ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ผีเสื้อสมุทร ของสุนทรภู่ ได้แรงบันดาลใจมาจากทั้งรามายณะ และพงศาวดารลังกา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ตัวละครที่เป็นที่จดจำสำหรับใครหลายคนได้เป็นพิเศษตนหนึ่ง ในโลกของพระอภัยมณี ที่สุนทรภู่สร้างขึ้นมานั้นก็คือ “ผีเสื้อสมุทร”

แน่นอนว่า ผีเสื้อสมุทรของสุนทรภู่ ไม่ใช่แมลงแสนสวยที่บินไปมาอยู่ในสวนดอกไม้ แต่เป็นนางยักษ์ขนาดมหึมาแห่งมหาสมุทร ดังความที่สุนทรภู่ได้พรรณนาเอาไว้ตั้งแต่ตอนเปิดตัวผีเสื้อสมุทรไว้เลยว่า

 

“จะกล่าวถึงนางอสุรีผีเสื้อน้ำ อยู่ท้องถ้ำวังวนชลสาย

ได้เป็นใหญ่ในพวกปีศาจพราย สกนธ์กายใหญ่โตเท่าไอยรา”

 

และก็เป็นสุนทรภู่ที่บอกเอาไว้เองด้วยว่า เมื่อตอนที่พระอภัยมณีถูกผีเสื้อสมุทรลักพาตัวมานั้น ก็สลบหลับไปเพราะ

“พ่อทูนหัวกลัวน้องนี้มั่นคง ด้วยรูปทรงอัปลักษณ์เป็นยักษ์มาร”

 

ดังนั้น ผีเสื้อสมุทรก็คือ “ยักษ์” ที่มีรูปร่างใหญ่โต ตามอย่างที่เข้าใจกันนั้นถูกแล้ว

 

ดังนั้น ผีเสื้อเสมุทรของสุนทรภู่ ก็ย่อมต้องเป็น “ยักษ์” ตามอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปถูกต้องแล้ว แต่ทำไมสุนทรภู่จึงเรียกยักษ์ว่า “ผีเสื้อ”?

 

“ผีเสื้อ” (ที่ไม่ใช่แมลง) เพี้ยนมาจากคำว่า “ผีเชื้อ” และแปลตรงตัวว่า “ผีบรรพชน” (ไม่ว่าจะเป็นต้นตระกูลของใคร ก็ย่อมมีทั้งบุรุษและสตรี เราจึงไม่น่าจะให้เกียรติเฉพาะบรรพบุรุษใช่ไหมครับ?)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “พระเสื้อเมือง” ซึ่งประจำอยู่ในศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ และก็คงเพี้ยนมาจากคำคำเดียวกันคือ “พระเชื้อเมือง” หมายถึง “ผีบรรพชนของเมือง” หรือจะเรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเป็น “ผีปู่ตาของเมือง” หรือ “ผีแม่ย่านางเมือง” ก็คงจะไม่ผิดนัก

การที่สุนทรภู่เลือกที่จะใช้คำว่า “ผีเสื้อ” เพื่อใช้สำหรับเรียก “ยักษ์” จึงเป็นเรื่องที่แปลก เพราะผีเสื้อกับยักษ์นั้น ถึงจะเป็นอะไรที่หลุดออกมาในปรัมปราคติเหมือนกัน แต่มาจากคนละจักรวาลความคิดแต่ดั้งเดิมแน่

“ผีเสื้อ” นั้นเป็นผีบรรพชน ในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ และไม่มีในจักรวาลความคิดเชิงปรัมปราคติของอินเดีย หรือชมพูทวีป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณให้โทษข้างฝ่ายอินเดียนั้นคือ เทพเจ้าองค์ต่างๆ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ รวมไปถึงอีกสารพัดเทพ แต่ไม่ใช่ผีบรรพชนที่เคยมีชีวิตอยู่ แล้วตายไป

ส่วน “ยักษ์” นั้น เป็นอินเดียทั้งแท่งมาตั้งแต่ชื่อเรียก ซึ่งไทยเราก็ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต อีกทอดหนึ่งแล้วนะครับ

สารานุกรมเกี่ยวกับปรัมปราคติของพราหมณ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการผู้ศึกษาคติฮินดูไปทั่วทั้งโลกอย่าง Puranic Encyclopaedia ที่จัดทำขึ้นโดยปราชญ์ชาวแคว้นเคราละ ทางใต้ของอินเดียอย่างเวตตัม มานี (Vettam Mani, พ.ศ.2464-2530) ได้อธิบายว่า โดยทั่วไปแล้ว ยักษ์เป็นอุปเทพชนิดหนึ่ง (สวรรค์ของพราหมณ์ประกอบไปด้วยสิ่งที่อาศัยอยู่ในนั้น 3 ชนชั้น เรียงวรรณะสูง-ต่ำ ตามลำดับ ได้แก่ เทพ, คณะเทพ และอุปเทพ) โดยมี ท้าวกุเวร (หรือท้าวเวสสุวรรณ ผู้ปกครองทิศเหนือของสวรรค์ชั้นที่ 1 คือจาตุมหาราชิกา ในมติของพุทธศาสนา) เป็นหัวหน้าของหมู่ยักษ์ ดังปรากฏความอ้างอิงอยู่ในมหากาพย์ของพวกพราหมณ์อย่างมหาภารตะ

ส่วนภาพจำที่ชัดเจนของยักษ์ ที่คนไทยเรารู้จักกันอย่างทศกัณฐ์ (อินเดียเรียก ราวณะ หรือที่บางทีไทยเราก็เรียก ท้าวราพณ์) และวงศ์วานว่านเครือทั้งหลายอย่างที่ปรากฏในรามเกียรติ์ของไทย กลับไม่ใช่ “ยักษ์” แต่เป็นอะไรคล้ายๆ กันอย่างที่เรียกว่า “รากษส” มันเสียอย่างนั้น

 

“รากษส” นั้นหมายถึงพวกอมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงก็ดูไม่ต่างไปจากยักษ์เสียเท่าไหร่ แต่ดูจะดุร้ายกว่า ดังที่เวตตัม มานี ได้บอกไว้ในสารานุกรมเล่มเดิมว่า ในมหากาพย์รามายณะ ฉบับวาลมิกิ อ้างว่าพวกรากษสจะฆ่าไม่ตายในเวลากลางคืน ในอุตตรกัณฑ์ อันเป็นกัณฑ์สุดท้ายของรามายณะ ฉบับวาลมิกิ ซึ่งถูกผนวกเข้าไปภายหลัง

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพรหมเริ่มบริกรรมพระเวทในช่วงเริ่มต้นของกฤตยุค (ยุคแรกในยุคทั้ง 4 ตามคติพราหมณ์-ฮินดู อันประกอบไปด้วย กฤตยุค, ทวาปรยุค, ไตรดายุค และกลียุค ซึ่งผู้คนจะมีความดีค่อยๆ ลดถอยลงตามลำดับ) พระองค์ได้โหยหิวเป็นอย่างมาก จนทำให้อะไรบางอย่างไหลออกมาจากพระพักตร์ของพระองค์

อะไรบางอย่างที่ว่ามีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ “ความหิว” นั้นได้กลายมาเป็น “ยักษ์” ที่ชื่อว่า “ประเหติ” ส่วนประเภทที่สองคือ “ความโกรธ” ก็กลายมาเป็น “รากษส” ที่ชื่อว่า “เหติ” จากนั้นในขณะที่ยักษ์ประเหติประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม เหติ คือรากษส กลับกลายเป็นปีศาจ ที่ออกเข่นฆ่า และจับพวกพราหมณ์และวัวกินสดๆ

อย่าลืมนะครับว่า “วัว” เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์-ฮินดู ดังนั้น การที่อุตตรรามายณะ เจาะจงที่จะอ้างว่า พวกรากษสจับพราหมณ์ คือนักบวช และวัวไปกินสดๆ นั้น ก็แสดงถึงความโหดในระดับลากไส้ยิ่งกว่าพวกยักษ์ได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว พวกพราหมณ์เองก็ดูจะสับสนกับความแตกต่างระหว่าง “ยักษ์” กับ “รากษส” อยู่มาก และมักจะเล่าถึงอะไรที่แสดงถึงความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ระหว่างยักษ์และรากษสอยู่บ่อยครั้ง แต่แตกต่างกันไปในรายละเอียดต่างๆ

และตำนานที่สำคัญ เพราะควรจะเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ ฉบับที่ชำระขึ้นในรัชกาลที่ 1 ของไทย อันจะเป็นพื้นฐานทางความคิดให้กับสุนทรภู่นั้นก็คือ ตำนานเรื่องวงศ์ของ “ปุลสัตยะ”

 

“ปุลสัตยะ” นี้เป็น “ประชาบดี” คือผู้เกิดแต่พรหม โดยปุลสัตยะนั้นเกิดมาจากพระกรรณ คือหูของพระพรหม ในรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เรียกปุลสัตยะว่า “ท้าวจตุรพักตร์” ต่อมาปุลสัตยะมีลูกชื่อ “วิศราวัส” หรือบางทีก็เรียกว่า “เปาลัสตยะ” หรือที่รามเกียรติ์ฉบับเดิมเรียกว่า “ท้าวลัสเตียน”

และก็เป็น “วิศราวัส” คนนี้แหละครับที่สำคัญ เพราะเขามีชายาถึง 2 คน

คนหนึ่งคือ นางไทววรรณินี (รามเกียรติ์เรียก นางเทพวรรณี) เป็นแม่ของ “ท้าวกุเวร” (รามเกียรติ์เรียก “ท้าวกุเปรัน”) หรือ “ไวศรวัณ” ซึ่งก็คือราชาของพวกยักษ์

ส่วนชายาอีกคนคือ นางไกกาสี (รามเกียรติ์เรียก นางรัชฎา) เป็นแม่ของรากษสทั้ง 4 ได้แก่ ทศกัณฐ์, กุมภกรรณ, วิภิษณะ (รามเกียรติ์เรียก พิเภก) และนางศูรปณกขา (รามเกียรติ์เรียก สำมนักขา)

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า วงศ์ของยักษ์ในรามเกียรติ์ ซึ่งก็คือรามายณะฉบับไทยๆ นั้น จะมีทั้งยักษ์และรากษส (เช่น ท้าวสหัสเดชะ) เพียงแต่ว่า ในรามเกียรติ์ของไทยจับเอาพวก “รากษส” มากลายเป็น “ยักษ์” ไปเสียหมด ซึ่งก็คงจะเป็นมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 1 นานแล้ว ดังนั้น ใจความจึงผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับของอินเดีย แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 จะมีการชำระรามเกียรติ์ครั้งสำคัญก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ยังมีการชำระตำราอื่นๆ นอกเหนือจากรามเกียรติ์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไตรภูมิ จนเกิดเป็นหนังสือเรื่อง ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา หรือพงศาวดารของลังกาทวีปอย่าง “มหาวงศ์”

และก็เป็นหนังสือ “มหาวงศ์” นี่แหละที่มี “ยักษิณี” (คือยักษ์ผู้หญิง) เฝ้าเกาะลังกา ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาทวีป ที่อธิบายเอาไว้ในทำนองว่า เป็นยักษ์ที่สัมพันธ์อยู่กับมหาสมุทร ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 มีการแปลพงศาวดารลังกาฉบับนี้จะแปลคำว่า “ยักษิณี” เป็น “ผีเสื้อน้ำ”

ซึ่งก็น่าจะเป็นต้นเค้าที่กลายมาเป็น “ผีเสื้อสมุทร” ของสุนทรภู่

 

แต่แนวคิดเรื่องผีเสื้อน้ำ หรือผีเสื้อเมือง ที่เป็นผู้หญิงเฝ้าเกาะลังกานั้น คงจะเป็นความเชื่อแต่ดั้งเดิม และคงจะเป็นร่องรอยที่รู้กันดีนะครับ เพราะในรามายณะ ฉบับวาลมิกิ ก็มีผีเสื้อเมืองลังกาที่ชื่อ “ลังกินี” เพียงแค่นางคนนี้ถูกรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เรียกในชื่อ “นางอากาศตะไล” และเพิ่มบทบาทให้กลายเป็นนางยักษ์รูปร่างใหญ่โตปานภูเขา ซึ่งต่างไปจากรามายณะของอินเดีย

ถึงแม้ว่านางลังกินีในรามายณะฉบับวาลมิกิ จะไม่ได้ร่างกายใหญ่ แต่ก็ตัวไม่ใหญ่กว่าคนนัก เหมือนกับรากษสตนอื่นๆ ในเรื่อง แต่ที่จริงแล้ว ระหว่างทางข้ามจากผืนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะลังกานั้น ก็ยังมี “นางสุรสา” ซึ่งถูกพรรณนาว่าเป็นมารดาของหมู่นาคในทะเล ก็ได้ประลองปัญญากันว่าจะกินหนุมาน โดยได้เนรมิตตนเองจนสูงใหญ่เทียมฟ้า แต่หนุมานชนะด้วยการแปลงเป็นก้อนเมฆ เล็กเท่านิ้วมือ ลอยเข้าในปากนางสุรสาแล้วออกมาโดยไม่รู้ตัว จึงทำหนุมานชนะและให้ผ่านไปได้

เรื่องนี้ไม่มีในรามเกียรติ์ของไทย แต่คงเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างนางอากาศตะไลขึ้น แล้วไปปนกับเรื่องนางลังกินีที่เป็นผีเสื้อเมืองของเกาะไปเสียอย่างนั้น แต่ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นคงจะรู้จักเรื่องนี้แน่ เพราะมีภาพเขียนรูปหนุมานอยู่ในปากนางสุรสาที่กลางทะเล เขียนอยู่ที่ระเบียงคต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต

สุนทรภู่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางนักปราชญ์ ที่สอบทานเรื่องเหล่านี้ทั้งรามเกียรติ์ มหาวงศ์ และอื่นๆ อีกสารพัด แถมยังอาจจะเคยเดินทางไปเกาะลังกาตั้งแต่ยังหนุ่มเหน้า ก็ย่อมรู้จักตำนานเรื่องผีเสื้อเมืองลังกา และนางสุรสาเนรมิตร่างจนสูงใหญ่ ดังนั้น ถ้าสุนทรภู่จะเนรมิต “นางผีเสื้อสมุทร” ขึ้นมาจากประสบการณ์ และความรู้ต่างๆ เหล่านี้