สุจิตต์ วงษ์เทศ/ สวดคฤหัสถ์ มีต้นตอจากทำขวัญ

สวดคฤหัสถ์คณะนายเครือ นาฏประเสริฐ ตัวตุ๊ยกำลังออกท่า ที่สังคีตศาลา กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2495 (ภาพจากหนังสือการละเล่นของไทย โดย มนตรี ตราโมท กรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2497)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สวดคฤหัสถ์

มีต้นตอจากทำขวัญ

 

ลิเกมาจาก “ดิเกร์” สวดแขกของมลายู แล้วประสมกลมกลืนเข้ากับสวดคฤหัสถ์ของไทย และเลียนแบบละคร (ทั้งของชาวบ้านและของหลวง)

สวดคฤหัสถ์ มาจากไหน?

สวดคฤหัสถ์มีคำอธิบายกระแสหลัก โดยสรุปว่าเป็นการแสดงหรือการละเล่นสืบต่อเปลี่ยนแปลงหรือเลียนแบบเอาอย่างจากสวดพระอภิธรรมของพระภิกษุ โดยผู้สวดคฤหัสถ์ทุกคนถือ “ตาลิปัตร” มีตั้งตู้พระธรรมไว้ข้างหน้า บทขึ้นต้นใช้พระธรรมที่พระภิกษุสวด แล้วเรียกการแสดงว่า “สวด” ตามแบบพระสงฆ์

[สรุปจากเรื่อง “สวดคฤหัสถ์” ในหนังสือ การละเล่นของไทย โดย มนตรี ตราโมท (กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2497) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2540 หน้า 111-116]

เมื่อทบทวนหลักฐานความเป็นมาทั้งหมดแล้วกลับพบตรงข้าม ว่าการละเล่นสนุกสนานงานศพเป็นกิจกรรมในศาสนาผีที่ทำมานานนับพันปีแล้ว ของกลุ่มคนบนภาคพื้นอุษาคเนย์ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย โดยไม่เรียกสวดคฤหัสถ์ แต่เรียกพิธีเกี่ยวกับขวัญ (เช่น เรียกขวัญ, ส่งขวัญ)

ครั้นหลังรับพุทธศาสนาต่างพากันปรับการละเล่นแบบดั้งเดิมในงานศพของชาวบ้านให้เป็นพุทธ แล้วบรรดาพระสงฆ์เรียกสวดพระมาลัย ต่อมาเปลี่ยนเป็นสวดพระอภิธรรม (มีในกฎพระสงฆ์ สมัย ร.1)

ที่สำคัญคือการสวดพระอภิธรรมในงานศพของพระสงฆ์ไม่พบในประเพณีอินเดีย, ลังกา ก็เท่ากับสวดพระมาลัย, สวดพระอภิธรรมมีต้นตอจากทำขวัญงานศพซึ่งชาวบ้านทำสืบต่อกันหลายพันปีมาแล้ว

 

สวดคฤหัสถ์มีต้นตอจากเรื่อง “ขวัญ”

 

สวดคฤหัสถ์ตามหลักฐานทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่พบทั้งอุษาคเนย์และในไทย ควรมีต้นตอหรือรากเหง้าจากการละเล่นในศาสนาผี ตามพิธีกรรมหลังความตายหลายพันปีมาแล้วเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องขวัญ ว่าคนตาย แต่ขวัญไม่ตาย จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญคืนร่าง แล้วส่งขวัญสู่โลกหลังความตาย (ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า)

เรียกขวัญส่งขวัญคนตาย ได้แก่ ฟ้อนเต้นเล่นระบำ, ดีดสีตีเป่า, ร้องรำทำเพลง, ตีเกราะเคาะไม้ ฯลฯ เล่นว่าเพลงโต้ตอบแก้กันอึกทึกครึกโครมสัปดี้สีปดนสนุกสนานสุดเหวี่ยง (เป็นต้นตอการแสดงมหรสพงานศพจนทุกวันนี้)

ส่วนกลุ่มคนลุ่มน้ำโขงในภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท สมัยหลังเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่า “งันเฮือนดี” มีการละเล่นเล่านิทานอ่านเป็นทำนองในหนังสือผูกหรือใบลาน (เรียกทำนอง “อ่านหนังสือ”) หนังสือเล่มสำคัญคือท้าวฮุ่งท้าวเจือง เป็นต้น

[“งันเฮือนดี” หมายถึง งานฉลองมีสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสบคบงันอึกทึกครึกโครม (มโหสบคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง) งัน หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่ ฯลฯ เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรื่อนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย (มีอธิบายอีกมากในหนังสือ งานศพยุคแรกอุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2560)]

 

สวดพระมาลัย

 

หลังติดต่อค้าขายกับอินเดีย กระทั่งรับความเชื่อเรื่องวิญญาณและประเพณีเผาศพที่มากับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คนในภาคพื้นนี้จึงปรับการละเล่นในงานศพ หรือ “งันเฮือนดี” เข้ากับประเพณีพิธีกรรมที่รับเข้ามาใหม่จากอินเดีย

พระสงฆ์รับแบบแผนเล่านิทานอ่านหนังสือ ปรับเป็นสวดพระมาลัย มีแพร่หลายแล้วในรัฐอยุธยา พบหลักฐานในจดหมายเหตุลาลูแบร์บันทึกว่าพระภิกษุสวดทุกคืนด้วยมนต์เกี่ยวกับความตาย พร้อมกับบอกทางสวรรค์แก่ผู้ตาย (สันต์ ท. โกมลบุตร แปล สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 546)

[พระมาลัยเป็นวรรณกรรมภาษาบาลี แต่งโดยภิกษุพม่าและอาจเป็นเมืองเชียงใหม่ก็ได้ ใช้ฉากจำลองลังกาทวีป สมัยก่อนเคยใช้สวดพิธีแต่งงาน ครั้นสมัยต่อมาสวดงานศพ มีเนื้อหาโดยย่อว่าพระมาลัยเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย เกิดในโรหนชนบทของลังกาทวีป มีฤทธิ์มาก ได้ลงโปรดสัตว์ในนรก บรรดาสัตว์นรกขอให้พระมาลัยบอกญาติพี่น้องทำทานแผ่ส่วนบุญกุศลส่งไปให้ พระมาลัยจึงได้นำข่าวไปบอก แล้วเทศน์สั่งสอนมนุษย์ให้ทำบุญทำทาน และกระทำแต่กรรมดีเพื่อหลีกพ้นจากการตกนรก]

สวดพระมาลัยของภิกษุในรัฐอยุธยาและก่อนอยุธยา เป็นอย่างไร? ทำนองแบบไหน? ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่คาดว่าน่าจะอย่างเดียวกับสวดมหาชาติ คือภาษาบาลีวรรคหนึ่ง แล้วสวดแปลเป็นภาษาไทยสลับกัน (โดยเล่นเสียงโหยหวนและลูกคอทำนองเดียวกับเทศน์มหาชาติ)

สุดยอดของพระสงฆ์สวดพระมาลัยในงานศพอยู่ที่ลำสวด เมื่อสวดพระมาลัยจบแล้วต่อท้ายด้วยลำสวดออกภาษาต่างๆ ได้แก่ แขก, จีน, ญวน, มอญ, ฝรั่ง เป็นต้น บางทีร้องปรบไก่เหมือนคฤหัสถ์เล่นเพลงอย่างโลดโผน

แต่ลำสวดสนุกล้นเกิน กระทั่ง ร.1 (หลังปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์) โปรดให้ตรากฎพระสงฆ์ (พ.ศ.2325) ห้ามพระสงฆ์ตีวงร้องปรบไก่และลำสวดออกภาษา แล้วห้ามเจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์สวดพระมาลัยเป็นสวดลำทำนองตลกคะนอง แต่ให้นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมด้วยทำนองปกติ

 

สวดพระอภิธรรม

 

สมัยหลังๆ พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมโดยเลือกบทสวดในพุทธศาสนามาสวดด้วยทำนองลีลาในภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ลุ่มน้ำโขง (ซึ่งมีเนื้อหาไม่เกี่ยวกับความตายและงานศพ)

สวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ไม่พบในงานศพของอินเดีย, ลังกา และชุมชนอื่นๆ ที่นับถือพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน

[อภิธรรม หมายถึง ธรรมะชั้นสูง ยิ่งใหญ่ มี 7 คัมภีร์ เรียก “อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์” มีความเล่าว่าเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดาตลอดพรรษาบนดาวดึงส์เทวโลก ซึ่งไม่เกี่ยวกับความตาย แต่ไทยกำหนดใช้สวดงานศพ]

 

ชาวบ้านสวดคฤหัสถ์

 

ชาวบ้านที่เคยเล่นลำต่างๆ ใน “งันเฮือนดี” เช่น ลำสวดพระมาลัยเลียนแบบพระสงฆ์ ก็ปรับเข้ากับความเชื่อใหม่ตามแบบพระสงฆ์สวดพระมาลัย แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า “สวดคฤหัสถ์” [คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน, ชาวบ้าน]

ลำ หมายถึง ทำนองใช้ขับหรือร้องเป็นเพลงอย่างหนึ่ง บางทีใช้เรียกบทโคลงกลอนก็ได้ ต้นตอเป็นคำลาว (ลุ่มน้ำโขง) มีหลายประเภท ได้แก่ ลำกลอน (หมายถึงลำทำนองสั้นๆ เช่น ลำเดินดง, ลำชมนก, ลำชมไม้), ลำพื้น (หมายถึง ลำเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมา), ลำเกี้ยว, ลำชิงชู้, ลำเต้ย เป็นต้น

คำไทย (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีในการเล่นสักวา ได้แก่ ลำพระทอง, ลำแขกลพบุรี, ลำลา เป็นต้น เรียกเพลงในสวดคฤหัสถ์ว่า ลำสวด ส่วนละครพูดที่แทรกเพลงร้อง มักเรียกละครพูดสลับลำ (ไม่ใช่รำ) และการละเล่นอย่างหนึ่งมีกลองรำมะนาประโคมรับแบบมลายูก็เรียกว่าลำตัด (หมายถึงขับลำแล้วรับด้วยร้องเพลงตัด)

คำว่า ลำ เคยมีใช้ในราชสำนักกรุงเทพฯ (สมัย ร.5 พ.ศ.2453) ในบทร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เถา) ชั้นเดียว พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (เจ้าของวังบางขุนพรหม) ว่า “ขับลำบรรเลงเป็นเพลงเถา เพลงมอญเก่าแสนเสนาะเพราะนักหนา”