก้โดยวิธีอื่น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้โดยวิธีใด นอกจากยึดอำนาจ…”

อัศวินม้าขาวกลับมาอีกครั้ง และการยึดอำนาจในปี 2501 เป็น “รัฐประหารซ้ำ” เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบอบทหาร

ระบอบพันทางจากรัฐประหาร 2500 จนถึงรัฐประหาร 2501 คือความพยายามในการใช้กลไกรัฐสภาบางส่วนเพื่อช่วยให้ผู้นำทหารมีอำนาจหลังจากการรัฐประหารนั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐบาลเช่นนี้คือการออกแบบระบอบใหม่เพื่อให้ระบอบรัฐประหารและคณะทหารยังสามารถสืบทอดอำนาจต่อได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญในอีกด้าน ความหวังว่าจอมพลสฤษดิ์จะเป็น “อัศวินม้าขาว” ในการเมืองไทยก็ไม่เป็นจริง รัฐบาลทหารชุดนี้คือ การสถาปนาระบอบอำนาจนิยมที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งในการเมืองไทย

และเป็นผู้นำทหารที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ย้อนอดีต-มองปัจจุบัน

การเลือกตั้งในปี 2562 มีปัญหาต่างๆ มากมาย และมีวิธีที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสแตกต่างกันไปตามยุคสมัย

และปัญหาความผิดปกติเช่นนี้มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางทั้งในสื่อกระแสหลักและในโลกโซเชียล

แต่ก็น่าสนใจว่าไม่มีการประท้วงใหญ่เกิดเช่นในครั้งนั้น… คนไม่ออก (หรือไม่อยากออก) มาบนท้องถนน

เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ผู้นำทหารรอดพ้นจากสถานการณ์ในแบบปี 2500 และเปิดโอกาสให้พรรคของผู้นำทหารปัจจุบันสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในอนาคต แต่ประวัติศาสตร์ตอบชัดว่า รัฐบาลที่เกิดจากการสืบทอดอำนาจนั้นมักอายุสั้น และคนที่จะทนปัญหาในสภาไม่ได้ ก็คือตัวผู้นำทหารนั่นเอง

แต่ทั้งหมดนี้ก็คือราคาของการสืบทอดอำนาจที่ต้องจ่าย และผู้นำทหารต้องเป็นผู้จ่าย… เมื่ออยากอยู่ในอำนาจ ก็ต้องจ่าย

และต้องเรียนรู้ว่า ผู้นำทหารอาจจะคุมกองทัพได้

แต่ไม่เคยคุมสภาได้เลย!