จรัญ มะลูลีม : วัฒนธรรม-ชีวิตความเป็นอยู่ชาวอาหรับก่อนอิสลาม

จรัญ มะลูลีม

ชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลาม (จบ)

วรรณกรรมอาหรับมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับกาฮิน และคำพูดของพวกเขา คำพูดเหล่านี้มักจะเป็นร้อยแก้วที่มีจังหวะจะโคน

มีความน่าสนใจในเนื้อหาและท่วงทำนองประกอบด้วยประโยคสั้นๆ สองสามประโยค ซึ่งจบลงด้วยถ้อยคำที่มีจังหวะอย่างเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าสัจ (saj)

ต่อมาการนับถือเทพเจ้าหลายองค์แบบโบราณก็ได้สูญพลังไปแม้กระทั่งก่อนที่อิสลามจะมาถึง เนื่องจากความคิดของชาวอาหรับในเรื่องพระเจ้าของพวกเขามักจะเลื่อนลอย

เมื่อความเชื่อแบบเก่าๆ เสื่อมทรามลงก็ได้มีคนหลายคนเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของประเทศซึ่งเชื่อว่าการนับถือรูปเจว็ดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร จึงหาทางที่จะมีความศรัทธาอย่างอื่นอยู่เป็นเวลานาน

ในเรื่องการต่อสู้และความขัดแย้งนั้นถ้าเขายังแก้แค้นไม่ได้ ก็เชื่อกันว่าดวงวิญญาณของเขาจะปรากฏขึ้นที่หลุมศพในรูปของนกฮูกที่ร่ำร้องว่า “ขอฉันดื่มหน่อยๆ” จนกระทั่งเขาจะแก้แค้นได้สำเร็จ

ดวงวิญญาณที่อยู่ไม่สุขนี้เชื่อกันว่าหนีออกมาจากกะโหลกศีรษะซึ่งถือกันว่าเป็นส่วนที่มีลักษณะเด่นที่สุดของร่างคนตาย

 

พิธีกรรมฝังศพบางอย่างของชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลาม แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อในการมีอยู่ของดวงวิญญาณในอนาคต เช่น อูฐตัวหนึ่งซึ่งถูกตัดเอ็นร้อยหวายจะถูกผูกไว้ใกล้กับหลุมฝังศพของหัวหน้าเผ่าและถูกปล่อยไว้ให้ตายไปเพราะความอดอยาก เพื่อจะได้ไปเกิดเป็นสัตว์รับใช้ผู้ตาย

กวีโบราณมักจะแสดงความปรารถนาว่าหลุมฝังศพของผู้ที่เขารักน่าจะถูกทำให้สดชื่นด้วยฝนอันอุดม บทกวีเช่นนี้อาจจะไม่ใช่เพียงเพื่อความไพเราะเท่านั้น แต่คงจะแสดงถึงความเชื่อว่าผู้ตายจะได้เกิดใหม่

แต่ชาวอาหรับโบราณก็ไม่มีความคิดแจ่มชัดในเรื่องชีวิตในโลกหน้า ดังที่กล่าวไว้ในอัล-กุรอานว่ามนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเมื่อคนเราตายไปและกระดูกของเขาเป็นผงธุลีไปแล้ว จะกลับมามีชีวิตได้อีกอย่างไร

ในอัล-กุรอานใช้คำว่ารุห์และนัฟ สำหรับดวงวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น ศาสนวิทยามุสลิมจึงไม่ได้แลเห็นความแตกต่างกันในระหว่างสองคำนี้

โดยทั่วไปชาวอาหรับโบราณเป็นพวกที่ถือโชคชะตา พวกเขาเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดไว้แล้วโดยชะตากรรมดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามเท่าใดก็ไม่อาจหนีชะตาชีวิตได้

เชื่อกันว่าเส้นทางแห่งเหตุการณ์นั้นถูกกำหนดไว้โดยดัฮ์ร (เวลา) ทรรศนะนี้คงจะเกิดมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงๆ ของพวกเขา ไม่มีที่ไหนเลยในโลกที่ชีวิตมนุษย์จะปลอดพ้นจากความเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของชะตากรรม

ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะที่อาระเบียมนุษย์ดูเหมือนจะตกเป็นเหยื่อที่ไม่มีทางช่วยตัวเองอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเป็นพิเศษทีเดียว

จู่ๆ การโจมตีทำร้ายของเผ่าพันธุ์เพื่อนบ้านหรือโรคระบาดในฝูงปศุสัตว์ก็อาจจะทำให้ผู้ที่ร่ำรวยยากจนลงทันตาเห็นภายในชั่วข้ามคืนเดียว ดังนั้น สถานการณ์ที่มีอยู่ในทะเลทรายจึงดูเหมือนจะทำให้เกิดแนวโน้มในเรื่องเชื่อโชคชะตาขึ้นในหมู่ชาวอาหรับโบราณ จนกระทั่งศตวรรษแรกของศาสนาอิสลาม คำสอนเรื่องกฎกำหนดสภาวะจึงเป็นที่ยอมรับกันเกือบจะทั่วไปในหมู่มหาชนชาวมุสลิม

ความรู้สึกหมดหวังอย่างที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าโชคชะตาที่ปราศจากความเมตตาปรานีนั้นอาจจะทำให้เกิดความคิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นในหมู่ชาวอาหรับ นั่นคือความคิดที่จะยอมแพ้เอาเสียเลยว่าเป็นคุณธรรมที่ควรประพฤติ แทนที่จะฟูมฟายและตีอกชกหัวหรือกระทำตนรุนแรงต่อต้านคำบัญชาของชะตากรรมซึ่งจะทำให้ตนแย่ลงไปอีก

หากเรายอมรับชะตากรรมนั้นอย่างสงบและอดทนก็คงจะปลอดภัยกว่า

ดังนั้น คำสอนให้ยอมแพ้โดยถือว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งจึงดูเหมือนจะเป็นส่วนประกอบตามปกติของคำสอนเรื่องโชคชะตาที่กำหนดไว้แล้ว

 

ถึงแม้ว่าศาสนาจะมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยต่อชีวิตของชาวอาหรับสมัยก่อนอิสลามก็ตาม เราก็ไม่ควรคิดว่าพวกเขาจะเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย สังคมของอาระเบียโบราณยังสร้างอยู่บนความคิดด้านศีลธรรมบางอย่างซึ่งอาจกล่าวสั้นๆ ได้ในที่นี้

พวกเขาไม่มีประมวลกฎหมายหรือคำสั่งทางศาสนา นอกจากพลังของขนบประเพณีซึ่งเป็นไปโดยประชามติ คุณธรรมที่ถือว่ามีความสูงส่งสูงสุดก็คือความกล้าหาญในการต่อสู้

ความอดทนเมื่อประสบเคราะห์ร้าย ความซื่อสัตย์ต่อเพื่อนร่วมเผ่า ความเอื้อเฟื้อต่อคนยากไร้ขาดแคลน การต้อนรับขับสู้แขกเหรื่อและผู้เดินทางและความแน่วแน่ที่จะแก้แค้น

การรวมกันของเผ่า ชาวอาหรับขึ้นอยู่กับหลักการของความเป็นญาติและสายเลือดเดียวกัน ซึ่งนับเป็นพันธะแห่งการผนึกกำลังทางสังคมและถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องคุ้มครองครอบครัวและเผ่าของตน บุรุษต้องยืนเคียงข้างอยู่กับพวกพ้องของตนไม่ว่าในเวลาใด

ถ้าผู้เป็นเผ่าเดียวกันต้องการความช่วยเหลือก็ต้องช่วยเขาโดยทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ ฉะนั้น จึงถือว่าการเสียสละอุทิศตนเองเพื่อผู้ร่วมเผ่าอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญจึงเป็นอุดมคติชีวิตอันสูงส่งอย่างหนึ่ง

ในระยะร้อยปีก่อนศาสดามุฮัมมัดเกิดนั้น ชาวอาหรับมิได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นคนนอกศาสนาไปเสียหมด เพราะทั้งศาสนาจูดาห์ (Judaism) และคริสต์ศาสนาต่างก็มีผู้นับถืออยู่เป็นจำนวนมากพอดูในหมู่ชาวอาหรับ

เกือบทุกครั้งที่มีความหายนะอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ คลื่นผู้อพยพชาวยิวจะหลั่งไหลเข้ามาในอาระเบีย ในบางครั้งก็มาถึงเยเมนเลยทีเดียว บางทีหลังจากกษัตริย์ติตุส (titus) พิชิตปาเลสไตน์ได้ใน ค.ศ.70 ชาวยิวคงจะลี้ภัยเข้าไปอยู่ที่นั่น

นครมะดีนะฮ์และนครอื่นๆ อีกหลายนครในหิญาซในสมัยท่านศาสดา มีเผ่าชาวยิวใหญ่ๆ สามเผ่าคือเผ่านาดิร เผ่ากุร็อยเซาะฮ์ และเผ่าก็อยนุกออ์อยู่ที่ชานนครของมะดีนะฮ์

พวกนี้มีความสำคัญทางการนครอยู่ในสมัยนั้น ชุมชนเหล่านี้มีศูนย์ศึกษาศาสนาและครูของตน ผู้อพยพเหล่านี้เมื่อมาอยู่ใกล้ชิดกับชาวอาหรับก็ทำตนเป็นอาหรับทั้งในด้านภาษาและความรู้สึก

 

แต่ในส่วนที่สำคัญที่สุดคือในด้านศาสนา พวกเขายังเป็นชาวยิวอยู่และอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวอาหรับในเรื่องการนับถือพระเจ้าองค์เดียว

ปัจจัยทางศาสนาอีกอย่างหนึ่งที่ต่อต้านศาสนาป่าเถื่อนของชาวอาหรับโบราณก็คือคริสต์ศาสนา คริสต์ศาสนาเข้ามาสู่อาระเบียได้อย่างไรในตอนแรกนั้นเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก

ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัดคริสต์ศาสนาได้ถูกนำเข้ามาในหุบเขานัจญ์รอนในเยเมนเหนือจากซีเรีย และยังคงยึดที่มั่นอยู่ทั้งๆ ที่ถูกประหัตประหารโดยน้ำมือกษัตริย์ชาวฮิมยารีคือกษัตริย์ ดูนะวาส (Dhu Nawas)

ผู้เข้ารับนับถือศาสนาจูดาห์ ในนครมักกะฮ์เองก็มีชาวคริสเตียนอยู่อย่างเช่น วะเราะเกาะฮ์ อิบนุ เนาฟัล ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านหญิงเคาะดีญะฮ์ ภริยาท่านแรกของศาสดามุฮัมมัด เป็นต้น

คนบางเผ่าในแถบแม่น้ำยูเฟรติสและฆ็อสซาน (Ghassan) ทางพรมแดนของซีเรียก็นับถือคริสต์ศาสนาเหมือนกัน การที่คนเหล่านี้หันไปรับคริสต์ศาสนานั้นเกิดจากการที่พวกเขาติดต่อกับชาวคริสเตียนในอาณาจักรไบแซนไตน์นั่นเอง

นอกจากนั้น ยังมีชาวคริสเตียนอยู่ในนครฮีรอฮ์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาระเบียซึ่งมีพวกเจ้าชายอาหรับในราชวงศ์ลัคม์ปกครองอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของกษัตริย์เปอร์เซีย ชาวคริสเตียนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับคริสตจักรเนสเตอเรียนและเป็นผู้ทำให้ความคิด แบบคริสเตียนมาแพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวอาหรับในคาบสมุทรนั้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ศาสนาจูดาห์และคริสต์ศาสนาได้รุกเข้าไปในอาระเบียได้มากพอดูและกำลังแผ่อิทธิพลของตนออกไปในหมู่ชาวอาหรับนอกศาสนา จึงเป็นการปูทางให้แก่ศาสนาอิสลามไปในที่สุด