หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ตลิ่งสูง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกกก - เป็นนกเงือกขนาดใหญ่ พวกมันมีหน้าที่ปลูกป่า และทำหน้าที่นี้อย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ตลิ่งสูง’

 

ปลายฤดูแล้ง พ.ศ 2562

ขึ้น 14 ค่ำ

21:25 นาฬิกา

…ผมยืนมองไปทางทิศเหนือ มองลำห้วยที่ด้านข้าง หาดทรายขยายเป็นแนวกว้าง สายน้ำสะท้อนแสงจันทร์นวล

เนิ่นนานมาแล้วที่นี่เคยมีคนอาศัยอยู่ มีชื่อว่า บ้านตลิ่งสูง

ถึงวันนี้ ที่นี่หลังคนโยกย้ายออกไป บริเวณที่เคยเป็นไร่ พื้นที่ฟื้นกลับคืน

หลายปีที่ผ่านมา ที่นี่มีอาคารเล็กๆ เปิดโล่ง คนทำงานในป่าใช้เป็นที่พักตอนเดินลาดตระเวน

ถึงวันนี้ ที่นี่เป็นหน่วยพิทักษ์ป่า มีบ้านพักและสำนักงาน รวมทั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ช่วงเวลาที่ผมร่วมทำงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เราใช้ที่นี่เป็นที่พัก บางครั้งนานนับเดือน

เสียงกวางส่งเสียง ผมนึกถึงคำพูดที่นึกถึงบ่อย เวลาที่กลับมาที่ลำห้วยสายนี้

“เพราะพวกเราอาบน้ำในลำห้วยนี้แหละครับ” นิคม ลูกชายน้าหมุด เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งทำงานอยู่ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำมาตั้งแต่เริ่ม พูด

เขาหมายถึง เราจึงไปไหนไม่พ้น ไปไหนต่อไหน ไกลแสนไกล ก็ต้องกลับมาที่นี่

น้าหมุดจากไปแล้ว

นิคมยังทำงานอยู่ในเขานางรำ บ้านใต้ถุนสูง อันเป็นที่พักของครอบครัวน้าหมุด ที่มีถาวรที่เป็นลูกเขย นิคมกับครอบครัวอยู่อาศัย ทุกครั้งที่ผมเดินไปสำนักงาน หรือไปโรงครัว ต้องผ่านบ้านนี้

ใต้ถุนเป็นคล้ายที่ชุมนุม โดยเฉพาะตอนเย็นในวันที่เราไม่ได้ไปค้างแรมในป่า

บ้านหลังนี้ถูกรื้อออก ปรับพื้นที่เป็นที่โล่งๆ…

ย้อนกลับมาที่เคยอยู่และพบกับหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

ดูเหมือนคือเรื่องธรรมดา

 

ก่อนที่จะมีอาคารสะดวกสบาย ที่นี่ก็เป็นแคมป์อันสะดวกสบาย ข้อเสียเพียงอย่างเดียว คือต้องเดินลงไปลำห้วยที่สูง ตลิ่งค่อนข้างชัน อาบน้ำเสร็จ เดินกลับขึ้นมา เหงื่อออกอีกครั้ง

เวลาทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง แต่ที่ไม่เปลี่ยนเลยคือ ความสูงชันของตลิ่ง ยังเป็นเช่นเดิม

ปีนี้ป่าถูกความแห้งแล้งครอบคลุมยาวนาน ฝนเพิ่งเริ่ม ระหว่างทางเราผ่านขอนไม้ล้ม ควันไฟคุกรุ่น

กลางวันอุณหภูมิสูงร่วม 40 องศาเซลเชียส และลดต่ำลงเหลือแค่ 10 กว่าองศาช่วงกลางคืน

หลังไฟป่าผ่านพ้น เส้นทางได้รับการปรับปรุงราบเรียบ นกยูงเดินเหยาะข้างทาง

ในช่วงที่ผมตามหานกยูงในช่วงแรกๆ นั้น ต้องเดินไปตามลำห้วย เฝ้ารอตามหาดที่มีร่องรอยการรำแพน

จากที่เคยเป็นสัตว์มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ถึงวันนี้ นกยูงคล้ายเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายดาย

เช่นเดียวกับวัวแดง รวมถึงเหล่าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ

การปกป้องดูแลแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างจริงจัง ได้ผลเห็นเป็นภาพอันชัดเจน

 

กลางเดือนมกราคม พ.ศ 2559

ผมเข้ามาที่นี่ เป็นปีที่ความแห้งแล้งยาวนานเช่นกัน

ทุกครั้งที่ยืนมองลำห้วยสายนี้ ผมนึกถึงคำพูดของนิคม

อาจจริงอย่างที่เขาว่า ผมต้องย้อนกลับมาที่นี่เสมอ

กลับมาที่ป่า ซึ่งได้รับการยอมรับถึงความสำคัญ ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งหนึ่งของโลก

ป่าซึ่งผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร ทำให้เป็นที่รู้จักเช่นนี้

ป่าที่เป็นแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ของสัตว์ป่า

และก็เหมือนกับป่าแห่งอื่นๆ เสียงปืนยังไม่หมดสิ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายคนบาดเจ็บเพราะการปะทะกับคนล่าสัตว์

บางคนบาดเจ็บเพราะถูกกระทิงวิ่งเข้าชน สัตว์ป่าหลายตัวเครียด หงุดหงิดกับผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาทำกิจกรรมในป่า เก็บเห็ด, หน่อไม้ ตามฤดูกาล มีการใช้ปะทัดเพื่อให้เกิดเสียงดังไล่สัตว์

สัตว์หลายตัวถูกทำร้ายบาดเจ็บ พวกมันจำ

และเมื่อ “เอาคืน” สัตว์ไม่เลือกว่าเป็นใคร

 

ดวงจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ กลมโต ทอแสงนวล ลำห้วยคดโค้ง เพราะอาบน้ำในลำห้วยสายนี้ ทำให้ผมวนเวียนอยู่กับป่าผืนนี้

ยืนอยู่บริเวณที่เคยเป็นบ้าน ซึ่งชื่อว่า “ตลิ่งสูง”

มองสายน้ำใต้แสงจันทร์นวล

สายน้ำพัดไหลไม่ย้อนกลับ

แต่สายน้ำก็ไม่ได้พัดพาเรื่องราวและความทรงจำให้จากไปไหน

 

หมายเหตุ

ขอแก้ไขคำบรรยายภาพ “หลังเลนส์ในดงลึก” เรื่อง “มืออาชีพ” ฉบับประจำวันที่ 14-20 มิถุนายน พ.ศ.2562

แก้ไข “นกชนหิน”

ที่ถูกต้อง เป็น “นกเงือกหัวแรด”

ขออภัยในความผิดพลาดครับ…