เพ็ญสุภา สุขคตะ : อินทิรา คานธี ดรุณีชีวิต ณ สวิตเซอร์แลนด์

น้อยคนนักที่จักทราบว่า “อินทิรา คานธี” (1917-1984) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอินเดีย เคยผ่านชีวิตในช่วงวัยดรุณ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาแล้วถึง 2 ช่วง

ครั้งแรกปี ค.ศ.1936 และครั้งที่สองปี 1940

ทั้งสองช่วงนี้ถือเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ก้าวสำคัญของชีวิตเธอเลยก็ว่าได้

เพราะช่วงแรกเธอต้องสูญเสียมารดา

และช่วงที่สองเธออยู่ในห้วงวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกำลังคุกรุ่น กอปรกับความขัดแย้งในใจระหว่างการเรียนรู้แนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับลัทธิฟาสซิสต์ที่แข่งขันกันเบ่งบานทั่วยุโรป

เรามารู้จักกับอีกเสี้ยวชีวิตที่น่าสนใจของสาวน้อย “อินทุ” (หรือ อินดู้ – Indu ชื่อเล่นของเธอ) ในวัย 18 และ 22 กันดูสักหน่อยว่า จิตวิญญาณของความเป็น “สวิส” ได้หล่อหลอมอะไรให้แก่สตรีเหล็กผู้นี้บ้าง

 

ดอกไม้เหนือหลุมศพ
ลาก่อน “กมลา”

การเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ของอินทิรา คานธี มีขึ้นในช่วงปลายปี 1935 เริ่มจากการที่มารดาของเธอ “กมลา” ป่วยหนักเป็นวัณโรค

ดังที่ทราบกันดีว่าราว 100-50 ปีที่ผ่านมา หากชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะในประเทศใดๆ ก็ตาม ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือทางเดินหายใจ สถานที่แห่งเดียวที่ขึ้นชื่อว่าจะช่วยเยียวยาโรคร้ายนี้ให้หายขาดหรือทุเลาลงได้ไม่น้อย มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นคือ สวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากมีอากาศที่บริสุทธิ์

ดังเช่นกรณีของ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ที่ทรงเลือกเดินทางไปรักษาพระองค์ที่เมืองโลซานน์ในปี 1926 ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

อาการป่วยของ “กมลา” ศรีภริยาของ “มหาบัณฑิต ชวาหะร์ลาล เนห์รู” (รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรกในช่วงที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) ก็เช่นกัน เมื่อไม่สามารถรักษาอาการได้ที่บ้านพักตากอากาศแถวเชิงเขาหิมาลัย เนห์รูจึงตัดสินใจส่งเธอ พร้อมด้วยแม่นมของกมลา และอินทิรา ธิดาสาวเพียงคนเดียวของเขาเดินทางไปยังยุโรป

ก่อนกมลาจะพักที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นการถาวรชั่วนิจนิรันดร์ เนห์รูได้สรรหาเมืองต่างๆ ที่มีบ่อน้ำแร่หรือน้ำพุร้อนให้กมลารักษาตัวมาแล้วมากมายหลายเมือง อาทิ ปราก (สาธารณรัฐเช็ก) เวียนนา (ออสเตรีย) บาเดนวีเลอร์ (เยอรมนี) สุดท้ายมาจบลงที่โลซานน์

ในระหว่างที่เนห์รูส่งตัวกมลาเข้ารับการรักษาอาการที่โรงพยาบาลต่างๆ ของหลายประเทศในยุโรปนั้น ตัวเขาเองก็มีคดีความที่ต้องรีบกลับไปชำระสะสางและรับโทษที่อินเดียเป็นระยะๆ

ในขณะเดียวกัน ลึกๆ แล้วเขาก็ไม่อยากให้อินทิราเสียการเรียน จึงส่งเธอมาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de Pelouse (เอกอล นูแวล เดอ เปอลูส) ที่เมืองแบกซ์ (Bex) ล่วงหน้าก่อนที่กมลาและเขาจะเดินทางมาถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้วตั้งแต่ปลายปี 1935 ฉะนั้น บางช่วงบางเวลากมลาจะต้องอยู่กับแม่นมในยุโรปเพียงสองคน

เมืองแบกซ์ตั้งอยู่ใกล้พรมแดนสวิส-ฝรั่งเศส-อิตาลี ในแคว้นโวด์ (Vaud) ซึ่งมีโลซานน์เป็นเมืองหลวง โรงเรียนเปอลูสสอนระดับชั้นมัธยมด้วยหลักสูตรสมัยใหม่ เน้นการเรียนรู้ภาษาสากล 2 ภาษาขึ้นไป ทำให้เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ 1 ปีเศษที่อินทิราอาศัยในเมืองแบกซ์ เธอสามารถพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาเลียนได้เป็นอย่างดี (ส่วนภาษาอังกฤษนั้นเธอมีพื้นฐานดีเยี่ยมมาตั้งแต่อยู่ที่ประเทศอินเดียแล้ว)

มรสุมชีวิตลูกใหญ่โถมกระหน่ำสาวน้อยในวัย 18 ด้วยการที่เนห์รูต้องถูกจองจำในคุกแบบเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกเป็นว่าเล่น ตลอดช่วง ค.ศ.1935-1936 เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ทรมานทางใจให้แก่กมลา เมื่อเนห์รูออกจากคุกเขารีบย้ายกมลาจากบาเดนมาอยู่ที่โลซานน์ ใกล้เมือง Bex ที่ส่งอินทิรามาเรียน

สำหรับกมลา แม้นสุขภาพทางกายจักค่อยๆ ดีขึ้นมากเมื่อได้มาอยู่ในประเทศที่มีอากาศดีเยี่ยมและมีความเป็นเลิศด้านการแพทย์

แต่สุขภาพทางจิตนั้นเล่ากลับย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ด้วยความเวทนาในชะตากรรมของสวามี

ต้นปี 1936 เป็นห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันพ่อแม่ลูก ในที่สุดกมลาได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1936

เนห์รูเองก็ยังอีนุงตุงนังกับการบริหารจัดการปัญหาภายในประเทศต้องรีบกลับอินเดียแบบรีบด่วน หลังจากที่วางดอกไม้บนหลุมศพของกมลา ณ สุสานเมืองมงเทรอซ์ (Montreux)

ทิ้งให้อินทิราผู้ไกลพ่อและกำพร้าแม่ต้องกัดฟันเรียนหนังสือต่อให้จบหลักสูตรมัธยมปลายในประเทศที่แม่เสียชีวิตอย่างเดียวดาย ปลายปี 1936 เนห์รูขอให้อินทิราเดินทางกลับอินเดีย

เพื่อวางแผนศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“เราต้องเรียนรู้ความเป็นบริติช ประเทศเจ้าอาณานิคมที่มาปกครองเรา ว่าอะไรทำให้พวกเขามีทัศนคติต่อชาวเอเชียเช่นนี้”

เป็นอีกครั้งที่อินทิรามิได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาด้วยตนเอง ไม่ต่างจากการที่บิดาเคยส่งเธอมายังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้มารอดูแลมารดาครั้งก่อน ก็เป็นการเลือกทางเดินชีวิตให้โดยเนห์รู

ลึกๆ แล้วหัวใจของอินทิรามีแต่ความผูกพันถวิลหาแต่โรงเรียนในฝัน “ศานตินิเกตัน” ของมหากวี “รพินทรนาถ ฐากูร” อยู่อย่างมิรู้เสื่อมคลาย

เธอสารภาพว่า หากชะตากรรมไม่ผลักให้เธอกระโจนเข้ามาสืบสานภารกิจด้านการเมืองต่อจากบิดา เธอเชื่อว่าเธอน่าจะเป็นนักเขียน กวี นักร้อง หรือไม่ก็ช่างฟ้อนนาฏศิลป์ที่มีความสุขในวิถีของศิลปินอย่างที่สุด

ทุกวันนี้ ร่างที่ไร้วิญญาณของกมลา เนห์รู ยังคงสถิตอย่างศานติ ณ สุสานเมืองมงเทรอซ์ ซึ่งอีกเกือบ 50 ปีต่อมา อินทิรา คานธี ได้มีโอกาสหวนกลับมาวางบุปผามาลาคารวะหลุมศพมารดาผู้จากไปก่อนวัยอันควรเพียง 36 ปีนี้อีกครั้ง

 

โปรดอย่าซ้ำรอยมารดา

ปี1940 ไม่น่าเชื่อจริงๆ ที่จู่ๆ อินทิราก็น้ำหนักลดลงฮวบฮาบ ซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกเพียง 38 กิโล ทั้งๆ ที่แขนขายาวและสูงโปร่ง

เกิดอะไรขึ้นกับสาวน้อยวัย 22 เล่า?

หลังจากที่เธอกลับคืนมาตุภูมิในปี 1937 แล้ว ปี 1938 เนห์รูได้ส่งเธอไปศึกษาที่ Bristol โรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ค.ศ.1938-1939 เพียงแค่ 2 ปีในสหราชอาณาจักร อินทิราเต็มไปด้วยความเครียดวิตกกังวลในวิชาที่เธอเรียน

แถมเคราะห์ร้ายไข้รุม เธอป่วยเป็นวัณโรคซ้ำรอยกับกมลาอีกราย

สิ่งเดียวที่ช่วยชุบชูจิตใจเธอได้ในระหว่างนั้นก็คือการได้พบรักกับ “เฟโรช” เพื่อนนักศึกษาชาวอินเดีย ผู้มีนามสกุลว่า “คานธี”

(แต่เดิมนั้นไม่ได้สะกดว่า Gandhi อีกทั้งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในสายตระกูลกับท่านมหาตมะ คานธี แต่ภายหลังกลับใช้ตัวสะกดเหมือนกัน)

เมื่อเนห์รูรู้ว่าลูกสาวป่วยปางตาย แต่ก็ไม่อาจเดินทางไปเยี่ยมได้

ด้วยแบกหามภารกิจประเทศอินเดียช่วงเปลี่ยนผ่านไว้อย่างหนักหน่วง

สลับกับการถูกจับเข้าคุกเป็นระยะๆ

สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือการประสานเพื่อนที่เป็นแพทย์ในสวิตเซอร์แลนด์ให้ช่วยดูแล “อินดู้” แทน

อินทิราต้องลาจากเฟโรชเพื่อเดินทางมารักษาตัวยังสวิตเซอร์แลนด์ เธอเห็นแต่เงาของมารดาอยู่ข้างๆ เธอฝันถึงแต่ความตาย จดหมายทุกฉบับที่เธอเขียนถึงบิดาเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ผู้อ่านลองคิดดูว่าหัวอกของเนห์รูนั้นต้องร้าวรานเพิ่มขึ้นอีกกี่เท่าตัว

ชีวิตตัวเองก็แทบจะเอาไม่รอด ซ้ำยังต้องทำใจให้เข้มแข้งคอยปลอบประโลมลูกสาวที่มีอาการหวาดผวาด้วยล้มป่วยเป็นโรคเดียวกันกับมารดาที่รักษาไม่หาย โดยที่เนห์รูไม่อาจอยู่เคียงข้างหล่อน

กลับมาสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนธันวาคม 1939 คราวนี้ จุดประสงค์ของอินทิรามิใช่เพื่อมาเรียนที่ Ecole Nouvelle de Pelouse ดุจเดิม แต่มาในฐานะคนไข้ภายใต้การดูแลของคุณหมอออกุสต์ โรลิเยร์ (Dr. Auguste Rollier) ซึ่งเปิดคลินิกรักษาวัณโรคที่ย่านเลย์แซ็ง (Leysin) เมืองแอกเกลอ (Aigle) อยู่ในแคว้นโวด์เช่นเดียวกัน แต่ไกลจากเมืองแบกซ์พอสมควร

เลย์แซ็งเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยบ้านพักตากอากาศของชาวต่างชาติที่นิยมมาเล่นสกีในฤดูหนาว จากห้องพักรักษาตัวของเธอ อินทิราสามารถมองเห็นวิวที่ไกลสุดลูกลูกตาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้คือ ยอดเขาแมทเทอร์ฮอร์น (ภูเขายอดแหลมโง้งเหมือนเขาสัตว์) ลิบลับ ส่วนทิวทัศน์ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เธอมองเห็นน้ำในทะเลสาบเลมอง (Lac Leman) กระเพื่อมพรายเป็นจังหวะ

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งที่เนห์รูต้องรีบส่งตัวอินทิรามายังสวิตเซอร์แลนด์เป็นการด่วน หนุนเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น (ระหว่าง 1939-1945) ประเทศต่างๆ แทบทั้งหมดถูกแบ่งฝักแยกฝ่าย ไม่สัมพันธมิตรก็อักษะ ยกเว้นเพียงประเทศเดียวคือสวิตเซอร์แลนด์ที่ประกาศตัวเป็นกลางไม่เลือกข้าง

ถึงแม้นวิวที่เลย์แซ็งจะงดงามเพียงไร อากาศจะพิสุทธิ์ใสปานใด และคุณหมอโรลิเยร์ก็เก่งยิ่งกว่าหมอคนเดิมที่เคยรักษาคุณแม่กมลาแค่ไหนก็ตาม แต่หัวใจของอินทิราก็มิอาจทุเลาความคิดถึงเฟโรชที่ยังอยู่ในอังกฤษ มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า อินทิราในวัย 22 ต้องต่อสู้กับสงครามอย่างหนักหน่วง

ภายนอกคือสงครามโลก แต่ภายในคือสงครามแห่งความรัก ทั้งต้องต่อสู้กับสุขภาพ ไหนจะความเป็นห่วงบิดาพร้อมกับพลเมืองชาวอินเดีย เธอหวังและฝันที่จะต้องรีบกลับมามีสุขภาพดีดังเดิม เพื่อจะได้โบยบินกลับไปหาหวานใจเฟโรช และศึกษาต่อที่ออกซ์ฟอร์ดให้สำเร็จ จักได้ไปช่วยเป็นแขนขาให้บิดา

จดหมายแต่ละฉบับที่เนห์รู (อินทิราเรียกบิดาว่า Papu ประมาณ ป่าปู๊ บ้านเรา) เขียนมาปลอบประโลมให้กำลังใจเธอต่อสู้โรคร้ายนั้น ล้วนแต่จ่าหน้าซองว่าเขียนในคุก อินดู้รู้ว่าป่าปู๊ทุกข์กว่าเธอหลายร้อยเท่า

ในขณะที่พ่อเล่าเรื่องการล้มลุกคลุกคลานของพรรคคองเกรสให้ลูกฟัง ลูกก็เล่าข่าวการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาชาวฝรั่งเศสในสวิตเซอร์แลนด์ให้พ่อฟัง ป่าปู๊เล่าเรื่องช่วงที่เขาเดินสายไฮด์ปาร์กปลุกระดมชาวอินเดียให้ลุกขึ้นสู้ก่อนถูกจับเข้าคุก อินดู้ก็เล่าเรื่องชาวอิตาเลียนหลายร้อยคนทะลักหนีมุสโสลินีเข้ามาหลบอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์

อินทิราใช้เวลารักษาวัณโรคในเมืองตากอากาศเลย์แซ็งนานกว่า 8 เดือน เธอฆ่าเวลาอันน่าเบื่อด้วยการอ่านหนังสือของตอลสตอย และมายาคอฟสกี้ รวมทั้งเขียนกวีนิพนธ์ไว้หลายร้อยบท

ก่อนเดินทางกลับอังกฤษ เธอได้แวะเยี่ยมโรงเรียนเก่าที่ Pelouse แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ โรงเรียนของเธอก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เหตุที่ผู้จัดการโรงเรียนเป็นมาดามชาวเยอรมันที่เช่าอาคารจากเจ้าของชาวฝรั่งเศส เจ้าของอาคารจึงส่งนายแบงก์มายึดกิจการคืนจนมาดามต้องเป็นบุคคลล้มละลาย

 

ข้ากลับมาเพื่อบอกพวกเจ้าด้วยวลีนี้

ในปี 1970 เมื่ออินทิรามีอายุ 53 ปี เธอเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียในช่วงปีท้ายๆ ของสมัยแรก เธอหวนกลับมาเยือนสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง

ทั้งเลย์แซ็ง เมืองที่เธอจมโศกด้วยโรคร้าย

ทั้งมงเทรอซ์ เพื่อที่จะนำดอกไม้ไปคารวะหลุมศพกมลา

และแน่นอนที่สุด เมืองแบกซ์ เมืองที่เธอเคยเรียนไฮสกูล

เธอมาคราวนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงผู้ทรงพลังของโลก โรงเรียนเปอลูสเปลี่ยนสภาพกลายเป็นโรงเรียนคาทอลิกรับผิดชอบโดยเหล่าซิสเตอร์ อินทิราได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาแก่เด็กนักเรียนในฐานะศิษย์เก่าเมื่อ 45 ปีก่อน

“ครั้งหนึ่งในชีวิตวัยดรุณของข้าพเจ้าแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ท่ามกลางความทุกข์ปางตายในขณะนั้น ครั้นถึงวันนี้เมื่อข้าพเจ้ามองย้อนกลับไป ความโศกาดูรด้วยการสูญเสียมารดาก็ดี หรือการป่วยเป็นวัณโรคก็ดี มิอาจเทียบได้แม้กึ่งก้อยกับปัญหาถาโถมบนสองบ่าที่ข้าพเจ้ากำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้เลย

ข้าพเจ้ามิเคยลืมสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่สะอาด สงบ ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนมีความสุข ข้าพเจ้าฝันมาตลอดว่าสักวันหนึ่ง จักได้เห็นประชากรชาวอินเดียดื่มน้ำประปาจากก๊อกสาธารณะได้ จะไม่เห็นชาวอินเดียถ่ายอุจจาระปัสสาวะกลางถนน จะไม่เห็นชาวอินเดียนอนริมทางเท้า จะไม่เห็นโจรเมื่อเราเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ จะไม่เห็นขอทานที่มีมากกว่าคนรวย…

ฝันของข้าพเจ้าคงไม่มีวันเป็นจริง ตราบที่ประชากรยังแตกแยกเรื่องชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิทางการเมือง”