ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /ROCKETMAN

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

ROCKETMAN

‘เอลตัน จอห์น’

 

กำกับการแสดง Dexter Fletcher

นำแสดง Taron Egerton Jamie Bell Richard Madden Bryce Dallas Howard

 

คงไม่มีใครในโลกที่ไม่รู้จักเซอร์เอลตัน จอห์น ผู้มีสีสันสะดุดตา และทำให้ผู้คนเหลียวมองทุกครั้งเมื่อปรากฏตัวด้วยเครื่องแต่งกายหลุดโลก

เขาเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลงและนักเปียโนฝีมือเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งที่เคยมี และก้าวเข้าสู่โลกดนตรีในยุคร็อกเอนโรลล์ ต่อจากเอลวิส เพรสลีย์ และเดอะบีตเทิลส์

ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เขาดังระเบิด มีเพลงฮิตติดอันดับกว่า 40 อัลบั้ม แผ่นเสียงขายได้ทั่วโลกกว่า 300 ล้านแผ่น

สร้างมหาอาณาจักรแห่งความร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองและชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นคนดังระดับแนวหน้า จนได้รับบรรดาศักดิ์อัศวิน มีคำนำหน้าชื่อว่า “เซอร์” ตามที่ราชวงศ์อังกฤษมอบให้แก่บุคคลที่รับใช้ประเทศชาติด้วยการสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณไปทั่วโลก

ถึงเวลาเสียทีที่จะมีหนังประวัติชีวิตของเขาให้คนได้รู้จักตัวตนของเขา นอกจากที่รู้จักภาพลักษณ์ทางดนตรีและทางสังคม

แถมยังเป็นไบโอพิกที่เจ้าของชีวประวัติเองนั่งเก้าอี้เป็นผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งแปลว่ารายละเอียดของเรื่องราวต้องผ่านการเห็นชอบมาแล้ว

ผู้กำกับฯ เด็กซ์เตอร์ เฟลตเชอร์ มีผลงานที่รับหน้าที่ผู้กำกับฯ ต่อจากไบรอัน ซิงเกอร์ ในหนังเกี่ยวกับนักร้องยอดฮิตจากอังกฤษอีกคน คือ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ แห่งวงควีน ซึ่งได้รับชื่อเสียงเกียรติยศไปเต็มๆ เมื่อปีที่ผ่านมา คือหนังเรื่อง Bohemian Rhapsody

 

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน คือ Rocketman นำเสนอในแบบของมิวสิเคิล โดยให้ตัวละครในฉากระเบิดความในใจออกมาเป็นเสียงเพลงเป็นช่วงๆ

และทารอน เอเกอร์ตัน ผู้รับบทเอลตัน จอห์น ใช้เสียงของตัวเองร้องและตีความ ไม่ใช่ลิปซิงก์

ว่ากันว่า เอลตัน จอห์น แนะนำให้เขาใช้ความเป็นตัวของตัวเองเต็มในบทบาทที่สวมอยู่อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพยายามทำเลียนแบบต้นตำรับเดิม

และเอเกอร์ตันก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมชวนตะลึงตะไล

โดยเฉพาะในฉากสำคัญๆ ที่ทำให้ขนลุกและน้ำตารื้นขึ้นมา

หนังเดินเรื่องโดยเริ่มจากการที่เอลตัน จอห์น เดินอาดๆ เข้าประตูผ่านทางเดินยาว ในชุดรัดรูปสีแดงเพลิงเลื่อมพรายระยิบระยับ พร้อมปีกสองข้างที่ขยับตัวสยายบินได้ ศีรษะมีเขาสองข้าง แถมสวมแว่นตารูปหัวใจประดับเพชร ด้วยรูปลักษณ์ของซาตานแบบที่เราเห็นในภาพวาดโบราณที่ปรากฏบนเวทีละคร

เขานั่งลงบนเก้าอี้ที่ล้อมเป็นวงในห้องที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการประชุมกลุ่ม พร้อมทั้งเริ่มแนะนำตัวเองว่า “ผมชื่อ เอลตัน เฮอร์คิวลีส จอห์น ผมเป็นคนติดสุราเรื้อรัง ติดโคเคน ติดเซ็กซ์ เป็นโรคบูลิเมีย (หมกหมุ่นกับน้ำหนักตัวจนเกินเหตุ ทำให้กินอย่างสวาปามและล้วงคอให้อาเจียนออกมาหมด) เป็นโรคบ้าช้อปปิ้ง และยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมความโกรธ…”

นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในชีวิตของเอลตัน จอห์น ซึ่งเป็นชื่อที่เขาตั้งให้ตัวเองสำหรับโลกมายา โดยขอยืมมาจากชื่อของนักดนตรีร่วมวง และจอห์น เลนนอน ซึ่งโด่งดังอยู่ก่อนหน้าเขา

(ตามข้อมูล นามสกุลของเอลตัน จอห์น จริงๆ แล้วไม่ได้ได้มาจากจอห์น เลนนอน)

 

หนังพาเรากลับไปสู่วัยเด็กของเด็กชาย เรจินัลด์ ดไวต์ (แมตทิว อิลเลสซีย์ ซึ่งหน้าตาละม้ายแม้นเรจจี้ ดไวต์ ตัวจริงอย่างเหลือเชื่อในภาพถ่ายตอนเล่นเปียโนที่นำมาเทียบให้ดูในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง) ในครอบครัวชนชั้นล่างที่กำลังแตกแยก พ่อไปทางแม่ไปทาง ทำให้เรจจี้กลายเป็นเด็กขาดความรักความอบอุ่นอย่างแรง ซึ่งเป็นที่มาของเพลง I Want Love ซึ่งจริงๆ แล้วเอลตัน จอห์น แต่งใน ค.ศ. 2001

เรจจี้มีพรสวรรค์ทางดนตรีตั้งแต่เด็ก และยาย (เจ็มมา โจนส์) เป็นคนเดียวที่สนับสนุนเขาด้วยการพาไปสมัครรับทุนจาก “รอยัล อคาเดมี ออฟ มิวสิก”

ความสามารถเยี่ยมยอดในการเล่นเปียโน ได้รับการนำเสนอแบบสั้นๆ แต่ได้ใจความโดนเป้าเป๊ะ ในฉากที่เด็กชายเรจจี้เดินเข้าไปในห้องที่ครูเปียโนผู้หญิงนั่งเล่นเพลงอยู่ก่อนจะชะงักกลางคันเมื่อเห็นเรจจี้เดินเข้าไปหา ครูถามว่าไม่ได้เตรียมโน้ตเพลงมาเล่นให้ฟังด้วยหรือ เขาตอบว่าไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมมาด้วย และลงมือเล่นให้ฟังโดยไม่มีโน้ต เป็นเพลงเดียวกับที่ครูเพิ่งเล่นไป และหยุดชะงักกลางคัน เมื่อครูถามว่าหยุดทำไม เขาก็ตอบว่า ก็ครูเล่นมาถึงแค่นี้เองนี่

เป็นฉากที่เราไม่รู้หรอกว่าเกิดขึ้นจริงๆ แบบนั้นหรือเปล่า แต่เมื่อใส่เข้ามาก็เล่าเรื่องได้ชัดเจนอย่างที่สุดว่าเด็กชายเรจจี้มีพรสวรรค์ด้านดนตรีแค่ไหน

 

หนังเป็นเรื่องของเอลตัน จอห์น ผู้ซึ่งมีปัญหาขาดความรักความอบอุ่นตั้งแต่วัยเด็ก แล้วเมื่อเริ่มก้าวขึ้นสู่ชื่อเสียงและความร่ำรวย ก็รู้สึกว่าไม่มีใครรักตัวเขาที่ตัวเขาเอง ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่จะได้จากเขา รวมทั้งความขัดแย้งในใจในเรื่องเพศสภาพของตัวเขา

จากเด็กขี้อายตามที่ใครๆ บอก เอลตันเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่สายตาของสาธารณชนด้วยภาพลักษณ์ที่ซ่อนตัวตนไว้เบื้องหลังความฉูดฉาดสุดโต่งและแว่นตารูปทรงสะดุดตานับร้อยคู่ที่เขาใช้สวมขึ้นเวที

รับรองว่าผู้ที่ชื่นชอบเสียงเพลงจะได้รับความสนุกสนานเบิกบานใจเป็นที่สุดกับหนังเรื่องนี้

หนังยังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเอลตันกับเบอร์นี่ ทอปิน (เจมี่ เบลล์) ผู้แต่งเนื้อร้องร่วมกับเขามาตั้งแต่ต้น และเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนที่สุดในชีวิตของเขา โดยไม่ได้มีความรักความปรารถนาทางเพศเข้ามาเจือปน

เบอร์นี่ยังคงรักษาความรักฉันพี่น้องไว้โดยตลอด

เพลงแรกๆ ที่แต่งร่วมกันคือ Your Song ซึ่งเราคุ้นหูมาก โดยเฉพาะในท่อนที่ร้องว่า “I hope you don’t mind/ I hope you don’t mind/That I put down in words/ How wonderful life is while you’re in the world” ช่วงที่เอลตันเล่นเพลงนี้ที่เปียโนจนเรียกคนทั้งบ้านให้เดินมาออกันฟัง และทำให้เบอร์นี่ออกจากห้องเหมือนถูกสะกด ผู้เขียนก็ถูกสะกดเหมือนกันค่ะ รู้สึกเหมือนที่เอลตันรู้สึกว่าความอ้างว้างหายไปเมื่อมี “เธอ” อยู่ในโลก

ในช่วงที่เอลตันไปเล่นในอเมริกาครั้งแรกที่คลับชื่อ ทรูบาดูร์ เขาตื่นเต้นมากก่อนขึ้นเวที และเมื่อเริ่มเล่นและระเบิดออกมาเป็นเพลง Crocodile Rock อันเร้าใจเข้าไปถึงขุมขน เป็นตอนที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของหนังที่ตัดสินใจจะนำเสนอแบบแฟนตาซี โดยเท้าของเอลตันลอยขึ้นจากพื้น มีเพียงนิ้วเท่านั้นที่ยังเล่นเปียโนอยู่ และคนฟังในที่นั้นก็เริ่มลอยขึ้นจากพื้นด้วย

มีเพลงคุ้นหูหลายเพลงที่คัดมาเล่าเรื่องได้อย่างดี เช่น Goodbye Yellow Brick Road ซึ่งใช้ในช่วงที่เอลตันประสบความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงในช่วงที่ผิดใจกับเบอร์นี่ และเบอร์นี่กำลังเดินจากชีวิตเขาไป

 

 

เพลงที่เป็นจุดศูนย์กลางเรื่อง คือ Rocketman ซึ่งเป็นชื่อของหนังด้วย ในช่วงที่เอลตันกำลังมีปัญหารุมเร้าและตัดสินใจจะจบชีวิตตัวเอง เป็นช่วงที่มีภาพสวยงามของการจมดิ่งลงสู่ก้นสระ ณ ที่ซึ่งเขาพบตัวเองในขณะเป็นเด็กสวมหมวกรูปกลมใสเหมือนนักบินอวกาศนั่งเล่นเปียโนอยู่ก้นสระ ก่อนที่เขาจะพุ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเหมือนจรวด และพยายามหาทางกลับสู่โลก

“And I think it’s gonna be a long, long, time / ‘Til touchdown brings me’ round again to find / I’m not the man they think I am at home / Oh, no no no / I’m a rocket man/Rocket man / Burnin’ out his fuse / Up there alone”

มีอีกหลายเพลงที่ให้ความหมายกับเรื่องมาก อย่างเช่น Sorry Seems to be the Hardest Word สำหรับการให้อภัยผู้คนที่เรารู้สึกว่าทำร้ายเราในอดีต และท้ายที่สุดก็คือ I’m Still Standing หลังจากที่เอลตันฝ่าฟันผ่านเมฆหมอกในชีวิตของตัวเอง ปลดปล่อยตัวเองจากปีศาจในใจตัวเองหมดแล้ว

แต่เขาก็ยังแอบสารภาพเล็กๆ ว่า ยังมีปีศาจของช้อปปิ้งอยู่ในตัวเขาจนถึงปัจจุบัน

นั่นคือเขาเป็นคนบ้าช้อปปิ้งมาแต่ไหนแต่ไรและยังเลิกไม่ได้

 

ดูหนังจบด้วยความชื่นบาน ก่อนจะลุกกลับบ้านยังมีในช่วงเครดิตตอนจบ ซึ่งเล่นเพลงเด็ดๆ ของเอลตันให้ฟังอีก เช่น Don’t Go Breaking My Heart เลยชวนให้นึกอยากดูหนังอีกสักเรื่องที่รวบรวมเพลงฮิตทั้งหมดของเอลตัน จอห์นไว้ อาทิ That’s What Friends are for, Candle in the Wind เป็นต้น

ขอชื่นชมศิลปินเพลงยอดเยี่ยมคนนี้ที่แบ่งปันเรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิตของตัวเองออกมาให้โลกรู้ โดยไม่ได้ต้องการเพียงการประกาศศักดาในความยิ่งใหญ่ของตน…ก็ไม่รู้จะประกาศไปทำไม

ในเมื่อเสียงเพลงของเขาเป็นที่ประจักษ์แก่ใจคนทั้งโลกอยู่แล้ว