คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : รู้จัก “เทพมณเฑียร” ห้าสิบปีผันผ่าน ของเทวสถานอินเดียใจกลางพระนคร

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คนไทยส่วนมากรู้จักวัดแขกสีลมในฐานะเทวสถานของชาวฮินดูมากกว่าที่อื่น ที่จริงแล้วยังมีอีกสองเทวสถานของชาวอินเดียที่สำคัญ คือเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ย่านเสาชิงช้า และวัดวิษณุ ฮินดูธรรมสภา แถบยานนาวา

อาจด้วยเพราะสองที่นั้นมิได้ตั้งอยู่ท่ามกลางย่านชุมชน และมิได้มีเทศกาลแห่แหนประจำปีอย่างวัดแขกสีลม

ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมานี้ เทพมณเฑียร หรือชื่อในภาษาสันสกฤตว่า เทวมณฺทิรฺ (มณเฑียร หมายถึงที่ประทับหรือปราสาท) มีอายุการก่อตั้งครบห้าสิบปี

ซึ่งทางเทพมณเฑียรได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่สมโภช เช่น มหายัชญะ การเทศน์สอน และกิจกรรมการกุศล

ผมจึงขอใช้พื้นที่บทความนี้แสดงความยินดีกับเทพมณเฑียรและคงมีเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้มาฝากกันครับ

 

ชาวอินเดียเข้ามาในบ้านเราเป็นช่วงๆ ระยะเวลาแรกตัวเลขกลมๆ คือราว พ.ศ.1000 ซึ่งมาจากอินเดียภาคใต้ ดังนั้น วัฒนธรรมความเชื่อจากอินเดียภาคใต้จะกลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณีของเราไปในที่สุด

ในช่วงอยุธยาสืบมาจนรัตนโกสินทร์ แม้การเดินทางของชาวอินเดียจะลดลงไป แต่ก็มีมาจากหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เช่น สุรัต พังคละ ฯลฯ มาถึงต้นรัตนโกสินทร์ พราหมณ์เดิมซึ่งมีบรรพบุรุษจากอินเดียใต้ได้กลายเป็นชาวสยามไปแล้ว ส่วนผู้มาใหม่ก็กลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ช่วงที่อินเดียตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ มีการอพยพโยกย้ายครั้งใหญ่อีกครา ชาวอินเดียเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาใช้แรงงานในฐานะคนในบังคับอังกฤษ และตั้งชุมชนกระจายกันออกไป จากนั้นเริ่มมีคนจากพื้นที่ใหม่ๆ เช่น อุตรประเทศและปัญจาบ เดินทางเข้ามาเพื่อการค้าขายมากขึ้น

วัดแขกสีลมเป็นศาสนสถานของชาวอินเดียที่ตั้งขึ้นก่อนที่อื่น อยู่ในชุมชนชาวอินเดียใต้และจีนบ่าบ๋า (ทั้งคู่เป็นคนในบังคับอังกฤษ) ต่อมาจึงเกิดมีศาสนสถานของชาวอินเดียภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากมาจากอุตรประเทศและปัญจาบ คือวัดวิษณุและเทพมณเฑียรของชาวอินเดียภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากมีพื้นที่การค้าและชุมชนอยู่ที่พาหุรัดและบ้านหม้อ

คนอินเดียก็เหมือนคนไทยนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะไปที่ไหน แม้จะเป็นคนอินเดียด้วยกันแต่ก็มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษาตามแต่ละภูมิภาค ดังนั้น จึงต้องการมีศาสนสถานที่สามารถมาชุมนุมพบปะกันได้ในภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน

นี่ก็คงเป็นเหตุผลเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่มีการตั้งเทวสถานของชาวอินเดียแยกกันออกไปด้วย

 

นอกจากนี้ ขนบประเพณีของเทวสถานก็ต่างกัน ในอินเดียภาคใต้กิจกรรมของเทวสถานเน้นพิธีกรรมที่ปฏิบัติต่อเทวรูปเป็นหลัก ส่วนในอินเดียภาคเหนือ ด้วยอิทธิพลของขบวนการภักติในยุคกลางทำให้กิจกรรมในเทวสถานนอกจากพิธีกรรมแล้ว ยังเป็นที่ “สัตสังฆ์” หรือการชุมนุม (สังฆะ คือ ชุมชน) เพื่อกิจกรรมสำคัญอีกสามอย่าง คือการเทศนาสั่งสอนและถกข้อธรรมต่างๆ โดยครูบาอาจารย์ การอ่านตัวบทคัมภีร์ต่างๆ เช่นรามจริตมานัส ภควัทคีตา ปุราณะ ฯลฯ และการชุมนุมขับเพลงสรรเสริญ (ภชันหรือสังกีรตัน) นอกจากนี้ ยังใช้จัดกิจกรรมของชุมชน เช่น งานรื่นเริง การประชุม พิธีแต่งงาน ฯลฯ

ที่จริงวัดหรือเทวสถานทางใต้ก็มีกิจกรรมเหล่านี้เช่นเดียวกัน แต่มากน้อยต่างออกไป ส่วนเทวสถานของชาวอินเดียเหนือในเมืองไทยนั้น มีลักษณะเป็น “สมาคม” ด้วย

ดังนั้น อาคารหลักจึงมิได้สร้างเป็นเทวสถานเพียงอย่างเดียว แต่ออกแบบให้เป็นอาคารอเนกประสงค์ เช่น มีห้องประชุมและโรงครัว และยังมีโรงเรียน “ภารตวิทยาลัย” อยู่ในสถานที่เดียวกันนี้

 

ส่วนที่เป็นเทวสถานอยู่บนชั้นที่สามของอาคารหลัก ประดิษฐานเทวรูปต่างๆ ใน “ครรภคฤหะ” ที่มีลักษณะเป็นเวที แบ่งออกเป็นห้องๆ เรียงรายกันไปสำหรับเทพแต่ละองค์หรือแต่ละคู่ โล่งโปร่งผิดกับรูปแบบตามประเพณีนิยมที่เป็นห้องทึบ พื้นที่ฟังธรรมด้านหน้านั้นตกแต่งปูพรมและมีเครื่องปรับอากาศอย่างดี

เทวรูปหินอ่อนที่สวยงามนี้ ทั้งหมดแกะสลักจากเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย ประกอบด้วยพระแม่ทุรคา พระรามและพระแม่สีดา พระหนุมาน พระนารายณ์และพระแม่ลักษมี พระคเณศ พระกฤษณะและพระแม่ราธา สตีรานี พระศิวะ นอกจากนี้ มีการจัดเทวาลัยภายในแยกออกเป็นอีกสองส่วน คือศิวาลัยที่ประดิษฐานศิวลึงค์จากแม่น้ำนรมทา และที่ประดิษฐานพระพรหม พระคายตรี ศังกราจารย์และพระเวทรวมกัน

เหตุว่าแท่นเทวรูป มีพระนารายณ์และพระลักษมีประดิษฐานอยู่ตรงกลางในตำแหน่งประธาน จึงมักมีผู้เข้าใจว่า เทพมณเฑียรเป็นวัดฮินดูสังกัด “ไวษณพนิกาย” หรือนิกายที่นับถือพระวิษณุ ที่จริงแล้วเทพมณเฑียรเป็นเทวาลัยฮินดูที่ไม่ได้เน้นการแบ่งแยกนิกาย

ดังจะเห็นมี “พระพุทธรูป” ประดิษฐานบนแท่นเดียวกับเทวรูปเช่นกัน

 

หากกล่าวอย่างเคร่งครัดต้องบอกว่า เทพมณเฑียรเป็นเทวสถานในนิกาย “สมารตะ” (ซึ่งไม่มีข้อมูลในแบบเรียนทางศาสนาอันพ้นสมัยของเรา) นิกายนี้เป็นนิกายสำคัญที่ส่งผลต่อแนวคิดฮินดูในปัจจุบัน ก่อตั้งโดยศังกราจารย์ หลักการของนิกายถือว่า เทพเจ้าทุกพระองค์ล้วนปรากฏมาจากความจริงหนึ่งเดียวที่เรียกว่า “พรหมัน” ดังนั้น ศาสนิกจะเลือกองค์ใดเป็นประธานก็ได้ ส่วนที่เหลือจะเป็นเทพแวดล้อม ดังนั้น จึงมีการจัดตั้งเทวรูปในลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ปัญจายตน” คือเลือกองค์กลาง แล้วที่เหลืออีกสี่องค์อยู่ในทิศต่างๆ รอบๆ

นอกจากเทวรูป ยังมีแผ่นหินอ่อนแกะสลักภาพของ “สันตะ” (Sant) หรือนักบุญองค์ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผู้ภักดีในขบวนการภักดียุคกลางของอินเดีย เช่น กพีรทาส รวิทาส สูรทาส มีราพาอี นรสีเมหตา ฯลฯ ผู้ทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาภาคประชาชนทางตอนเหนือและตะวันตกของอินเดีย

พิธีกรรมประจำวันมีการบูชาอารตีในเวลาเช้า จากนั้นชุมนุมอ่านคัมภีร์ เที่ยงถวายอาหารเทพและปิดเทวสถานตั้งแต่เวลาเที่ยงถึงบ่ายสามโมง เวลาค่ำมีบูชาอารตีอีกรอบแล้วปิดเทวสถาน

วันอาทิตย์เป็นวันชุมนุมประจำสัปดาห์ ผู้คนจะมามากเป็นพิเศษ เมื่อเสร็จอารตีในเวลาเที่ยงแล้ว จะมีเลี้ยงอาหารอินเดียมังสวิรัติตามประเพณีที่เรียกว่า ปรีติโภชัน (อาหารแห่งความยินดี) แก่ผู้มายังเทวสถานทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีพิธีบูชาและงานเทศกาลต่างๆ ตลอดทั้งปี

 

ที่จริงแม้วัดจะสถาปนาในปี พ.ศ.2512 แต่การชุมนุมของชาวฮินดู ซึ่งใช้สถานที่ชั่วคราวมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีบันทึกว่าในราวปี พ.ศ.2468 มีการตั้งฮินดูสภาและการประกอบกิจกรรมต่างๆ

ผมได้เคยฟังประวัติศาสตร์แบบมุขปาฐะจากผู้ใหญ่ว่า ก่อนจะมีเทพมณเฑียรในปัจจุบันนี้ แต่เดิมชาวสิกข์และชาวฮินดูซึ่งยังมีจำนวนไม่มากใช้ศาสนสถานร่วมกัน และเรียกสถานที่นั้นว่า “ฐากูรทวารา” ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์ใหม่ “ฐากูร” แปลว่า เทวดา ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าฮินดู ส่วนคำว่า ทวารา เป็นนามเรียกศาสนสถานของสิกข์ (คุรุทวารา) ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างแยกไปตั้งศาสนสถานของตนเอง

เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ชาวสิกข์และฮินดูยังไปมาหาสู่กันเสมอ ในเทพมณเฑียรเองมีภาพสลักของ คุรุนานักเทพพระศาสดาของสิกข์ประดิษฐานอยู่ด้วย เป็นเรื่องเล็กๆ ที่งดงามของการอยู่ร่วมกันในความต่าง

นอกจากนี้ ในสมัยก่อนยังมีการออกนิตยสาร “มณเฑียรทัศน์” คงด้วยความปรารถนาที่จะสร้างความเข้าใจต่อคนไทย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ น่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

 

ปัจจุบันนี้ แม้ภารกิจหลักของเทพมณเฑียร คือการให้ศาสนบริการด้านพิธีกรรมและคำสอนแก่ชุมชนชาวอินเดียในประเทศไทย กระนั้นศาสนิกชาวไทยก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งผู้สนใจในศาสนาและวัฒนธรรมอินเดียด้วย ซึ่งผู้บริหารสมาคมน่าจะลองพิจารณาดู

ผมเองเคยได้คุยกับกรรมการวัดท่านหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ท่านปรารภว่าอยากให้มีสัตสังฆ์ของคนไทยขึ้นมาบ้าง คนละเวลากันกับของชาวอินเดียก็ได้ ผู้มาวัดจะได้มีความรู้

ผมเห็นดีด้วยแต่ไอเดียนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ

 

ในวาระห้าสิบปีของเทพมณเฑียร นอกจากจะขอแสดงความยินดีในความเจริญก้าวหน้าอันยาวนานแล้ว หากทางสมาคมฮินดูสมาชจะได้สร้างสรรค์พันธกิจใหม่ คือการสร้างพื้นที่แหล่งความรู้สำหรับพี่น้องชาวไทยด้วยแล้ว ดังที่ได้เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ (ซึ่งเห็นว่าได้ดำเนินการอยู่) หรือสัตสังฆ์สำหรับคนไทย กิจกรรมบรรยายให้ความรู้ ชั้นเรียน หรือแม้แต่การสอนภาษาไทยสำหรับพราหมณ์และชาวอินเดีย เพื่อจะได้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก อย่างน่าอนุโมทนา

โดยเฉพาะในปัจจุบัน คนมีศรัทธาในฮินดูธรรมมากขึ้น แต่หาแหล่งความรู้ที่แท้จริงยาก จึงมีพวกหากินกับความทุกข์ผู้อื่น ฉกฉวยโอกาสนี้ หลอกเอาเงินเขา ชวนให้เขาเสียเงินเสียทองไปมากๆ อย่างน่าเสียดาย

หากเทพมณเฑียรเป็นที่เผยแพร่ความรู้อันดีงามถูกต้องแก่ชาวไทย เพราะพรั่งพร้อมด้วยครูบาอาจารย์ที่มีความรู้อย่างลึกและจริงแล้ว ก็จะเป็นเสาหลักแห่งวิทยาการฮินดูทั้งโลกิยะและโลกุตตระในบ้านเมืองนี้ได้

จะเป็นเทวสถานอันเจิดจำรัสด้วยแสงคือความรู้อันงามสง่า

ไปอีกร้อยปีพันปี